ส่องเงินเดือนอาชีพ ‘ทหาร’ นานาประเทศ ในวันที่ไทยอาจไม่บังคับเกณฑ์ทหาร

7 ก.ย. 2566 - 09:14

  • ประเทศอื่นๆ บนโลก หลายๆ คนต้องการ และมีความฝันอยากเป็นทหาร เพราะอะไรกันนะ?

military-life-in-another-country-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อพูดถึงอาชีพ ‘ทหาร’ ในประเทศไทย คงจะดูเป็นอาชีพที่จะมีชายไทยจำนวนไม่มากนักหันมามอง ด้วยสวัสดิการ และผลตอบแทนที่ได้รับมันช่างสวนทางกับหน้าที่ที่หนักอึ้ง และคุณภาพชีวิตสุดตกต่ำที่ทหารเกณฑ์ต้องเผชิญ กลับกันกับประเทศอื่นๆ บนโลก หลายๆ คนต้องการ และมีความฝันอยากเป็นทหารกันตั้งแต่เด็ก วันนี้เราเลยจะพาไปดูชีวิตทหารในประเทศที่ ‘ไม่บังคับเกณฑ์ทหาร’ ที่มาพร้อมสวัสดิการแบบฟลูออฟชันกันบ้างดีกว่า  

เริ่มกันที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘สิงคโปร์’ 

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินว่าการเป็นทหารในสิงคโปร์นั้นยากมาก เนื่องจากคนที่จะมาเป็นทหารต้องสอบแข่งขันกันตั้งแต่เข้าฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยทหารไปจนรับราชการทหาร ทว่าการเปิดรับสมัครนั้นก็ยังคงมีอยู่เกือบตลอดเวลาและหน่วยงานทหารของสิงคโปร์ก็กลายเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศเลยทีเดียว  

แต่ความยากที่ว่ามันก็ยังมีแรงจูงใจที่ดี นั่นก็คือ ‘เงินเดือน’ โดยผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมนายร้อยทหารจะได้รับเงินเดือนราว 2,790 – 5,130 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 72,000 – 133,000 บาท) ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาและอาชีพ และหลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่แล้ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีรายได้ของพวกเขาจะขยับขึ้นมาเป็นระหว่าง 3,000 – 5,750 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 78,000 – 150,000 บาท) 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ที่มียศทางทหาร และมีความชำนาญในวิชาการต่างๆ จะได้รับเงินเพิ่มจากเงินเดือนปกติ แถมยังมีโอกาสที่จะได้รับโบนัสรายบุคคลด้วย  

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่จูงใจให้เกิดการแข่งขัน แต่ยังรวมถึงสิทธิทางการแพทย์ต่างๆ และยังมีโครงการผลประโยชน์แบบยืดหยุ่นของกองทัพบก (FLEX) มูลค่าระหว่าง 600 - 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานที่คาดคะเนได้ ซึ่งพวกเขาสามารถนำไปใช้จ่ายค่าประกัน วันหยุด และความต้องการด้านการศึกษาได้ 

ไม่แปลกใจว่าทำไมสิงคโปร์ถึงมีการแข่งขันในเส้นทางอาชีพทหารอย่างดุเดือด เพราะไม่ว่าประเทศจะเผชิญกับช่วงเศรษฐกิจจะซบเซา หรือสั่นคลอนแค่ไหน อาชีพทหารก็เป็นอาชีพที่เปิดรับสมัครอยู่เสมอ  

ขยับมาที่เมืองจิงโจ้ ‘ออสเตรเลีย’ ที่การเป็นทหารก็ไม่ได้แย่ 

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร เนื่องจากรัฐสภาพยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารนี้ออกไปตั้งแต่ปี 1972 แต่กองทัพออสเตรเลีย (ADF) ก็ยังคงเปิดรับทหารแบบระบบสมัครใจโดยมอบผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้กับการทำอาชีพอื่นๆ ในประเทศเลย  

ทหารในออสเตรเลียจะได้รับเงินเดือนพื้นฐานในระดับที่เท่ากัน และจะได้เพิ่มขึ้นเมื่อฝึกอบรมเสร็จ และได้รับการฝึกฝนทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม มีประสบการณ์มากขึ้น หรือเข้ารับตำแหน่งต่างๆ ตามอายุงาน แต่นอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว ยังมีเบี้ยเลี้ยง อัตราเงินบำนาญจำนวนมาก (16.4%) ค่าจ้างพิเศษสำหรับการฝึกอบรมและคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ค่ารักษาพยาบาลและทันตกรรมฟรี และเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก รวมถึงความช่วยเหลือเรื่องค่าที่อยู่อาศัย และเคลื่อนย้าย  

ข้ามไปเป็นทหารแบบสมัครใจในฝั่งยุโรปอย่าง ‘เยอรมนี’ กันบ้าง 

ประเทศเยอรมนียกเลิกการเกณฑ์ทหาร และระงับสำหรับยามสงบในปี 2001 ซึ่งในปัจจุบันใช้ระบบสมัครใจ และไม่มีภาระผูกพันในระยะยาว โดยระยะเวลาสำหรับทหารเกณฑ์สมัครใจจะมีความยาวราวๆ 7 – 23 เดือน แต่ 6 เดือนแรกจะเป็นระยะทดลองงาน และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (รัฐ หรือนายทหาร) สามารถแจ้งยุติและเดินจากไปได้ทุกเมื่อ  

แม้จะเป็นการเข้ามาด้วยระบบสมัครใจแต่รัฐก็มีเงินเดือนให้ โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคมปี 2020 ที่ผ่านมาได้มีการปรับฐานเงินเดือนของทหารราว 8,000 นาย โดยรายได้สำหรับตำแหน่งที่ต่ำที่สุด ก่อนหน้านี้ฐานเงินเดือนอยู่ที่ 840 ยูโร บวกกับสวัสดิการอื่นๆ อีก 500 ยูโร (รวมเป็นราวๆ 50,000 บาท) โดยปรับขึ้นเป็นราวๆ 1,500 ยูโร หรือราว 57,000 บาท และหากมียศสูงขึ้นมาหน่อยอาจได้เงินเดือนสูงถึง 1,900 ยูโร หรือราว 72,000 บาทต่อเดือน 

วนกลับมาอีกหน่อยอย่าง ‘สหรัฐฯ’ 

สหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่ใช่แค่คนในอยากเป็น แต่ยังรวมถึงคนนอกด้วย ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ ถือเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และทำให้ประเทศนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีการเกณฑ์ทหารแต่ก็ยังมีพลเรือนวนเวียนเข้ามาสมัครอยู่เสมอ นั่นอาจเป็นเพราะผลประโยชน์และเกียรติยศที่ได้รับที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็นทหารอเมริกัน  

เงินเดือนทหารอเมริกันขั้นพื้นฐานจะต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับยศและประสบการณ์ โดยทหารประจำการสามารถรับเบี้ยเลี้ยงเพื่อจ่ายค่าครองชีพ อาหาร เสื้อผ้า และค่าขนย้าย และเบี้ยเลี้ยงการแยกครอบครัวก็มีให้เช่นกัน นอกจากนี้กองทัพยังเสนอโบนัสสูงสุดถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1.7 ล้านบาท) สำหรับงานบางประเภทอีกด้วย ทั้งนี้ บุคลากรกองทัพประจำการ และสำรองจะได้รับโบนัสเพิ่ม หากพวกเขามีสกิลหรือทักษะพิเศษอื่นๆ  

ถ้าเพิ่งเข้ารับราชการทหารในช่วงปีแรก พวกเขาจะได้รับรายได้ต่ำสุดอยู่ที่ปีละ 30,695 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ จะแบ่งเป็นเงินเดือนพื้นฐาน ซึ่งจะได้เท่ากันในทุกสายงานจำนวน 25,503 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 แสนบาท) ค่าที่อยู่อาศัย 1,451 ดอลลาร์สหรัฐ (51,000 บาท) และค่าดำรงชีพทั่วไป 3,740 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 133,000 บาท) นอกจากนี้ ผู้ที่ปฏิบัติงานในเฉพาะทาง หรือสายงานอันตรายจะได้ัรับเงินพิเศษเพิ่ม 150 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,000 บาท) ต่อเดือนอีกด้วย  

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากรายได้และสวัสดิการที่ได้รับแล้ว ยังมีความยืดหยุ่นในอาชีพค่อนข้างสูง เพราะกองทัพเสนอให้ทหารสามารถลาพักร้อนได้นานถึง 30 วันต่อปี เพื่อให้สามารถใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ปรับชั่วโมงทำงานและตารางงานได้ขึ้นอยู่กับยศของพวกเขา  

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งพลเรือนที่ถือสัญชาติอเมริกันและสัญชาติอื่นๆ ถึงอยากมาเป็นทหารอเมริกันนัก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการทำงานแต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยังถือว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์