วิจัยชี้เสพติด ‘ชานมไข่มุก’ เสี่ยงซึมเศร้า-วิตกกังวล

17 มกราคม 2567 - 06:44

milk-tea-addiction-linked-to-anxiety-depression-among-youths-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แม้ชานมจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในจีนโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน แต่ผลการศึกษาล่าสุดนั้นกลับเชื่อมโยงไปถึงการเสพติด และปัญหาสุขภาพจิตในหมู่เยาวชน

  • เกือบครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมการสำรวจดื่มชานมอย่างน้อย 1 แก้วในแต่ละสัปดาห์

กินชานมไข่มุกทุกวัน…ระวัง! 

ชานมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศจีนโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน แต่ผลการศึกษาล่าสุดจากประเทศจีนเผยให้เห็นความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการบริโภคชานม การเสพติด และปัญหาสุขภาพจิตในหมู่เยาวชน

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ‘Journal of Affective Disorders’ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วพบว่า

“การบริโภคชานมอาจทำให้เกิดอาการเสพติด เช่น ความอยากหรือภาวะเสพติด ไม่สามารถหยุดความอยากได้ และความรู้สึกผิด การเสพติดในระดับที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความคิดฆ่าตัวตาย”

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัวและมหาวิทยาลัยจงยางไฉจิง (Central University of Finance and Economics) ในกรุงปักกิ่งได้ทำการสำรวจนักศึกษา 5,281 คนจากเมืองหลวงของจีน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมทั้งหมดบอกว่าพวกเขาดื่มชานมอย่างน้อย 1 แก้วในแต่ละสัปดาห์  

นักวิจัยได้พัฒนาระดับการติดชานมตามแนวทางการใช้สารเสพติดจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังบอกด้วยว่าพวกเขามีอาการที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความคิดฆ่าตัวตาย และอาการเสพติดชานม รวมถึงไม่สามารถหยุดความอยากได้

ทั้งนี้ ผู้เขียนรายงานการศึกษาสงสัยว่า ‘เยาวชนหันมาใช้ชานมเป็นกลไกในการเผชิญปัญหาหรือเป็นวิธีควบคุมอารมณ์ พวกเขาเชื่อว่าการติดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอาจสร้างความเสียหายได้พอๆ กับการติดโซเชียลมีเดียหรือยาเสพติด’ 

ผลการวิจัยยังบอกด้วยว่า “การติดชานมอาจทำหน้าที่เป็นกลยุทธ์ในการควบคุมอารมณ์และเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ระหว่างความเหงาและผลลัพธ์ทางจิตที่ไม่พึงประสงค์ (adverse psychological outcomes)” การศึกษาดังกล่าวมุ่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อแจ้งผู้กำหนดนโยบายในการให้คำแนะนำจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงคำแนะนำด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ และการสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยเพื่อลดผลกระทบด้านลบจากการบริโภคชานม 

อย่างไรก็ดี การศึกษาในอนาคตอาจใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และติดตามการบริโภคในระยะเวลาที่นานขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์