คนญี่ปุ่นกำลังเผชิญสภาพเศรษฐกิจสุดโหด ทั้งเงินเฟ้อพุ่ง ทั้งเงินเยนอ่อนค่า แต่เงินเดือนไม่ขยับตาม ร้านค้าต่างๆ ไม่สามารถยืนราคาเดิม ลูกค้าก็เริ่มจ่ายไม่ไหว ภาวะบีบคั้นแบบนี้ส่งผลกระทบต่อคนญี่ปุ่นในทุกแง่มุม แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่หนักกว่าเพื่อนนั่นคือ ร้านราเม็ง ซึ่งบางร้านกำลังเผชิญวิกฤตจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือยื่นล้มละลาย ส่วนร้านที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
ข้อมูลของ Teikoku Databank บริษัทวิจัยด้านการเงินระบุว่า 7 เดือนแรกของปีนี้มีร้านราเม็ง 49 ร้านที่มีหนี้สินอย่างน้อย 10 ล้านเยนยื่นล้มละลาย และคาดว่าตัวเลขอาจทะลุ 100 ร้านในช่วงสิ้นปี ขณะที่ปี 2020 มี 54 ร้านล้มละลาย ส่วนปีที่แล้วมีร้านราเม็งล้มละลาย 53 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 114.2%
ราคาวัตถุดิบพุ่ง
Teikoku Databank ระบุอีกว่า ต้นทุนค่าวัตถุดิบ แรงงาน และกระแสไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการทำราเม็งเพิ่มขึ้น 10% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ หมู รวมทั้งกระดูกและมันหมูแข็งราคาขยับขึ้นปีละ 20% น้ำมันพืชขยับขึ้น 26% นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
เท็ตสึยะ คาเนโอะ จากร้านราเม็ง Mendokoro Isshou ทางตะวันตกของกรุงโตเกียวเผยกับ Washington Post ว่า “หลายปีที่ผ่านมาของแพงขึ้น แต่ 3 ปีล่าสุดมันแพงขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ผมคิดว่าทุกคนในอุตสาหกรรมนี้กำลังลำบาก”
แม้ว่าร้านราเม็งบางร้านจะภาคภูมิใจในการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่หลายเจ้าพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าอย่าง แป้ง เป็นหลัก แต่ด้วยความที่เงินเยนอ่อนค่า โดยเฉพาะในปีนี้ที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 34 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น บวกกับราคาพลังงานเชื้อเพลิงและธัญพืชที่ปรับตัวขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครน
ค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งภาระของร้านราเม็ง เพระหลายร้านยังคงรักษาวิธีการปรุงน้ำซุปแบบดั้งเดิมไว้นั่นคือ ค่อยๆ ตุ๋นค่อยๆ เคี่ยวไปเรื่อยๆ ทิ้งไว้นานๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้น

สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ เงินเดือนคนญี่ปุ่นไม่ขยับตามราคาสินค้า ซึ่งหมายความว่า ลูกค้าจะไม่ยอมควักเงินซื้อของที่แพงในเมื่อมีตัวลือกคล้ายกันที่ถูกกว่า หากร้านราเม็งเจ้าโปรดขึ้นราคา ลูกค้าก็จะไปหาร้านอื่นที่ถูกกว่าแทน และแน่นอนว่าเจ้าของร้านราเม็งไม่อยากให้เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น
สถานการณ์ของร้านราเม็งในญี่ปุ่นสะท้อนแนวโน้มของทั้งประเทศที่บรรดาธุรกิจไม่สามารถปรับตัวตามเงินเฟ้อจนต้องปิดตัวลง Teikoku Databank ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจทั่วประเทศยื่นล้มละลาย 4,990 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 18.6% โดยเงินเฟ้อคือสาเหตุหลัก
ที่ผ่านมาเราได้กำไรน้อยมาก และตอนนี้ ราคาวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สสูงขึ้น การทำร้านจึงไม่ยั่งยืน เรามีทั้งพนักงานเต็มเวลา พนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานชั่วคราว และถึงเราจะปรับราคาขึ้นเพื่อให้พอจ่ายเงินเดือนก็ยังไม่พออยู่ดี
อิโนะอุเอะ ทัตสึยะ ผู้จัดการร้านราเม็งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NHK
“ปรับราคา” ทางรอดหรือทางร่วง
ราเม็งถือเป็นอาหารสามัญประจำบ้านของคนญี่ปุ่นทั้งพนักงานออฟฟิศ ทั้งนักเรียน และคนทั่วไป และร้านส่วนใหญ่พยายามพยุงราคาไว้ไม่ให้เกิน 1,000 เยน (ราว 222 บาท) เว็บไซต์ Ragura ซึ่งสนับสนุนร้านราเม็งในจังหวัดชิสึโอกะ ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของราเม็งอยู่ที่ชาวละ 860 เยน (191 บาท) ในปี 2023 แพงสุดอยู่ที่ 2,420 เยน (538 บาท) เมื่อราคาวัตถุดิบสูงขึ้นเจ้าของร้านจึงเหลือทางเลือกไม่มากนั่นคือ ปรับราคาขึ้นให้เกิน “กำแพง 1000 เยน” เพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือปิดกิจการ
เจ้าของร้านบางคนบอกว่า หากพวกเขาขึ้นราคาราเม็งทะลุ 1,000 เยนก็จะเสียลูกค้าไปให้คู่แข่ง บทความเกี่ยวกับปัญหากำแพงราคา 1,000 เยนเมื่อปี 2022 โดยยาจิ ริกิยะ นักข่าวสายอาหารระบุไว้ว่า สาเหตุหนึ่งก็คือ ผู้สูงอายุที่กำลังจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต่างเคยชินกับ one-coin meal ในสมัยก่อนที่ใช้เงินเพียง 1 เหรียญ (500 เยน) หรือน้อยกว่าก็ซื้ออาหารได้ 1 จาน
นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นยังมีแนวคิด “ราเม็งที่ราคาจับต้องได้” ฝังหัวอยู่ทั้งลูกค้าและเจ้าของร้าน เจ้าของร้านหลายคนยังพยายามไม่ให้ราคาราเม็งทะลุ 1,000 เยนเพื่อรักษาสถานะ “อาหารของทุกคน” ของราเม็งไว้
ความกังวลของเจ้าของร้านราเม็งไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการซื้ออาหารของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปีนี้พบว่า จากการสอบถามประชาชนทั่วประเทศ 2,875 คน 60% จะเปลี่ยนไปซื้ออาหารที่ราคาถูกกว่าแทน และเมื่อถามถึงการขึ้นราคา 24% ตอบว่า พวกเขาไม่ยอมรับการขึ้นราคาสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของร้านราเม็งลังเลที่จะขยับราคาขึ้นในเมื่อมีคู่แข่งอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

แต่บางเจ้าก็ประสบความสำเร็จกับการขึ้นราคาอย่าง ไค เคนตะ เจ้าของร้าน Hakata Ramen Debuchan ในกรุงโตเกียว ขึ้นราคาราเม็งเป็นชามละ 1,300 เยน (289 บาท) โดยเคนตะเผยว่าการขึ้นราคาไม่ได้ส่งผลให้ลูกค้าหายอย่างที่เจ้าของร้านบางเจ้ากังวล การขึ้นราคาสามารชดเชยลูกค้าที่เสียไปได้ โดยกำไรที่มาจากการขึ้นราคาทำให้ร้านมีเงินไปลงทุนซื้อวัตถุดิบคุณภาพดีมาทำราเม็ง สุดท้ายจะทำให้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น
ลูกค้าไม่เพียงแค่ซื้อซุปชามเดียวเท่านั้น พวกเขาจ่ายเงินเพื่อซื้อทักษะที่สั่งสมมาหลายปี รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ และส่วนผสมระดับพรีเมียม ดังนั้นราคาควรสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตเหล่านี้ด้วย
ไค เคนตะ เจ้าของร้าน Hakata Ramen Debuchan
อย่างไรก็ดี แม้บางร้านจะขึ้นราคา แต่ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่ อาทิ ร้านของ ไทเซย์ ฮิคะเงะ ที่เปิดได้ 1 ปีครึ่งและผ่านการขึ้นราคามาแล้ว 3 ครั้ง โดยเมนูขายดี "Special Ramen" ของร้าน ราคาขยับขึ้น 47% เป็นชามละ 1,250 เยน (278 บาท)
ฮิคะเงะเล่าว่า “ปกติร้านราเม็งควรราคาถูกและอร่อย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อาหารราคาถูกสำหรับคนทั่วไปอีกต่อไปแล้ว”