หมออังกฤษเตือนอย่าหาทำ! กลั้นจามอาจอันตรายถึงชีวิต

12 ธ.ค. 2566 - 08:33

  • การจามมีความเร็วถึง 56-64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  • การกลั้นจามที่หลายๆ คนอาจทำอยู่อาจมีอันตรายถึงชีวิต

medical report shows why you should never hold in a sneeze-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการกลั้นจามที่หลายๆ คนอาจทำอยู่เพราะไม่ต้องการให้เสียงดังรบกวนคนอื่นอาจมีอันตรายถึงชีวิต เพราะการจามมีความเร็วถึง 56-64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และล่าสุดมีกรณีของชายหนุ่มคนหนึ่งในอังกฤษซึ่งมีประวัติภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วมีอาการหลอดลมฉีกขาดรุนแรงหลังเจ้าตัวพยายามกลั้นจาม 

แพทย์ในอังกฤษที่รายงานเคสของชายหนุ่มคนนี้ในวารสารทางการแพทย์ British Medical Journal เผยว่า เคสนี้เป็นเคสแรกที่มีเอกสารยืนยันว่าการกลั้นจามก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลย 

แพทย์บอกว่าการกลั้นจามด้วยการปิดจมูกและปากทำให้แรงดันอากาศเล็ดลอดเข้าไปในเนื้อเยื่อคอและหน้าอกของผู้ป่วยรายนี้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อที่บอบบางฉีกขาด 

กรณีของชายหนุ่มรายนี้ไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บคออย่างรุนแรงหลังจาม นอกจากนี้แพทย์ยังได้ยินเสียงแห้งๆ ตอนฟังเสียงที่ลำคอ ผลการสแกนบริเวณลำคอพบรอยฉีกขาดเล็กๆ ขนาดความกว้างประมาณเม็ดงาบริเวณหลอดลม รวมถึงความดันในทางเดินหายใจยังเพิ่มสูงกว่าปกติถึง 20 เท่าจากผลกระทบของการกลั้นจาม

แพทย์สันนิษฐานว่าหลอดลมฉีกขาดเนื่องจากเกิดแรงดันกะทันหันในหลอดลมขณะจามแล้วปิดปากหรือบีบจมูก

จริงๆ แล้วอาการหลอดลมฉีกขาดเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไประหว่างหรือหลังการผ่าตัดเพื่อตัดต่อมไทรอยด์ หรือเกิดขึ้นหลังการใส่ท่อช่วยหายใจ (ราว 1 ใน 20,000 คน) หรือใส่ท่อในหลอดอาหาร ในกรณีร้ายแรงหลอดลมฉีกขาดอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบ ก่อให้เกิดปัญหาการหายใจที่เป็นอันตรายถึงชีวิต  

ปกติแพทย์จะรักษาอาการหลอดลมฉีกขาดด้วยการผ่าตัดหากผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้เอง หรือรอยฉีกขาดขยายไปในพื้นที่รอบปอด แต่ในเคสของชายหนุ่มชาวอังกฤษ รอยฉีกขาดมีขนาดเล็ก และความดันโลหิตและอัตราการหายใจอยู่ในระดับปกติ แพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัด แต่รักษาด้วยพาราเซตามอลและยาระงับอาการไอ หลังจากผ่านไป 5 สัปดาห์รอยฉีกขาดก็สมาน

นอกจากหลอดลมฉีกขาดแล้ว การกลั้นจามยังก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บอื่นอีก

แพทย์ในสหราชอาณาจักรรายงานเคสเมื่อปี 2018 ว่ามีชายคนหนึ่งคอหอยฉีกขาดจากการกลั้นจาม นอกจากนี้ยังอาจนำมาสู่อาการที่มีความซับซ้อน อาทิ ลมรั่วเข้าช่องอก เยื่อแก้วหูทะลุ หลอดเลือดสมองโป่งพอง 

Photo by ODD ANDERSEN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์