ไมโครพลาสติก ทะลวงเข้าสมองใน 2 ชม.หลังกิน

4 พ.ค. 2566 - 02:44

  • งานวิจัยก่อนหน้านี้พบไมโครพลาสติกเคลื่อนที่ไปได้ทั่วร่างกาย

  • งานวิจัยล่าสุดพบเรื่องที่น่าตกใจกว่านั้นคือมันผ่านเข้าไปในสมองได้

microplastics-detected-entering-brain-just-2-hours-after-ingestion-SPACEBAR-Thumbnail
การทดลองในหนูทดลองพบสิ่งที่น่าตกใจว่า ไมโครพลาสติกสามารถทะลุแนวกั้นเลือดและสมอง (blood-brain barrier) แล้วเข้าสู่สมองได้ โดยสมองของหนูที่ถูกป้อนด้วยไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกถูกพบว่ามีพลาสติกจิ๋วเหล่านี้หลังจากที่มันกลืนกินเข้าไปเพียง 2 ชั่วโมง บ่งชี้ว่าพลาสติกจิ๋วที่พบได้ทุกที่นี้น่ากังวลมากกว่าที่เคยประเมินไว้ 
 
นักวิจัยเชื่อว่า เมื่อไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเข้าไปถึงสมองมันจะเพิ่มความเสี่ยงของโรครุนแรงหลายชนิด ลูคัส เคนเนอร์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเผยว่า “ในสมอง อนุภาคพลาสติกอาจเพิ่มความเสี่ยงของการอักเสบ โรคระบบประสาท หรือแม้แต่โรคเสื่อมของระบบประสาท อาทิ อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน” 
 
ไมโคพลาสติกสามารถพบได้ทุกที่ และความจริงอันน่าเศร้าเกี่ยวกับการใช้พลาสติกในเกือบทุกด้านของชีวิตประจำวันคือ พบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในสัตว์ทั่วโลก หรือแม้แต่ในรกของมนุษย์ บ่งชี้ว่าเราไม่สามารถเลี่ยงพลาสติกจิ๋วเหล่านี้ได้พ้น 
 
อนุภาคจิ๋วเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ผ่านการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกและหีบห่อบรรจุอาหาร มีการประเมินว่าอนุภาคพลาสติก 90,000 ชิ้นสามารถเข้าไปในน้ำดื่มบรรจุขวดของมนุษย์ได้ 1 ขวดในแต่ละปี 
 
นับตั้งแต่มีการค้นพบ ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่เกิดจากไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกี่ยวข้องกับหลายๆ โรค โดยงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเคลื่อนที่ไปได้ทั่วร่างกาย แต่ขณะนั้นยังไม่แน่ชัดว่าสามารถทะลุเข้าไปถึงสมองหรือไม่ เนื่องจากเชื้อโรคและอนุภาคแปลกปลอมอื่นๆ หลายตัวไม่สามารถผ่านแนวกั้นเลือดและสมอง 
 
เพื่อหาคำตอบนี้ นักวิจัยจึงใช้แบบจำลองหนูเพื่อสังเกตว่าไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกของโพลีสไตรีนที่มีขนาดต่างๆ เคลื่อนที่ไปทั่วร่างกายได้อย่างไร และเข้าไปในสมองได้อย่างไร นักวิจัยใช้หนู 6 ตัวโดยให้อนุภาคพลาสติกทางปากแก่หนู 3 ตัว จากนั้นทำการุณยฆาตใน 2-4 ชั่วโมงต่อมาเพื่อเก็บตัวอย่างสมองสำหรับตรวจหาไมโครและนาโนพลาสติก 
 
ทีมวิจัยพบว่า ไมโครและนาโนพลาสติกชิ้นเล็กสามารถทะลุผ่านแนวกั้นเลือดและสมองและเข้าสู่สมองหลังผ่านไป 2 ชั่วโมง ส่วนอนุภาคที่ชิ้นใหญ่กว่าไม่สามารถผ่านแนวกั้นนี้เข้าสู่สมอง  
 
นักวิจัยต้องการหาคำตอบต่อไปว่าอนุภาคจิ๋วเหล่านี้เล็ดลอดเข้าสู่สมองได้อย่างไร ทีมวิจัยใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ระบุกลไกการขนส่งแบบไม่ต้องใช้พลังงานจากเซลล์ในสมอง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโมเลกุลของคอเลสเตอรอลบนผิวเยื่อหุ้ม แล้วทำแผนที่กลไกการขนส่งไมโครและนาโนพลาสติก 
 
การวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nanomaterials

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์