เกิดอะไรขึ้น? เมื่อ ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่นที่เรามักจะเห็นรูปหิมะปกคลุมจนชินตา แต่ตอนนี้กลับ ‘ยังไม่มีหิมะ’ เลยทั้งๆ ที่อีกแค่ 1 วันจะเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนแล้ว ถือเป็นการรอคอยที่ยาวนานที่สุดในรอบปีและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลเมื่อ 130 ปีก่อนในปี 1894
โดยปกติแล้ว ภูเขาไฟฟูจิจะเริ่มมีหิมะปกคลุมในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าฤดูหนาวกำลังจะเริ่มต้นขึ้น โดยเฉลี่ยจะเริ่มมีหิมะในวันที่ 2 ตุลาคม ส่วนปีที่แล้วหิมะมาในวันที่ 5 ตุลาคม ทว่าในปีนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจึงทำให้ยังไม่มีหิมะตกบนภูเขาไฟฟูจิ ทำลายสถิติเดิมที่เคยเกิดขึ้น 2 ครั้งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1955 และอีกครั้งในวันเดียวกันปี 2016
สภาพอากาศอบอุ่น ‘ผิดฤดูกาล’ ทำให้หิมะตกล่าช้า!!!
“อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนนี้สูง และยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ส่งผลให้มีอากาศหนาวและหิมะตกน้อยลง...การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการก่อตัวของหิมะในระดับหนึ่ง”
ยูทากะ คัตสึตะ นักพยากรณ์อากาศจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโคฟุ บอกกับสำนักข่าว AFP
ฤดูร้อนของญี่ปุ่นในปีนี้ถือเป็นช่วงที่ ‘ร้อนที่สุด’ เป็นประวัติการณ์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1991-2020 ถึง 1.76 องศาเซลเซียส และปี 2024 มีแนวโน้มว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
ตามการวิเคราะห์จากกลุ่มวิจัย ‘Climate Central’ เผยว่า เมืองต่างๆ หลายสิบแห่งในญี่ปุ่นมีอุณหภูมิที่สูงเกือบหรือเกิน 30 องศาเซลเซียสในช่วงต้นเดือนตุลาคม นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าภาวะร้อนผิดปกติที่ญี่ปุ่นเผชิญนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกว่าปกติถึง 3 เท่าเนื่องมาจากวิกฤตสภาพอากาศ
ภูเขาไฟฟูจิซึ่งมีความสูง 3,776 เมตร ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดยามานาชิและชิซูโอกะของญี่ปุ่น ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก อีกทั้งยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไปแล้ว โดยปกติ พื้นที่แห่งนี้จะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบทั้งปี จนกระทั่งฤดูปีนเขาในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นช่วงเวลาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่ต้องการปีนเขาเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้นจากเนินเขาอันเลื่องชื่อได้มากทีเดียว
นอกเหนือจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศแล้ว ภูเขาไฟฟูจิยังต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อีก เช่น ภาวะนักท่องเที่ยวล้นจนหน่วยงานท้องถิ่นต้องจัดเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเพื่อจัดการปัญหานี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากนักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่เดินทางมายังภูเขาแห่งนี้ทุกปี
Photo by Philip FONG / AFP