ลุกหรือไม่ลุกให้คนท้องนั่ง? ประเทศอื่นมีกฎการนั่ง ‘ที่นั่งพิเศษ’ บนรถไฟฟ้ายังไง

2 เมษายน 2567 - 10:09

man-refused-to-give-up-seat-on-a-busy-train-for-pregnant-woman-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ชายหนุ่มคนหนึ่งแชร์เรื่องราว ‘ไม่ลุกให้คนท้องนั่ง’ บนบอร์ดสนทนาเรดดิต แต่ถูกกระแสตีกลับทันที เพราะส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่เขาทำแบบนั้น

  • ประเทศอื่นๆ มีกฎการนั่ง ‘ที่นั่งพิเศษ’ บนรถไฟฟ้ายังไง? คนธรรมดานั่งได้ไหม?

โลกใบนี้มันแคบลง หรือ จิตใจคนเรากันแน่นะที่แคบ? ทุกวันนี้เราต่างคนต่างรีบขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ รถโดยสารอันเบียดเสียดเพื่อรีบจับจองที่นั่ง แน่นนอนว่าบ่อยครั้งที่ ‘ที่นั่งพิเศษ’ ที่มีไม่มากในแต่ละตู้รถไฟฟ้าซึ่งสงวนไว้ให้ ‘เด็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ และผู้ทุพพลภาพ’ ก็มักจะมีผู้โดยสารคนอื่นๆ เข้ามานั่ง บางทีนั่งแล้วนั่งเลยไม่คอยสังเกตว่าคนอื่นๆ ที่ขึ้นมาจะเข้าข่ายคุณสมบัติเหล่านี้ไหม? มันจึงเกิดคำถามในสังคมขึ้นมาว่า ‘จริงๆ แล้วเราควรนั่งที่นั่งพิเศษนั้นไหม?’ 

หรือบางทีไม่ใช่แค่ที่นั่งพิเศษก็เถอะ หากเราเห็นคนเหล่านี้ขึ้นมา เราจะไม่ยอมสละที่นั่งของเราให้พวกเขาเลยหรือ?  

ประเด็นนี้กลายเป็นกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อชายคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องราวในบอร์ดสนทนา ‘เรดดิต’ (Reddit) เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วว่า ‘เขาปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถไฟให้หญิงตั้งครรภ์ โดยยืนยันว่าเขา ‘มีสิทธิ์ทุกอย่าง’ ที่จะยังคงนั่งอยู่ในที่นั่งของเขา แม้ว่าผู้โดยสารคนอื่นๆ จะเรียกร้องให้เขาลุกให้หญิงมีครรภ์นั่ง พร้อมตั้งถามว่า ‘ในสถานการณ์นี้เขาผิดด้วยหรือ?’ ’ 

ผู้ใช้เรดดิต ‘Future-Fold-6085’ รายนี้อธิบายว่า “มันไม่มีที่นั่งว่างเหลือแล้วบนรถไฟที่เต็มไปด้วยผู้คนที่แน่นขนัด เมื่อมีหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งเข้ามาในตู้โดยสารซึ่งกำลังมองหาที่นั่ง และผมสังเกตเห็นว่าที่นั่งของผมเองเป็นที่นั่งแรกที่เธอมองมา และทุกคนที่นั่งรอบๆ ผมมีอายุมากกว่าผมมาก ผมไม่แน่ใจว่าควรสละที่นั่งของผมให้เธอหรือไม่”  

ขณะที่ชายหนุ่มกำลังครุ่นคิดอยู่ว่าควรจะสละที่นั่งหรือไม่ หญิงสูงวัยคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ ก็ตัดสินใจแทนเขาและบอกให้หญิงตั้งครรภ์มานั่งที่ของเขาแทน 

ชายหนุ่มโกรธมากที่ที่นั่งของเขาถูกเสนอให้คนอื่นโดยไม่มีการถามไถ่กันก่อน เขาจึงหันไปบอกกับหญิงสูงวัยว่า “คุณไม่สามารถบอกคนอื่นให้มานั่งที่นั่งของผมได้ มันเป็นของผม ผมต้องตัดสินใจ” แต่หญิงสูงวัยรายนั้นอธิบายว่าผู้โดยสารหญิงคนนั้นตั้งครรภ์ และในฐานะชายหนุ่ม เขาสามารถยืนได้อยู่แล้ว 

ชายหนุ่มเล่าต่อว่า “ทุกคนจับตาดูผมราวกับว่าผมพูดอะไรผิดไป แต่ผมกลับหงุดหงิด ผมบอกเธอว่าผมไม่ลุกให้เธอนั่ง และเธอก็เริ่มกล่าวหาผมไม่เคารพผู้ใหญ่” จากนั้นผู้โดยสารอีก 2-3 คนก็กระตุ้นให้เขาสละที่นั่ง แต่เขาปฏิเสธที่จะฟังและบอกหญิงสูงวัยว่า “มันเรื่องของผม ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของผม และผมมีสิทธิ์ทุกอย่างที่จะนั่ง ผมอาจจะทำให้ทุกคนรู้สึกแย่ แต่ผมไม่ชอบทัศนคติของหญิงสูงวัย”

หลังจากโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้ใช้เรดดิตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการกระทำของเขา 

ผู้ใช้ ‘didntcondawnthat’ ตั้งข้อสังเกตว่า “ชายคนนั้นแสดงให้เห็นถึงการขาดความเห็นอกเห็นใจต่อใครบางคนอย่างเห็นได้ชัด” 

“ผู้ชายควรสละที่นั่ง” และตั้งข้อสังเกตว่าหญิงสูงวัยก็ "ไม่ควรเสนอที่นั่งให้คนอื่น’ เนื่องจาก ‘บางคนอาจมีความพิการ / อาการที่ต้องนั่ง และอายุนั้นไม่สำคัญเลย” ผู้ใช้ ‘Knightseason’ กล่าว 

ในขณะที่ผู้ใช้ ‘I am_legend-ary’ บอกว่า “สิ่งที่สุภาพที่ต้องทำคือสละที่นั่งให้กับหญิงตั้งครรภ์” 

แล้ว ‘ที่นั่งพิเศษ’ ในประเทศอื่นๆ ล่ะ เขาจัดการกันยังไง?

man-refused-to-give-up-seat-on-a-busy-train-for-pregnant-woman-SPACEBAR-Photo01.jpg

-ออสเตรเลีย-

‘ที่นั่งพิเศษ’ บนรถไฟ รถราง หรือรถบัสบางขบวน ในรัฐวิกตอเรียมักจะหุ้มเบาะด้วยผ้าสีส้ม หรืออาจเป็นสีอื่น และจะอยู่ใกล้กับทางเดินและประตูมากที่สุด โดยจะมีสติกเกอร์ที่นั่งพิเศษอยู่เหนือที่นั่ง 

ที่นั่งเหล่านี้มีไว้สำหรับ ‘ผู้โดยสารที่มีความทุพพลภาพ ความบกพร่องทางร่างกาย หรือมีความต้องการเพิ่มเติม’ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับ ‘สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กอีกด้วย’  

หากคุณกำลังนั่งอยู่ในที่นั่งพิเศษก็ควรที่จะสละที่นั่งให้กับบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ หรือหากคุณไม่สละที่นั่งเมื่อมีการร้องขอ ก็อาจถูกปรับโดยเจ้าหน้าที่ได้ สำหรับที่เมืองเมลเบิร์นอาจถูกปรับที่ราคา 147.61 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 3,500 บาท) 

-ฮ่องกง- 

ในฮ่องกง ‘ที่นั่งพิเศษ’ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกบนรถไฟใต้ดิน ‘MTR’ เมื่อปี 2009 พร้อมติดแผ่นสติกเกอร์สีแดงอิโมจิยิ้ม ‘Smiley World’ ติดอยู่บริเวณด้านบนของที่นั่ง จากนั้นในปี 2011 ก็ถูกนำมาใช้กับรถบัส ‘Citybus’ และรสบัสโดยสารขนาดใหญ่ ‘New World First Bus’ (NWFB) ในปี 2012 

นอกจากนี้ ยังมีที่นั่งพิเศษบนเรือข้ามฟากอีกด้วย ซึ่งจะอยู่บริเวณทางขึ้นและลงเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร 

-เกาหลีใต้-

man-refused-to-give-up-seat-on-a-busy-train-for-pregnant-woman-SPACEBAR-Photo02.jpg

โดยทั่วไปบนรถไฟและรถบัสในเกาหลีใต้จะมีที่นั่งพิเศษ 2 ประเภท 

  • ที่นั่งสำหรับบุคคลเปราะบาง ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ และผู้ที่เดินทางพร้อมเด็กเล็ก 
  • ที่นั่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีสติกเกอร์สีชมพูแปะอยู่บริเวณที่นั่ง 

แต่ที่นี่ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้คนเหล่านี้ใช้ที่นั่งเหล่านี้เท่านั้น คนอื่นๆ ก็สามารถนั่งได้โดยจะไม่ถูกปรับหรือถูกจับกุม แต่ถึงแม้ว่าที่นั่งเหล่านี้จะว่างเมื่อมีผู้คนหนาแน่นบนรถไฟ แต่ผู้ที่ไม่ถือว่าเข้าข่ายคุณสมบัตินี้ก็ควรงดเว้นจากการนั่งตรงนั้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะทำ 

-ไต้หวัน-

ระบบ ‘ที่นั่งพิเศษ’ ในไต้หวันเกิดขึ้นครั้งแรกในสาธารณรัฐจีนช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 หรือต้นทศวรรษ 1950 ขณะนั้นเกิดอุบัติเหตุผู้สูงอายุขึ้นรถบัสแล้วพลัดตกติดต่อกันหลายครั้ง รัฐบาลไทเปจึงเริ่มวางแผนที่จะจัดที่นั่งพิเศษบนรถบัส ยานพาหนะขนส่งหลักๆ โดยสงวนไว้ให้สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวหรือพิการ 

ในช่วงทศวรรษี 2010 สื่อได้รายงานข้อพิพาทและการโต้เถียงเกี่ยวกับที่นั่งพิเศษ จนทำให้ทุกคนเลือกที่จะยืน เนื่องจากไม่มีใครเต็มใจที่จะนั่งบนที่นั่งพิเศษ และล่าสุดในปี 2023 เมื่อหญิงชราวัย 71 ปีโพสต์บนโซเชียลมีเดียตำหนิวัยรุ่น 3 คนที่ไม่ยอมสละที่นั่งให้เธอ จึงทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดขึ้นอีกครั้ง 

ขณะที่ทางรถไฟใต้ดินไทเปออกมาเรียกร้องให้ผู้โดยสารมีน้ำใจและให้ที่นั่งแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ทางการเสริมว่า “นี่เป็นส่วนหนึ่งของมารยาทบนรถไฟใต้ดินที่แทบจะบังคับใช้ไม่ได้” 

-ญี่ปุ่น-

man-refused-to-give-up-seat-on-a-busy-train-for-pregnant-woman-SPACEBAR-Photo03.jpg

บนรถไฟญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ที่นั่งบางที่นั่งจะมีสีกำกับไว้เพื่อระบุว่านี่คือ ‘ที่นั่งพิเศษ’ โดยทั่วไปจะสงวนไว้ให้ ‘ผู้สูงอายุ ผู้บาดเจ็บ สตรีมีครรภ์ หรือเด็กเล็ก’ เมื่อรถไฟไม่พลุกพล่าน ใครๆ ก็สามารถใช้ที่นั่งเหล่านี้ได้ แต่หากมีคนต้องการที่นั่ง ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องสละที่นั่งให้พวกเขา  

แต่ถึงแม้ว่าคุณจะนั่งที่นั่งธรรมดา แต่ถ้ามีบุคคลที่เข้าข่ายคุณสมบัติก็ควรที่จะสละที่นั่งธรรมดาของคุณให้คนเหล่านั้น 

นอกจากนี้ บนรถไฟญี่ปุ่นยังมีเที่ยวรถไฟสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ (Cart for Women) ในบางช่วงเวลาอีกด้วย 

-ไทย-

man-refused-to-give-up-seat-on-a-busy-train-for-pregnant-woman-SPACEBAR-Photo04.jpg

สำหรับ ‘ที่นั่งพิเศษ’ ในประเทศไทยบนรถไฟฟ้า ‘BTS’ และรถไฟใต้ดิน ‘MRT’ ก็มีเหมือนกัน โดยจะมีสติกเกอร์ติดบริเวณที่นั่งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่สงวนที่นั่งไว้สำหรับ ‘บุคคลพิเศษ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ ผู้พิการ’ และผู้โดยสารคนอื่นๆ ก็สามารถนั่งได้ แต่ก็ต้องพร้อมที่จะลุกสละที่นั่งเสมอ เมื่อมีบุคคลพิเศษดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ที่นั่ง ไม่เพียงแต่จะลุกให้เฉพาะที่นั่งพิเศษเท่านั้น แม้เป็นที่นั่งธรรมดาก็ควรเอื่อเฟื้อให้คนเหล่านี้นั่งด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างก็อยู่ที่ ‘จิตสำนึก’ ของคนเรา

หากทุกคนมีใจเอื่อเฟื้อผู้อื่นเสียบ้าง ไม่คิดเล็กคิดน้อย โลกนี้คงน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องมาคอยทะเลาะกันเพียงแค่ ‘คนคนนี้ไม่ลุกให้ฉันนั่ง’ ‘ทำไมคนนี้นั่งที่นั่งพิเศษล่ะ?’ ‘ทำไมคนนี้ถึงไม่ยอมลุกให้คนนี้นั่ง?’ มันก็น่าคิดนะ!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์