“การตายในเมืองพาราณสีอันศักดิ์สิทธิ์จะนำพาความหลุดพ้นมาให้ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดก็ตาม หากใครต้องการที่พักพิงก่อนออกเดินทางครั้งสุดท้าย พวกเขาจะหาที่พักนั้นได้ที่ ‘มุกติภาวัน’ หรือ ‘โรงแรมแห่งความตาย’ ในเมืองพาราณสี”
ตามความเชื่อของชาวฮินดูได้กล่าวไว้
‘มุกติภาวัน’ (Mukti Bhawan) ไม่ใช่โรงแรมที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว เพราะที่แห่งนี้มีความต่างออกไปจากโรงแรมอื่นๆ ก็ตรงที่มุกติภาวันเป็นสถานที่ที่ชาวฮินดูโดยเฉพาะผู้สูงอายุไปนอนเพื่อรอความตาย ด้วยความเชื่อที่ว่าหากพวกเขาตายไปแล้วจะได้บรรลุโมกษะ (moksha) หรือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ (วงจรเกิด แก่ เจ็บ ตาย) และเพื่อให้จิตวิญญาณเป็นอิสระ เพราะการหลุดพ้นจากโลกนี้ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดู
ตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าวิญญาณต้องตายแล้วเกิดใหม่ 8.4 ล้านครั้งจึงจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้น การบรรลุโมกษะจึงเหมือนเป็นหนทางของการหลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้ ซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยจิตวิญญาณ
‘มุกติภาวัน’ โรงแรมที่ชาวฮินดู Check-in เพื่อรอความตาย
มุกติภาวัน เป็นโรงแรมอาคาร 2 ชั้นขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในตรอกแคบๆ ใกล้กับท่าน้ำดัชศวเมธ (Dashashwamedh Ghat) สร้างขึ้นเมื่อปี 1908 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณและเป็นที่พักสำหรับผู้ที่แสวงหาทางออกอันเงียบสงบจากชีวิตที่แสนจะวุ่นวาย และทุกข์ทรมานจากทางโลก
การเข้าพักนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยว แต่มีไว้สำหรับชาวฮินดูผู้เคร่งครัดที่มีความตั้งใจที่จะบรรลุโมกษะหลังความตายอย่างแท้จริง ที่นี่มีกฎชัดเจนว่าแขกที่มาเยือนจะต้อง :
- เป็นผู้สูงอายุที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตาย
- มีเพียงคนที่กำลังจะเสียชีวิตเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพัก
- ผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตสามารถเช็คอินที่มุกติภาวัน และพักอยู่ที่นั่นได้ 2 สัปดาห์ แต่หากบุคคลนั้นไม่เสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ เขา/เธอจะต้องออกจากโรงแรม
- ผู้คนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็สามารถมาพักได้
- ไม่มีแพทย์ พยาบาล หรือตู้ยา มีเพียงบาทหลวง 4 องค์ที่คอยสวดภาวนาให้ผู้ใกล้ตายเท่านั้น
- ไม่ต้องจองล่วงหน้า
ห้องพักไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด มีแต่ความเรียบง่ายโล่งๆ โทรมๆ มีอยู่ประมาณ 12 ห้อง บรรยากาศเงียบสงบ ภายในห้องมีเตียง หน้าต่างบานเล็ก เฟอร์นิเจอร์ แก๊สหุงต้ม และอุปกรณ์ทำอาหารให้ทุกห้อง ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีมินิบาร์ และไม่มีเมนูรูมเซอร์วิสใดๆ แม้การตกแต่ห้องจะดูเรียบง่ายแต่ก็ยังคงความดั้งเดิม มีรูปเทพเจ้าและคัมภีร์ต่างๆ ประดับอยู่ตามตามผนัง
ที่พักพิงสุดท้าย เพื่อบรรลุโมกษะ...

การทำนายว่าใครจะเสียชีวิตเมื่อใดเป็นศาสตร์ที่ไม่แน่นอน หมายความว่าการเลือกเวลาเดินทางไปที่มุกติภาวันจึงเหมือนเป็นการพนันอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ปี 1958 มีชาวฮินดูมานอนตายที่นี่มากกว่า 14,000 คน ทุกๆ ปี จะมีผู้คนจากทั่วประเทศราว 800 คนมาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่นี่ในแคว้นกาสี (ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์) และแต่ละเดือนจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 30-70 คน มีเพียง 5% เท่านั้นที่จะถูกส่งกลับบ้าน ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกเศร้าใจ เพราะคิดว่าเป็นความโชคร้ายที่พลาดโอกาส ‘ตายอย่างหลุดพ้น’ (Kashi-death)
ที่นี่จะไม่มีการใช้ยาหรือวิธีการใดๆ เพื่อเร่งให้ตาย ใครก็ตามที่เข้าพักต้องพักจนกว่าจะสิ้นชีวิต แต่หากพวกเขาไม่ได้ตายในภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากมาถึง พวกเขาจะถูกขอร้องอย่างสุภาพให้ย้ายออกไป เพื่อให้คนอื่นมาพักแทน
“ผู้คนต่างหวังว่าความตายจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน...หลังจากที่บริหารที่นี่มาเป็นเวลานาน ผมสามารถคำนวณได้อย่างง่ายดายว่าคนคนหนึ่งจะเสียชีวิตเมื่อใด”
พารอว์ นาท ชุกลา ผู้บริหารโรงแรม กล่าว
สำหรับใครที่มีกำลังจ่ายจะจ่ายแค่ค่าไฟประมาณ 20 รูปีอินเดียต่อวัน (ราว 8 บาท) แต่คนยากไร้เข้าพักฟรี ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีกรรมและการเผาศพนั้นทางโรงแรมรับผิดชอบจ่ายให้ทั้งหมด “เราช่วยเหลือคนยากไร้ซื้อไม้และวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเผาศพ” ชุกลา กล่าวเสริม
ระหว่างที่ผู้คนเหล่านี้พักอยู่ในโรงแรม พวกเขาจะใช้ชีวิตเรียบง่าย รับประทานอาหารมังสวิรัติ สวดมนต์ และประกอบพิธีกรรม บางคนจะมีครอบครัวคอยเยี่ยมเยียนให้กำลังใจในช่วงเวลาสำคัญนี้ บาทหลวงจะคอยสวดภาวนาให้แขกทุกวัน และนำน้ำคงคาซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์มาให้พวกเขาดื่ม หากพวกเขาตาย ทางโรงแรมจะนำร่างนั้นไปฌาปนกิจที่สุสานมานิการนิกา (Manikarnika Ghat / สถานที่เผาศพที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา)
ชาวฮินดูทั่วอินเดียและทั่วโลกมักจะเดินทางมาที่นี่ด้วยความเชื่อหลังความตายในการบรรลุโมกษะ บางคนเดินทางมาหลายพันกิโลเมตรเพื่อมา Check-in รอความตายในโรงแรมแห่งนี้
ทุกคนมาที่นี่เพราะไม่ต้องการเจ็บปวดอีกต่อไป

“เราถือว่าความตายเป็นการเฉลิมฉลอง เราไม่รู้สึกเศร้าโศกหากใครต้องตายที่นี่ เพราะเราเห็นว่าเป็นเพียงจุดสิ้นสุดของชีวิต และจิตวิญญาณของมนุษย์ที่จะได้บรรลุโมกษะ”
ชุกลา กล่าว
มานบุธ ตรีปาธี ชายสูงอายุผู้พักอยู่ที่เกสต์เฮาส์มูมุกชู (Mumukshu Bhawan / เกสต์เฮาส์รอความตายอีกแห่งหนึ่ง) มานานกว่า 20 ปี เล่าว่า “ผมรอคอยวันที่ผมจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ พวกลูกชายของผมส่งเงินมาให้ผมทุกเดือน แต่ผมไม่เจอพวกเขาอีกเลยผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว”
โรหิต กุมาร์ จา วัย 31 ปี เล่ากับ The National News ว่า เขาพา ชตุร์ภูจ จา คุณปู่ของเขาในวัยเกือบ 100 ปี มาอยู่ที่มุกติภาวัน เนื่องจากพ่อของเขาเสียชีวิตไปไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ทำให้ปู่ของเขาเสียใจมาก “พ่อของผมตายไปต่อหน้าต่อตา ปู่ของผมใจสลายหลังจากพ่อตาย และมีอาการหัวใจวาย เขาขอร้องเราหลายครั้งให้พาเขาไปที่นั่นเพราะเขาต้องการอิสระจากความเจ็บปวดของชีวิตมนุษย์...สถานที่แห่งนี้ทำให้เขามีโอกาสได้ตายอย่างสงบ”
ภารัต ซิงห์ และภรรยาเดินทางมาจากรัฐพิหารทางตะวันออก พร้อมกับป้าที่แก่ชราและทุกข์ทรมาน “เราเฝ้ารอมา 2 วันแล้ว และคาดว่าเธอจะเสียชีวิตภายใน 2 หรือ 3 วัน เธอต้องการมาตายที่แคว้นกาสี และเราก็พาเธอมาที่นี่ได้แล้ว”