ทุเรียน ‘มูซังคิง’ เจอดราม่าปรับแต่งพันธุกรรมจนไม่เหลือเอกลักษณ์

19 ก.ย. 2567 - 08:28

  • ทุเรียนมูซังคิงโดดเด่นในเรื่องของรสชาติหวานแต่จะออกขมนิดๆ ติดปลายลิ้น

  • รสชาติของทุเรียนมูซังคิงมักจะสร้างความแปลกใจให้กับคนจีนหรือคนไต้หวันที่ได้ลองทานทุเรียนเป็นครั้งแรก และบางครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่ารสชาติขมๆ นี้หมายความว่าทุเรียนเสียแล้ว

  • ชาวสวนมาเลเซียบางคนพยายามปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ทุเรียนให้มีรสขมน้อยลงเพื่อให้ถูกใจลูกค้าชาวจีน

musang-king-durians-face-flavour-controversy-SPACEBAR-Hero.jpg

รสชาติของทุเรียนมูซังคิงกำลังกลายเป็นประเด็นดราม่าในมาเลเซีย เนื่องจากมีชาวสวนบางรายปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของทุเรียนด้วยการลดรสชาติขมและเพิ่มความหวานในเนื้อทุเรียน เพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคชาวจีน ทำให้คนมาเลเซียกังวลว่าทุเรียนมูซังคิงจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ 

ทุเรียนมูซังคิงโดดเด่นในเรื่องของรสชาติหวานแต่จะออกขมนิดๆ ติดปลายลิ้น ซึ่ง ลอว์เรนซ์ ติง ประธานสมาพันธ์สมาคมเกษตรผู้ปลูกผลไม้มาเลเซียบอกว่าความเป็นเอกลักษณ์นี้มาจากสภาพอากาศและดินของมาเลเซียที่ทำให้มูซังคิงต่างจากทุเรียนหมอนทองของไทย 

แต่ ลีพิตคอง ประธานสมาคมกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรัฐปะหังเผยว่า รสชาติของทุเรียนมูซังคิงมักจะสร้างความแปลกใจให้กับคนจีนหรือคนไต้หวันที่ได้ลองทานทุเรียนเป็นครั้งแรก และบางครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่ารสชาติขมๆ นี้หมายความว่าทุเรียนเสียแล้ว

ด้าน สตีเวน โจว เจ้าของสวนทุเรียนที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปีบอกว่า บรรดาผู้ส่งออกพากันปรับเปลี่ยนทุเรียนของตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการรสชาติความหวานของแต่ละตลาดในต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่มีการร้องขอให้ลดความขมของมูซังคิงโดยตรงก็ตาม 

“ถ้าตลาดไหนชอบทุเรียนหวาน ทุเรียนที่รสชาติหวานกว่าก็จะถูกส่งออกไปที่นั่น” โจวเผย 

ด้วยเหตุนี้ชาวสวนบางคนจึงปรับแต่งรสชาติทุเรียนเพื่อให้ถูกปากถูกใจลูกค้าชาวจีน

musang-king-durians-face-flavour-controversy-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: คนงานกำลังเก็บทุเรียนที่ใช้เชือกมัดโยงลงมาจากต้นที่สวนในรัฐปะหังขงมาลเซีย Photo by Mohd RASFAN / AFP

ศูนย์วิจัยพืชสวนของสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งมาเลเซียระบุว่า วิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการปรับเปลี่ยนรสชาติทุเรียนเป็นเรื่องซับซ้อนแต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ 

ซุลฮัสมี ซายูติ จากศูนย์วิจัยพืชสวนอธิบายว่า การปรับเปลี่ยนสารประกอบที่ให้รสชาติขมในทุเรียนอย่างซาโปนินและควบคุมยีนที่เกี่ยวข้องกับสารนี้ทำได้ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม

“ความเป็นไปได้นี้แสดงให้เห็นในพืชชนิดอื่นแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นการระบุยีนที่แน่นอนและการไม่ทำให้ลักษณะอื่นๆ ของผลไม้เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก” ซายูติเผยกับสำนักข่าว The Star และย้ำถึงความสำคัญของการออกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมและต้องพิจารณาด้านจริยธรรมควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ ควรผ่านการทดสอบให้แม่นยำก่อน 

ที่มาเลเซียจะแบ่งทุเรียนมูซังคิงออกเป็น 2 ประเภทคือ ต้นทุเรียนที่อยุไม่เกิน 20 ปี กับต้นทุเรียนที่อายุเกิน 20 ปี และชาวสวนจะรู้กันดีว่ายิ่งต้นทุเรียนอายุเยอะ รสชาติก็ยิ่งขม ความพยายามในการดัดแปลงพันธุกรรมทุเรียนมูซังคิงจึงกลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่นั่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและคนชอบทุเรียนที่มองว่าการดัดแปลงพันธุกรรมจะทำให้ทุเรียนมูซังคิงสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ 

แอนนา เตียว เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตทุเรียนบอกว่า ทุกวันนี้ทุเรียนมูซังคิงในท้องตลาดส่วนใหญ่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ทั้งสีและกลิ่นเจือจางลง และว่าแม้ว่าการปรับเปลี่ยนรสชาติของทุเรียนจะทำได้ด้วยการปรับการให้ปุ๋ย แต่ชาวสวนควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนด้วย ไม่ใช่เน้นเฉพาะความหวานเท่านั้น และทิ้งท้ายว่า แม้ว่าเทคนิคและวิธีการเพาะปลูกจะดีขึ้น แต่เกษตรกรก็ไม่ควรปรับรสชาติของผลไม้

Photo by Mohd RASFAN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์