Sunday Blues! เมื่อ ‘วันจันทร์’ ไม่ใช่วันที่แย่สุดของสัปดาห์แต่เป็น ‘วันอาทิตย์’ ต่างหาก

6 ต.ค. 2567 - 00:00

  • หลายคนในที่นี้คงไม่มีใครไม่เกลียดวันจันทร์ แต่รู้ไหมว่าวันนี้กลับไม่ใช่วันที่แย่ที่สุดของสัปดาห์นะ

  • โพลสำรวจส่วนใหญ่พบว่า วันที่แย่ที่สุดของสัปดาห์คือ ‘วันอาทิตย์’ ต่างหากล่ะ หรือที่เรียกว่า ‘Sunday Blues’ อาการหดหู่ในวันอาทิตย์

move_over_monday_sunday_is_the_new_worst_day_of_the_week_SPACEBAR_Hero_426bcd2009.jpg

ใครๆ ก็เกลียด ‘วันจันทร์’ !!! เสียงนาฬิกาปลุกในเช้าวันจันทร์มันช่างน่ารำคาญ วันเริ่มต้นการทำงานวันแรกของสัปดาห์เวียนมาอีกครั้ง เสียงโอดครวญเมื่อไหร่จะถึงวันศุกร์สักทีนะ วันจันทร์มันช่างน่าเบื่ออะไรอย่างนี้ไม่มีชีวิตชีวาเอาซะเลย 

แล้วรู้หรือไม่ว่า ‘วันจันทร์’ ที่ใครๆ ก็ไม่ชอบกลับไม่ใช่วันที่ ‘แย่ที่สุด’ ของสัปดาห์หรอกนะ แต่งานวิจัยกลับพบว่าวันที่แย่ที่สุดของสัปดาห์คือ ‘วันอาทิตย์’ ต่างหากล่ะ  

จากการสำรวจผู้เข้าร่วมการทดลอง 34,000 คน พบว่า : 

  • คนที่มีการศึกษาดีบอกว่า พวกเขามีความพึงพอใจในชีวิต ‘ลดลง’ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 
  • ในขณะที่คนที่มีการศึกษารองลงมา บอกว่า ความพึงพอใจในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้ต่างไปจากวันธรรมดามากนัก

“อาการซึมในวันอาทิตย์ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เริ่มรู้สึกว่าชีวิตไร้ความสุขเมื่อผ่านพ้นช่วงที่ยุ่งวุ่นวายมาได้ และรู้สึกว่างเปล่าภายในตัวเอง”

วิกเตอร์ แฟรงเคิล อดีตนักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้คิดค้นคำว่า ‘Sunday Neurosis’ (ความรู้สึกเศร้าหรือกังวลว่าช่วงเวลาในวันอาทิตย์กำลังจะหมดไป) เมื่อราว 20 ปีก่อน กล่าว

‘Sunday Blues’ วันอาทิตย์แสนเศร้า เพราะพรุ่งนี้วันจันทร์แล้ว!!!!

move_over_monday_sunday_is_the_new_worst_day_of_the_week_SPACEBAR_Photo01_28a079658a.jpg

‘Sunday Blues’ หรือ ‘Sunday Neurosis’ หรือที่เรียกว่า ‘อาการหดหู่วิตกกังวลในวันอาทิตย์’

เป็นความวิตกกังวลรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการที่บางคนรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองว่างเปล่าเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์สิ้นสุดลง

ตามสถิติพบว่า 76% ของชาวอเมริกันและแคนาดาประสบกับอาการหดหู่แบบอธิบายไม่ถูก เรียกว่า ‘Sunday syndrome’ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและสวีเดนบอกว่า “วันอาทิตย์เป็นวันที่เศร้าที่สุดในสัปดาห์ ไม่ใช่วันจันทร์ แล้ววันศุกร์ก็เป็นวันที่สุขที่สุดด้วย ไม่ใช่วันเสาร์”  

เว็บไซต์ LinkedIn ได้สำรวจพนักงานชาวอเมริกัน 3,000 คน และพบว่า : 

  • ชาวอเมริกัน 80% เผชิญกับอาการวิตกกังวลวันอาทิตย์ 
  • ขณะที่ 60% บอกว่า เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะงานสะสมเป็นสาเหตุหลัก 
  • และ 44% เผยว่า เป็นปัญหาจากการสร้างสมดุลระหว่างงานที่ต้องทำและชีวิตส่วนตัว 
  • ผู้เข้าร่วมการสำรวจในหมู่ชาวเจน Y และ Z เป็นกลุ่มที่ประสบกับอาการกลัววันอาทิตย์มากที่สุด 

ทำไม ‘วันอาทิตย์’ ถึงแสนเศร้าล่ะ?

อาการหดหู่วิตกกังวลในวันอาทิตย์อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยปัจจัยกระตุ้นของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางทีก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรจะเปลี่ยนงานใหม่ได้แล้วหรือไม่ เช่น : 

  • กลัวการทำงานวันจันทร์ หากคุณไม่ชอบ หรือไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ ก็อาจประสบกับอาการวิตกกังวลในวันอาทิตย์ได้ ถ้าเป็นบ่อยหรือรุนแรงขึ้นก็เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ 
  • ความเครียดจากงาน หรือภาวะงานสะสมมากเกินไป 
  • หลายคนอาจเริ่มเบื่อกับชีวิตประจำวัน วัฏจักรวนลูปแบบเดิมๆ ต่อให้วันอาทิตย์จะเป็นวันหยุด แต่บางคนก็รู้สึกหดหู่ได้แม้ว่าทั้งวันจะพักผ่อนมาแล้วก็ตามโดยเฉพาะตอนเย็นที่จะต้องเตรียมตัวทำงานในสัปดาห์หน้า 
  • บางคนรู้ว่าชีวิตไร้ความหมาย ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่น่ากลัวที่สุด เป็นภาวะที่บางคนรู้สึกว่าการทำงานกินเวลาชีวิตมากเกินไป ตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร จนเกิดความไม่พอใจในชีวิตและแสดงความเศร้าออกมาในวันอาทิตย์ 

จะก้าวข้ามผ่านวันอาทิตย์แสนเศร้านี้ได้ยังไง?

move_over_monday_sunday_is_the_new_worst_day_of_the_week_SPACEBAR_Photo02_c0829a50ac.jpg

ใครก็ตามที่ไม่อยากเจอกับความรู้สึกหดหู่ในวันอาทิตย์แบบนี้อีก ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ ‘Work Life Balance’ สร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ดี อาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อนก็ได้ เช่น เวลาพักเที่ยงต้องกินข้าว พักก็คือพัก เวลาเลิกงานหากไม่มีเรื่องด่วนอะไรก็ไม่ควรมานั่งทำงานนอกเวลา ต้องให้เวลากับตัวเองบ้าง หรือแม้กระทั่งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็พักผ่อนสนุกสนานปล่อยจอยให้เต็มที่ รีเซ็ตทุกอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วเริ่มใหม่ในสัปดาห์ต่อไป เป็นต้น 

หากจะเตรียมงานสำหรับสัปดาห์หน้าก็ควรใช้เวลาช่วงเช้าวันอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์และควรเตรียมให้เสร็จใน 2-3 ชั่วโมง ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการเตรียมงานในช่วงเย็นวันอาทิตย์ เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายได้ 

ทั้งนี้ หากลองปรับการใช้ชีวิตแล้ว เปลี่ยนงานใหม่ก็แล้ว แต่ยังมีอาการหดหู่ในวันอาทิตย์อยู่ ก็อาจจะต้องพบแพทย์ หรือนักบำบัดเพื่อขอคำแนะนำและแนวทางการรักษาต่อไป

“วันจันทร์ไม่ได้แย่ที่สุดสักหน่อย!!!” วันจันทร์ไม่ได้กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์