สงสัยจีนมีเอี่ยวตั้งจุดสอดแนมบนเกาะของพม่า

2 พ.ค. 2566 - 08:39

  • เกาะเกรตโคโค ในอ่าวเบงกอลกลายเป็นจุดสนใจนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 จากเสียงเล่าลือว่าเกาะแห่งนี้เป็นจุดสอดแนมของจีน

  • ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นสัญญาณของการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างของกองทัพให้ทันสมัยขึ้น

military-construction-myanmars-island-prompts-fears-chinese-involvement-SPACEBAR-Thumbnail
เกาะเล็กๆ ของเมียนมาอย่าง เกาะเกรตโคโค ในอ่าวเบงกอลกลายเป็นจุดสนใจนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 จากเสียงเล่าลือว่าเกาะแห่งนี้เป็นจุดสอดแนมของจีน ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่ยังขาดหลักฐานแน่ชัด และตอนนี้ข้อกังวลนี้ได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง

รายงานของสถาบันคลังสมอง Chatham House ระบุว่า ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นสัญญาณของการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างของกองทัพให้ทันสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรนเวย์และสถานีเรดาร์ยาว 2,300 เมตร โรงจอดเครื่องบินใหม่ 2 หลัง สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นที่พักชั่วคราว ถนนข้ามน้ำที่เชื่อมกับเกาะที่เล็กกว่า และยังพบการเคลียร์พื้นที่ในส่วนบนสุดของเกาะ ซึ่งบ่งบอกว่ากำลังจะมีการก่อสร้างเพิ่มเติม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3c20vfPMcVkfsrkJ50Zcko/b46e7daf04d668fa1f6e9de478da4797/military-construction-myanmars-island-prompts-fears-chinese-involvement-SPACEBAR-Photo01
Photo: ทางวิ่งของเครื่องบินที่สร้างขึ้นใหม่และสิ่งก่อสร้างต่างๆ บนเกาะเกรตโคโค ภาพ: MAXAR
แม้ว่าเกาะเกรตโคโคจะเป็นเกาะเล็กๆ ยาวเพียง 11 กิโลเมตร แต่ที่ตั้งของเกาะนี้กลับอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ ไม่เพียงตั้งอยู่ใกล้กับช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นช่องทางสัญจรของเรือที่พลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่ยังตั้งอยู่ห่างจากหมู่เกาะนิโคบาร์และหมู่เกาะอันดามันของอินเดียซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของอินเดีย 

สัญญาณการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลว่าจีน ซึ่งพม่าต้องพึ่งพามากขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 อาจได้รับผลประโยชน์จากหน่วยข่าวกรองที่รวบรวมจากที่นั่น ไม่ว่าจะผ่านการจารกรรมหรือการแบ่งปันข่าวกรอง 

รายงานของ Chatham House ซึ่งวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมของบริษัท Maxar Technologies ระบุว่า “ด้วยการพัฒนาของเกาะโคโค ในไม่ช้าอินเดียอาจเผชิญกับฐานทัพอากาศใหม่ในประเทศที่ผูกติดกับปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ” 

ก่อนหน้านี้สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อินเดียกำลังจับตาสถานการณ์บนเกาะโคโคอย่างใกล้ชิด เมื่อเร็วๆ นี้อินเดียเพิ่งเผชิญหน้ากับเมียนมากรณีที่มีข่าวกรองยืนยันว่าจีนกำลังให้ความช่วยเหลือเมียนมาก่อสร้างจุดสอดแนมบนเกาะ ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ 

ผู้เขียนรายงานของ Chatha House เผยว่า ภาพถ่ายของ Maxar ไม่ได้แสดงให้เห็นหลักฐานใดๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมของจีนบนเกาะเกรตโคโค อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่รัฐประหาร กองทัพเมียนมาก็พยายามใกล้ชิดกับจีนด้วยการสนับสนุนข้อกล่าวอ้างเรื่องไต้หวันของจีนและประกาศว่าเมียนมาสนับสนุน “ความคิดริเริ่มเรื่องความปลอดภัยทั่วโลก” ของจีน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3EKDfP4FNnyE8i5sxEJg7u/092fa7cd474bce2656eef443997b5f47/military-construction-myanmars-island-prompts-fears-chinese-involvement-SPACEBAR-Photo06
Photo: เกาะเกรตโคโคความยาว 11 กิโลเมตร ภาพ: MAXAR
เทเทเต็ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมวิทยาลัยเคอร์ตินเผยว่า “เมียนมากำลังสิ้นหวัง กำลังขาดเงิน การลงทุนจากจีนช่วยได้มากในแง่เศรษฐกิจ และในเวทีโลกเมียนมาก็อาจคุยโวได้ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเพื่อนบ้านอย่างจีนยังเป็นมิตรกับตัวเองอยู่” 

ก่อนรัฐประหาร ราว 40% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีจีนเป็นเจ้าหนี้ และตัวเลขนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอีก  

หนึ่งในการลงทุนของจีนในเมียนมา ได้แก่ ท่าเรือสำคัญที่เจ่าผิว (Kyaukphyu) ทางตะวันตกของเมียนมา ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อให้จีนสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียเพื่อขนส่งก๊าซเหลวและน้ำมัน ทำให้จีนลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกาที่มีการสัญจรรือพลุกพล่านในการขนส่งน้ำมันเหล่านี้ 

เจสัน ทาวเวอร์ ประธานสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ ประจำเมียนมาเผยว่า “การที่พม่าพึ่งพาจีนในการสนับสนุนระหว่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่กองทัพจะแบ่งปันข่าวกรองกับปักกิ่ง และสนับสนุนความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์ของจีน” 

ทาวเวอร์เผยอีกว่า การก่อสร้างบนเกาะเกรตโคโคเป็นการยั่วยุ ซึ่ง “สร้างความท้าทายที่สำคัญให้กับความมั่นคงของภูมิภาค และมีแนวโน้มจะสร้างความตึงเครียดอย่างมากระหว่างจีนและอินเดียในอ่าวเบงกอล”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2kjbR4cziXtKuR4g1sI5kI/8b20b94f582bcc8bf37e4252f584e97e/military-construction-myanmars-island-prompts-fears-chinese-involvement-SPACEBAR-Photo02
Photo: สถานีเรดาร์บนเกาะเกรตโคโค ภาพ: MAXAR
บรรดานักวิเคราะห์ชื่อว่ากองทัพเมียนมามีแนวโน้มจะทำให้จีนและอินเดียเผชิญหน้ากันเองเพื่อแลกกับการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการทูตที่มากขึ้น 

เดมียน ซิมอน จาก Intel Lab ที่ร่วมเขียนรายงานของ Chatham House เผยว่า เกาะเกรตโคโคอาจถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองกับอินเดีย และว่า ทหารเมียนมา “ตระหนักดีถึงความกลัวของอินเดียที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมของจีนในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เกรตโคโคอาจถูกทหารเมียนมาใช้ต่อรองเรียกร้องการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลโมดี แลกกับการให้กองทัพรืออินเดียเข้าไปจอดเรือ” 

เทเทเต็งเผยว่า การก่อสร้างบนเกาะเกรตโคโคเป็นสัญญาณเพิ่มเติมว่านานาชาติไม่ควรเมินเฉยต่อวิกฤตในเมียนมา “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาไม่ได้กระทบเฉพาะเมียนมา มันอาจส่งผลกระทบมหาศาลกับประเทศเพื่อนบ้าน”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์