ฉีกทุกกฎบนโลกใบนี้กับ ‘มูนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ แข่งฟุตบอลบน ‘ดวงจันทร์’!

31 ก.ค. 2566 - 07:02

  • “…เกมฟุตบอลดังกล่าวนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทำให้การล่าอาณานิคมบนดวงจันทร์ (moon colonization) ใกล้เข้ามาอีกขั้น”

  • ไม่ว่าจะกฎกติกา ชุดแข่ง ผู้ตัดสิน สนามแข่ง ตลอดจนลูกบอลจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงไม่เหมือนกับตอนที่แข่งบนโลกเลย

moonchester-united-moon-host-first-football-match-2035-SPACEBAR-Thumbnail

‘มูนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ แข่งฟุตบอลบนดวงจันทร์จะเป็นไปได้จริงหรอ?

เมื่อพูดถึงหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกนี้ แน่นอนว่าใครหลายๆ คนอาจจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ฟุตบอล’ แต่รู้หรือไม่ว่าความป๊อปปูล่าของกีฬาชนิดนี้กำลังจะขยายขอบเขตการแข่งขันออกไปถึงนอกโลกซึ่งก็คือ ‘บนดวงจันทร์’ ทว่าคำถามที่ตามมาก็คือ ‘มันเป็นไปได้หรือ?’ 

และนั่นคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิด!

พวกเขาเชื่อว่ากีฬาชนิดนี้จะสามารถเล่นบนดวงจันทร์ได้ภายในปี 2035 แม้ว่ามันจะดูแตกต่างไปจากเดิมมากเมื่อเทียบกับการแข่งขันบนโลกก็ตาม 

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยี (Institution of Engineering and Technology / IET) ได้ฉีกกฎเกณฑ์และเปิดเผยแผนสุดโต่งว่าฟุตบอลบนพื้นผิวดวงจันทร์อาจมีลักษณะอย่างไร? ต้องแข่งกี่นาที? 90 นาทีหรือเปล่า? แล้วชุดสำหรับแข่งล่ะ? 

ฉีกกฎทุกอย่างไม่เหมือนกันเลยกับฟุตบอลบน ‘โลก’!

เกมฟุตบอลที่ว่านี้จะเล่นกันทีมละ 5 คน เพื่อให้มีพื้นที่ว่างและหลีกเลี่ยงการชนกัน เล่น 4 ควอเตอร์ ควอเตอร์ละ 10 นาที และพักระหว่างเกมแต่ละควอเตอร์ 20 นาที 

ในช่วงเวลาพัก 20 นาทีจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถเติมเชื้อเพลิง ซ่อมแซมอุปกรณ์หรือแม้แต่ตรวจเช็คถังออกซิเจน ระบบสื่อสาร และเครื่องมือปรับอุณหภูมิทั้งหมดภายในชุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ช่วยให้ผู้เล่นอยู่รอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าควรลดเวลาการแข่งขันบนดวงจันทร์ลงกว่าครึ่งหนึ่งของบนพื้นโลกเพื่อให้ผู้เล่นสามารถจัดลำดับความสำคัญความปลอดภัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย 

สำหรับชุดนักกีฬาจะไม่มีการสวมกางเกงขาสั้นและรองเท้าสตั๊ด โดยต้องเปลี่ยนไปสวมชุดอวกาศรุ่นนักบินอะพอลโลที่ใหญ่และบางกว่า ทั้งยังมีความยืดหยุ่นเป็นบุนวมตรงข้อศอกและหัวเข่าเพื่อการเคลื่อนไหวที่ง่ายขึ้นในสนาม ตลอดจนการติดตั้งคุณสมบัติระบายความร้อนไว้ด้านใน รวมไปถึงมาตรการจำกัดเหงื่อด้วยการออกแบบชุดที่ใช้เนื้อผ้าซึ่งดูดซับละอองฝอยน้ำได้ 

ไม่เพียงแค่นั้น ในส่วนของผู้ตัดสินจะเป็นโฮโลแกรมคล้ายกับเทคโนโลยีวีเออาร์ (VAR) โดยจะเดินรอบสนาม รวมถึงยังมีการแสดงใบแดงและใบเหลืองเสมือนจริงผ่านกระบังหน้า (visor) ของผู้เล่นอีกด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4aB6N1k7JM0QNhZwYMSSdz/74bb073bc5e1c3cfbbdea791845923c8/moonchester-united-moon-host-first-football-match-2035-SPACEBAR-Photo01
อย่างไรก็ดี IET ระบุว่า การแข่งขันทั้งหมดจะจัดขึ้นบนดวงจันทร์ตอนเที่ยงวันเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยสูงสุดและหลีกเลี่ยงเงาขนาดใหญ่บนสนาม 

ทั้งนี้ สนามจะต้องมีขนาดเล็กกว่าปกติถึง 8 เท่า โดยจะใช้การเผาผนึกด้วยเลเซอร์ (laser sintering) เพื่อเปลี่ยนดินบนดวงจันทร์ให้เป็นพื้นผิวคล้ายคอนกรีต จากนั้นทำเครื่องหมายขอบเขตโดยใช้โพลิเมอร์ขาวดำ ส่วนตาข่ายต้องล้อมปิดขอบสนาม และต้องสร้างหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกบอลหลุดลอยออกไป 

และแน่นอนว่าลูกบอลก็คงแตกต่างจากบนพื้นโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งจะไม่มีการสูบลม เพราะความแตกต่างของความดันบนดวงจันทร์จะทำให้ลูกบอลแตกแน่ๆ ผู้เชี่ยวชาญจึงคิดว่าพวกเขาจะใช้วัสดุของแข็งที่มีน้ำหนักเบาพิเศษคล้ายฟองน้ำ (spongey Next-Gen Aerogel core) เพื่อให้ลูกบอลสามารถกระดอนได้ โดยจะต้องมีขนาดเกือบ 2 เท่าสำหรับการมองเห็น 

ขณะเดียวกันทาง IET ก็กำลังเรียกร้องให้เด็กๆ ทั่วสหราชอาณาจักรที่มีอายุระหว่าง 4-13 ปีร่วมออกแบบชุดนักฟุตบอล ‘มูนยูไนเต็ด’ (Moon United) ชุดแรกอย่างเป็นทางการก่อนปี 2035 ด้วย 

“นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลกรอบตัวเราและกำหนดอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ขยายไปสู่ความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศที่จะต้องใช้ความเฉลียวฉลาดของคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยทักษะที่เหมาะสมในอนาคต”  

“ด้วยภารกิจที่จะนำมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึง และเกมฟุตบอลดังกล่าวนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทำให้การล่าอาณานิคมบนดวงจันทร์ (moon colonization) ใกล้เข้ามาอีกขั้น” ไบรอัน เดวิด จอห์นสัน นักอนาคตศาสตร์กล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์