‘กัญชา’ (อาจ) เพิ่มความเสี่ยง ‘หัวใจวาย’ และ ‘หัวใจล้มเหลว’

22 พฤศจิกายน 2566 - 09:21

Marijuana-use-may-damage-heart-and-brain-health-two-studies-found-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานวิจัย 2 ชิ้น ระบุว่าการใช้กัญชา (อาจ) ส่งผลต่อปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวาย

  • แต่ยังไม่แน่ชัดว่าความเสี่ยงต่อหัวใจ มาจากการสูบกัญชา หรือการกิน

สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ได้นำเสนองานวิจัยสองชิ้นที่พบว่าการใช้กัญชามีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจวาย และภาวะหัวใจล้มเหลวสูงขึ้น 

ผลของงานวิจัยแรก ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอายุ 54 ปี พบว่าคนที่ใช้กัญชาทุกวันมีความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้น 34% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยใช้กัญชา โดยนักวิจัยติดตามคนในสหรัฐฯ 156,999 คน ที่ไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่สมัคร ซึ่งผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความถี่ในการใช้กัญชา และติดตามคนกลุ่มนี้เกือบ 4 ปี ซึ่งการวิเคราะห์นี้ได้นำข้อมูลต่างๆมาคำนวณร่วมด้วย ทั้งข้อมูลส่วนตัว อย่างการเงิน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่จะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง คอเรสตอรอลสูงและโรคอ้วน จากการติดตามพบ 2,958 คน หรือเกือบ 2% เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  

ผู้นำการวิจัย Yakubu Bene-Alhasan แพทย์ประจำบ้านแห่ง Medstar Health ซึ่งเป็นองค์กรด้านการดูแลสุขภาพไม่แสวงหาผลกำไร ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐฯ กล่าวว่า “ผลการศึกษาของเราน่าจะช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยศึกษาเรื่องการใช้กัญชามากขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เราต้องการให้ประชากรได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพสูงเกี่ยวกับการใช้กัญชา และช่วยให้ข้อมูลในการตัดสินใจด้านนโยบายในระดับรัฐ เพื่อให้ความรู้ผู้ป่วย และเพื่อชี้แนะผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพ” 

แต่ข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ คือข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าการใช้กัญชาเป็นการสูบ หรือกิน  

ส่วนงานวิจัยที่สอง นักวิจัยวิเคราะห์ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลและพบว่าคนที่ใช้กัญชาและมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงหัวใจวาย หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้กัญชา  

โดยนักวิจัยประเมินข้อมูลจาก National Inpatient Sample ซึ่งเป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลของสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบหาผู้เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในคนที่ใช้กัญชา  

นักวิจัย แยกข้อมูลของผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่มีรายงานว่าไม่ได้สูบบุหรี่หรือยาสูบ ซึ่งแยกผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้กัญชา และไม่ใช้ ซึ่งการบันทึกข้อมูลผู้ใช้กัญชาของโรงพยาบาลระบุว่าเป็นผู้มีปัญหาการใช้กัญชา (Cannabis use disorder)  

ผู้นำการวิจัย Avilash Mondal แพทย์ประจำบ้านแห่งโรงพยาบาล Nazareth Hospital เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า “เราต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการใช้กัญชา ซึ่งตรงนี้เราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงผลของการใช้กัญชาในระยะยาว  

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพควรเพิ่มคำถามว่า ‘คุณกำลังใช้กัญชาหรือไม่’ ในการซักประวัติผู้ป่วย เวลาที่ถามผู้ป่วยว่าคุณสูบหรือไม่ คนก็มักจะคิดว่าสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มข้อความให้คนเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและเปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ได้รับข้อมูลและพิจารณาเกี่ยวกับการใช้กัญชา”

แต่ข้อจำกัดของการวิเคราะห์ในงานวิจัยนี้คือข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีความผิดพลาดในการบันทึกรหัสผู้ป่วย และการบันทึกประวัติสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้มีปัญหาการใช้กัญชาอาจเปลี่ยนแปลงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ดังนั้นผลของการวิเคราะห์อาจไม่ตรงได้ 

Robert L. Page ศาสตราจารย์เภสัชศาสตร์ ประธานกลุ่มอาสาเขียนแถลงการณ์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา กล่าวว่า “งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการใช้กัญชา ชี้ว่าการสูบและสูดดมกัญชา ทำให้เพิ่มความเข้มข้นของสารคาร์บอกซิฮีโมโกลบินในเลือด (คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษ) และทาร์ ซึ่งเหมือนกับผลกระทบจากการสูดดมบุหรี่ ยาสูบ ทั้งสองอย่างเชื่อมโยงกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เจ็บหน้าอก รบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจ หัวใจวาย และโรคอันตรายอื่นๆ 

เมื่อนำผลการวิจัยทั้งสองชิ้นมารวมกัน ความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการใช้กัญชา กลายเป็นว่าชัดเจนมากขึ้น และควรพิจารณาและเฝ้าสังเกตอย่างระมัดระวังโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและสาธารณชน” เขายังกล่าวด้วยว่า กัญชาอาจมีประโยชน์สำหรับการบำบัดโรคบางอย่าง แต่ไม่ใช่สำหรับหัวใจ “กัญชาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนไม่ได้มีประโยชน์สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด มันแค่ไม่ได้อยู่ในความคิดของฉันเลย” 

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีตัวเลขผู้ใช้กัญชาสูง ประมาณ 1 ใน 5 ของคนอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือประมาณ 61.9 ล้านคนในสหรัฐฯใช้กัญชาในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 52.5 ล้านคนในปีก่อนหน้า จากข้อมูลของ National Survey on Drug Use and Health ยิ่งแต่ละรัฐออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้เพื่อนันทนาการมากขึ้น กัญชาจึงกลายเป็นยาเปลี่ยนอารมณ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในสหรัฐฯ และคนมองว่ากัญชาไม่อันตรายขยายวงกว้างมากขึ้น โดยผลสำรวจของ Pew Research พบว่าชาวอเมริกัน 9 ใน 10 คนเชื่อว่ากัญชาควรถูกกฎหมายทั้งสำหรับการแพทย์และนันทนาการ 

แล้วประเทศไทยล่ะ แม้ ‘ปลดล็อก’กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อนันทนาการ แต่ก็มีคนไม่น้อยเข้าถึงกัญชาเพื่อนันทนาการ ซึ่งอาจสร้างปัญหาสาธารณสุขตามมาได้ ถ้าไร้การควบคุม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์