ชายเบลเยียมป่วยประหลาดร่างกายผลิตแอลกอฮอล์เองได้จนถูกจับเมาแล้วขับ

24 เมษายน 2567 - 09:30

man-body-makes-own-alcohol-drunk-driving-auto-brewery-syndrome-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ชายชาวเบลเยียมถูกจับข้อหาเมาแล้วขับถึง 3 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 4 เท่า

  • โรคร่างกายบ่มแอลกอฮอล์ได้เองเป็นโรคหายาก ทั้งโลกมีเพียง 20 คน

ชายชาวเบลเยียมวัย 40 ปีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับเพิ่งจะพ้นผิดหลังจากแพทย์ 3 คนให้การต่อศาลยืนยันว่าเขาเป็นโรค “ร่างกายบ่มสุราได้เอง” (auto-brewery syndrome; ABS) ทั้งที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่การใช้เครื่องเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์กลับพบว่าเขามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดสำหรับการขับขี่ยานพาหนะถึง 4 เท่า 

ชายคนนี้ถูกตำรวจเรียกให้หยุดรถถึงสามครั้งสามคราและถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับทุกครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อปี 2019 ครั้งต่อมาคือเดือนเมษายน 2022 อีก 1 เดือนต่อมาเขาก็ถูกตำรวจเรียกอีก คราวนี้พบว่ามีระดับแอลกอฮอล์สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 3 เท่า โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวเองเป็นโรคร่างกายบ่มสุราได้เอง เพราะไม่มีอาการของคนเมาเลย จนกระทั่งแพทย์ 3 คนยืนยันอาการของเขาต่อศาล  

ทนายความของชายคนนี้ให้การต่อศาลว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคร่างกายบ่มสุราได้เองเพียง 20 คนเท่านั้น 

โรคร่างกายบ่มสุราได้เองคืออะไร 

โรคร่างกายบ่มสุราได้เอง หรือโรคลำไส้หมักสุราได้เอง (gut fermentation syndrome) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคเมาสุรา (drunkenness disease) เป็นโรคหายากที่เชื้อราในลำไส้จะเปลี่ยนคาร์โบเดรตหรือน้ำตาลที่กินเข้าไปเป็นเอทานอล กระบวนการนี้ก่อให้เกิดอาการมึนเมาเช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่ไม่ได้ดื่ม เช่น สูญเสียความจำ พฤติกรรมก้าวร้าว  

พบครั้งแรกเมื่อไร 

มีรายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกในญี่ปุ่นในปี 1952 แต่ถูกเรียกว่าโรคร่างกายบ่มสุราได้เองเมื่อปี 1990 เคสแรกๆ ที่เกิดขึ้นคือ เคสของเด็กชายวัย 5 ขวบที่เสียชีวิตเนื่องจากท้องแตกจากอาการระบบทางเดินอาหารบวม การชันสูตรพบว่าแก๊สและของเหลวในกระเพาะและช่องท้องมีกลิ่นแอลกอฮอล์ ขณะนั้นผู้ชันสูตรตั้งสมมติฐานว่าความผิดปกตินี้เกิดจากแบคทีเรียแกรมลบในลำไส้หมักบ่มมันหวาน แต่ไม่ได้ตรวจวัดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย 

โรคนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อสู้ในคดีเมาแล้วขับหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่โรคนี้จะผลิตแอลกอฮอล์มากจนเกินระดับที่กฎหมายกำหนด 

เกิดจากอะไร 

ด้วยความที่มีผู้ป่วยน้อยจึงมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยในแง่ของสถิติจำนวนประชากร อาหารที่รับประทาน ประวัติสุขภาพ หรือปัจจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่ทราบจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่เก็บตัวอย่างจากคนที่เป็นโรคนี้คือ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือ ยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisiae 

ปกติแล้วยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ไม่ก่ออันตราย แต่ในบางกรณีที่ยีสต์ตัวนี้เติบโตมากเกินไปในระบบทางเดินอาหาร (เป็นโรคโครห์น ซึ่งทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ รวมถึงบริเวณทวารหนักอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะลำไส้สั้น) ก็อาจเป็นปัญหาได้  

รักษาได้มั้ย 

ทำได้โดยการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ควบคู่กับการทานอาหารโปรตีนสูง จะช่วยจำกัดหรือทำห้าการหายไปได้ บางกรณีอาจต้องใช้ยาต้านเชื้อราหากอาการไม่ได้เกิดจากอาหารอย่างเดียว แต่ต้องจ่ายยาด้วยความระวัดระวังเนื่องจากมีผลข้างเคียง 

Photo by AFP / Kenzo TRIBOUILLARD

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์