กองทัพเมียนมายังไม่ยอมแพ้ ปูพรมถล่มหวังยึดเมียวดีคืน

23 เมษายน 2567 - 08:10

myanmar-military-fight-rebel-army-critical-phase-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ความคืบหน้าล่าสุดพบว่ากองกำลังเผด็จการทหารได้ทำการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้งในเมืองเมียวดีเมื่อเช้าวันจันทร์ (22 เม.ย.) เพื่อที่จะยึดศูนย์กลางการค้าชายแดนคืนจากกลุ่มกบฏกะเหรี่ยงแดง

  • สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันจันทร์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพลเรือนอย่างน้อย 7 รายเสียชีวิตและบาดเจ็บ 4 รายระหว่างการสู้รบเมื่อวันเสาร์

  • ขณะที่สถานการณ์ฟากฝั่งตะวันตกของเมียนมาในรัฐยะไข่ระหว่างกองทัพชาติพันธุ์อาระกันและกองทัพทหารเข้าสู่ ‘ช่วงวิกฤติ’

การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กินเวลานานกว่า 6 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคงถูกเมินจากสายตานานาชาติแม้จะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และในตอนนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์กำลังดุเดือดตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการปะทะกันที่เมืองเมียวดีใกล้ชายแดนไทยเป็นเหตุให้ชาวเมียนมาพากันอพยพเข้าไทยเป็นจำนวนมาก 

ความคืบหน้าล่าสุดพบว่ากองกำลังเผด็จการทหารได้ทำการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้งในเมืองเมียวดีเมื่อเช้าวันจันทร์ (22 เม.ย.) เพื่อที่จะยึดศูนย์กลางการค้าชายแดนคืนจากกลุ่มกบฏกะเหรี่ยงแดง (Karenni rebels) 

ชาวบ้านเล่าว่าการโจมตีเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่ไม่ได้ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดปะทะระหว่างกองทหารรัฐบาลกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และพันธมิตรในวันศุกร์ (19 เม.ย.) และวันเสาร์ (20 เม.ย.) 

ทีมกู้ภัยในพื้นที่เผยว่า “สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันจันทร์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพลเรือนอย่างน้อย 7 รายเสียชีวิตและบาดเจ็บ 4 รายระหว่างการสู้รบเมื่อวันเสาร์” 

ฝ่ายการเมืองของ ‘KNLA’ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงระบุว่าทั้งสองฝ่ายปะทะกันอีกครั้งในเช้าวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) เมื่อเครื่องบินรบของรัฐบาลทหาร 4 ลำทิ้งระเบิด 12 ลูกเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น 

“เสียงปืนเงียบลงเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ขณะที่ KNLA และพันธมิตรล่าถอยออกจากสะพานเพื่อตอบโต้การโจมตีทางอากาศของรัฐบาลเผด็จการทหาร” ชาวบ้านเล่า 

ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายพลโซวิน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบเบาที่ 44 เสียชีวิตระหว่างการสู้รบเมื่อวันเสาร์ และศพของเขาถูกส่งไปยังโรงพยาบาลแม่สอด อย่างไรก็ตาม คนไทยคนหนึ่งที่ไปโรงพยาบาลเพื่อยืนยันรายงานดังกล่าวบอกกับสำนักข่าว Irrawaddy (อิระวดี) ว่า ‘ไม่มีศพของโซวิน’ ส่วนแหล่งข่าวของ KNLA ยังปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานการเสียชีวิตของโซมินเต็ต 

ตามแหล่งข่าวของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ระบุว่า หลังจากการสู้รบ พลเอกเมียตุนอู รัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลทหาร ได้เรียกตัวผู้นำของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอื่นๆ กองกำลังรักษาชายแดนกะเหรี่ยง กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตย และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (สภาสันติภาพ) เข้ามาเจรจา 

เห็นได้ชัดว่าพลเอกเมียตุนอูกำลังเข้ามาทำหน้าที่แทน โซวิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งไม่ถูกพบเห็นในที่สาธารณะตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนแล้ว แต่มีรายงานว่า โซวิน ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีด้วยโดรนของกลุ่มต่อต้าน ขณะเยี่ยมชมกองบัญชาการตะวันออกเฉียงใต้ในเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ เพื่อดูแลปฏิบัติการทางทหารในเมืองเมียวดี 

ชาวเมียนมากว่า 3,000 คนหลบหนีข้ามชายแดนเข้าไทย…นับตั้งแต่เกิดการสู้รบในเมืองเมียวดี

myanmar-military-fight-rebel-army-critical-phase-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP

พล.ท.ประสาน แสงสิริรักษ์ ผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ของไทย ซึ่งดูแลพื้นที่ดังกล่าวบอกกับสำนักข่าวไทยพีบีเอสเมื่อเช้าวันจันทร์ (22 เม.ย.) ว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในแม่สอดลดลงจากประมาณ 3,000 คนในวันอาทิตย์ เหลือประมาณ 1,000 คนในวันจันทร์ เนื่องจากการสู้รบรอบเมียวดีผ่อนคลายลงและเริ่มการเจรจา 

ผู้บัญชาการกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งอยู่ระหว่างการเจรจา และผู้คนจำนวนมากที่หนีออกจากเมียวดีก็กำลังเดินทางกลับบ้านจากแม่สอด” 

นอกจากนี้ ทางกองทัพอากาศไทย (RTAF) ยังได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 2 ลำไปลาดตระเวนน่านฟ้าเหนืออำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาอีกด้วย 

ขณะที่สถานการณ์ฟากฝั่งตะวันตกของเมียนมาเข้าสู่ ‘ช่วงวิกฤติ’

myanmar-military-fight-rebel-army-critical-phase-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by AFP

กองทัพชาติพันธุ์อาระกัน (AA) เคลื่อนพลไปทั่วรัฐยะไข่นับตั้งแต่ยุติการหยุดยิงในรัฐอย่างไม่เป็นทางการกับทหารเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 

กองทัพ AA เป็นหนึ่งในกองทัพชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดและทรงอำนาจที่สุดของประเทศ ได้เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ทางตอนเหนือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่ออย่างน้อยให้รัฐยะไข่ได้เป็น ‘รัฐแบบสมาพันธรัฐ’ 

ไคงทูคา โฆษกกองทัพชาติพันธุ์ บอกว่า “เรามีอำนาจควบคุมทั้งหมดเหนือเมืองจ็อกตอ, มรัค-อู, มินเบีย, ไมบอน, รามรี, พัคตอ, ปอนนากยุน, รัดเทดอง และเมืองปาเลตวา (ของรัฐชิน) นอกจากนี้เรายังได้ยึดพื้นที่ชนบทในเมืองหม่องดอว์และบูติด่อง เช่นเดียวกับในเมืองจอก์พยูและสิตตะเว” 

“ขณะนี้ เรากำลังต่อสู้เพื่อที่จะกำหนดอนาคตของชาวยะไข่…นี่เป็นช่วงเวลาวิกฤติ” ไคงทูคา บอกกับสำนักข่าวอิระวดี 

สื่อท้องถิ่นยะไข่รายงานว่า “การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพ AA และกองกำลังทหารรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) ในเมืองตานเว รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหาดงาปาลี สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม…การสู้รบเริ่มต้นใกล้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘Tha Htay’ ทางตอนเหนือของเมืองเมื่อเวลาประมาณเที่ยงวัน (ตามเวลาท้องถิ่น) โดยกองทัพทหารได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่กองทหาร AA”  

สื่อท้องถิ่นอีกแห่งรายงานว่า “กองทัพทหารหลายสิบนายถูกสังหารระหว่างการปะทะ ขณะที่กองทัพชาติพันธุ์ก็สูญเสียเช่นเดียวกัน” 

เมื่อวันที่ 15 เมษายน รัฐบาลทหารได้ทิ้งระเบิดทางอากาศในพื้นที่ใกล้กับทางหลวงตานเว-ตองอูบ และที่ตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ‘Tha Htay’ แม้ว่าจะไม่มีการปะทะกับกองทหาร AA ในขณะนั้นก็ตาม นอกจากนี้ กองทหาร AA ยังได้ปะทะกับกองกำลังทหารใกล้หมู่บ้านแกวชวง (Kawe Chaung) บนทางหลวงเมื่อวันที่ 13 เมษายน  

ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า รัฐบาลทหารได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยตั้งจุดตรวจทหารเพิ่มเติมบริเวณทางเข้าเมืองตานเวทุกแห่ง และจำกัดการเคลื่อนไหวของชาวเมือง 

ขณะที่กองทัพ AA กำลังโจมตีเมืองแอนซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการตะวันตกของรัฐบาลทหาร ส่วนรัฐบาลทหารก็ตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายพลเรือนภายใต้การควบคุมของ AA ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทางศาสนา อีกทั้งยังได้ปิดกั้นการเชื่อมต่อการคมนาคม อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังถูกกล่าวหาว่าใช้ชาวโรฮีนจาเป็นเครื่องมือบังคับเกณฑ์ทหารใหม่เพื่อหว่านความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ด้วย 

Photo by AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์