‘อาหารทะเล’ เสี่ยงหายไป! เพราะอากาศโลกรวน ไทยโดนเต็มๆ

7 กรกฎาคม 2566 - 07:05

more-than-90%-global-aquaculture-risk-from-effects-climate-change-SPACEBAR-Hero
  • มากกว่า 90% ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • โดยโดยรวมแล้วสหรัฐฯ จีน และไทยมีความเสี่ยงมากที่สุด

อาหารทะเลอาจหายไป…เพราะอากาศโลกรวน

จากการศึกษาครั้งล่าสุดพบว่า แหล่งอาหารทะเลแหล่งใหญ่ที่สุดของโลกหลายแหล่งกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และไทย 
 
การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Sustainability แสดงให้เห็นว่า กว่า 90% ของการผลิตอาหารจากท้องทะเลทั่วโลก ทั้งในการจับปลาและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเทศชั้นนำหลายแห่งในเอเชียและสหรัฐฯ จะเผชิญกับภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการผลิต 
 
นี่เป็นเป็นการวิเคราะห์ระดับโลกครั้งแรกเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อปริมาณการผลิตและความปลอดภัยของอาหารทะเลทั่วโลก โดยจัดอันดับประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรกตามการเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาหลัก 
 
เบน ฮาลเปิร์น นักชีววิทยาทางทะเลผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารากล่าวว่า “ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมไม่สนใจเรื่องพรมแดนของประเทศ ความปั่นป่วนถูกขับเคลื่อนด้วยอากาศ น้ำ สายพันธุ์ และมนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงผืนดินกับทะเล และระบบนิเวศสู่ระบบนิเวศ” 
 
ทั้งนี้ มีการสำรวจปัจจัยคุกคามจำนวน 17 ชนิด ซึ่งรวมถึงสาหร่ายบลูม (algal blooms) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช การบุกรุกของสปีชีส์ การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) หรือสาหร่ายสะพรั่ง และภาวะโลกร้อนในมหาสมุทร 
 
ปัจจัยเหล่านี้ถูกอ้างว่าเป็นภัยคุกคามหลักต่อการผลิตอาหารทะเล ประกอบกับการประมงน้ำจืดและทะเลต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากพอสมควรด้วย 
 
ประเทศไหนปรับตัวไม่ได้ = เสี่ยงสูงที่อาหารทะเลจะหายไป! 

ทั้งนี้ นักวิจัยกล่าวว่าควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับ ‘ประเทศที่เผชิญความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการปรับตัว’ ซึ่งรวมถึงบังกลาเทศ เอสวาตีนี กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และยูกันดา 
 
ในแง่ของระบบการผลิต ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าการประมงทะเลโดยทั่วไปมีความเสี่ยงต่อปัจจัยคุกคามจากสภาพอากาศ โดยเฉพาะอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นและความเป็นกรด ในขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความเสี่ยงต่อผลกระทบของโรคและภาวะขาดออกซิเจน (หรือระดับออกซิเจนต่ำ) 
 
รีเบคกา ชอร์ต ผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันวิจัย Stockholm Resilience Centre กล่าวว่า “แม้ว่าเราจะมีความคืบหน้าบ้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลยุทธ์การปรับตัวของเราสำหรับระบบอาหารทะเลที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมนั้นยังด้อยพัฒนาและต้องการความใส่ใจอย่างเร่งด่วน" 
 
โดยรวมแล้ว การศึกษาเรียกร้องให้มี ‘กลยุทธ์ความร่วมมือและการปรับตัวข้ามพรมแดนมากขึ้น’ โดยตระหนักว่าระบบนิเวศที่ผลิตอาหารทะเลนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนึ่ง และอาจมีผลกระทบที่เกิดขึ้นที่อื่น 
 
เฉาหลิง ผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์จากห้องปฏิบัติการทดลอง State Key Laboratory แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินกล่าวว่า “เราเข้าใจเพียงผิวเผินว่าภัยคุกคามจากสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกันอย่างไร และทั้ง 2 อย่างนี้ส่งผลเสียต่อการผลิตและความปลอดภัยของอาหารทะเลได้อย่างไร” 
 
“การทำความเข้าใจความซับซ้อนของตัวก่อภัยคุกคามเหล่านี้และผลกระทบที่ต่อเนื่องกันจะมีความสำคัญในการพัฒนากลยุทธ์การปรับตัวและการลดผลกระทบที่ประสบความสำเร็จ” เฉาหลิงกล่าวเสริม 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์