เมื่อสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใดกำลังทำให้พลเมืองลำบากและยากจนมากขึ้นจนต้องประกาศขายไตผ่านโซเชียลมีเดีย
หม่อง หม่อง คนขับรถส่งของออกมาเล่าว่า เมื่อปลายปี 2022 เขาถูกกองทัพทหารควบคุมตัวและทรมานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากต้องสงสัยว่าขนส่งสินค้าให้กับกองกำลังฝ่ายค้าน ซึ่งระหว่างที่เขาถูกจับตัวไปนั้น ทำให้ภรรยาของเขาต้องกู้เงินเพื่อดูแลลูกและครอบครัว
หลังจากหม่องถูกปล่อยตัวแล้ว เขาก็ตกงานและพบว่าครอบครัวของเขาไม่มีเงินติดตัว แถมยังมีหนี้สินมากมาย ทำให้เขาสิ้นหวังจนโพสต์ข้อความเสนอ ‘ขายไต’ ของตัวเองลงบน Facebook
“ตอนนั้น ผมรู้สึกว่าชีวิตช่างโหดร้ายเหลือเกิน ผมไม่มีทางเอาชีวิตรอดได้เลยนอกจากต้องปล้นหรือฆ่าคนเพื่อเอาเงิน ภรรยาของผมก็เหมือนกัน เธอไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไป แต่เราต้องอยู่เพื่อลูกสาวของเรา”
— หม่อง เล่า
หลายเดือนต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2023 หม่อง ซึ่งขอใช้ชื่อปลอมด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ได้เดินทางไปอินเดียเพื่อทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต หลังจากที่นักธุรกิจเชื้อสายจีน-พม่าผู้มั่งคั่งได้ซื้อไตของหม่องด้วยเงิน 10 ล้านจ๊าด (ราว 1.62 แสนบาท) ซึ่งเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่าของรายได้ครัวเรือนในเขตเมืองเฉลี่ยต่อปีในเมียนมา
ทว่า หม่อง หม่อง ไม่ใช่คนเดียวที่ขายไตตัวเองเพื่อ ‘แลกเงิน’
สำนักข่าว CNN ดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้เป็นเวลานาน 1 ปีได้เปิดเผยว่า ผู้คนในเมียนมาสิ้นหวังจนต้องขายอวัยวะของตัวเองให้กับคนรวยผ่านทาง Facebook โดยได้รับความช่วยเหลือจากเอเจนท์ จากนั้น พวกเขาจะต้องเดินทางไปอินเดียเพื่อปลูกถ่ายไต ซึ่งการขายอวัยวะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทั้งสองประเทศ
CNN พบโพสต์เสนอขายอวัยวะบนกลุ่ม Facebook อย่างน้อย 3 กลุ่มที่เป็นภาษาพม่า และได้พูดคุยกับผู้คนกว่า 24 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าอวัยวะ ซึ่งรวมถึงผู้ขาย ผู้ซื้อ และเอเจนท์ เพื่อรวบรวมข้อมูลการทำงานภายในของธุรกิจผิดกฎหมายที่ขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวังของพลเมืองในประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง
รัฐประหารทำให้ความยากจนพุ่งสูงขึ้น

ผ่านไป 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐประหารประเทศ ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารที่พบว่า พลเมืองเกือบครึ่งหนึ่งจากจำนวน 54 ล้านคนของประเทศยังคงมีชีวิตที่ยากลำบาก ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็พบว่า รายได้ของพลเมืองนั้นต่ำกว่าเส้นความยากจนอีกด้วย (the poverty line) โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตั้งแต่ปี 2017
ความรุนแรงแผ่ปกคลุมไปทั่วประเทศหลังเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ และกองทัพทหาร ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น และต้นทุนสินค้าพื้นฐานก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผู้ขายอวัยวะส่วนใหญ่มักมีฐานะยากจน ขณะที่ผู้ซื้อมีฐานะค่อนข้างร่ำรวย...
“การขายอวัยวะเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับทุกคน ไม่มีใครอยากทำหรอก เหตุผลเดียวที่ฉันทำแบบนี้ก็เพราะฉันไม่มีทางเลือก” เอพริล วัย 26 ปี กล่าว เอพริลได้โพสต์ขายไตตัวเองบน Facebook เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เอพริล เล่าว่า เธอละทิ้งความฝันที่จะเป็นพยาบาลและย้ายไปที่เมืองย่างกุ้งเมื่อตอนอายุ 18 ปี เพื่อทำงานในโรงงานเสื้อผ้าและช่วยเหลือครอบครัว แต่เงินเดือน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 3,400 บาท) ของเธอไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายเนื่องจากข้าวของแพงขึ้นจากวิกฤตทางการเมืองและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
คืนหนึ่ง เอพริลเลื่อนดู Facebook อยู่จนดึก และไปเจอกลุ่มหนึ่งที่มีผู้คนเสนอขายไตของตัวเอง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตได้แบ่งปันวิธีการรักษาที่บ้านและแนะนำแพทย์ แต่ CNN พบว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การโพสต์เสนอขายอวัยวะกลับกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามข้อมูลของมูลนิธิโรคไตแห่งชาติระบุว่า คนๆ หนึ่งยังสามารถมีชีวิตที่แข็งแรงได้แม้จะมีไตข้างเดียว ซึ่งทำให้การค้าขายนี้เป็นไปได้ มันเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว แต่ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘การไม่มีไตสำรองไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินกับไตอีกข้างที่เหลืออยู่’
แม้จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่ผู้คนกลับยังเข้าถึงเครือข่ายได้ (?)
ในธุรกิจค้าอวัยวะออนไลน์นี้ ผู้ซื้อและผู้ขายมักติดต่อกันผ่านเอเจนท์ซึ่งจะเป็นคนที่คอยปลอมแปลงเอกสารที่จำเป็นและจัดเตรียมการผ่าตัดให้ เนื่องจากการค้าขายอวัยวะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินเดีย และอนุญาตให้บริจาคได้เฉพาะญาติเท่านั้น เอเจนท์มักจะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความและเจ้าหน้าที่ในการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลครัวเรือน ลำดับเครือญาติ และเอกสารอื่นๆ เพื่อไม่ให้ถูกทางการจับได้
ธิรี ไคน์ (นามสมมุติ) หญิงม่ายซึ่งป่วยเป็นโรคไตได้ขอซื้อไตจากชายชาวเมียนมาคนหนึ่งในราคา 12 ล้านจ๊าด (ราว 1.95 แสนบาท) โดยเอเจนท์ต้องปลอมแปลงเอกสารให้เธอแต่งงานใหม่กับชายคนนี้เพื่อแสร้งว่าเป็นการรับไตจากสามี (ตัวปลอม) ไคน์เล่าว่า เธออยู่ในรายชื่อรอรับการปลูกถ่ายไต แต่กระบวนการดังกล่าวจะต้องใช้เวลานานหลายปี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น เธออาจจะเสียชีวิตจากโรคร้ายไปแล้วก็ได้
ไคน์เล่าต่อว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่จะทำการผ่าตัด เธอและสามีปลอมๆ ต้องซักซ้อมคำตอบให้ตรงกัน เพราะพวกเขาจะต้องถูกสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการอนุมัติ เช่น พวกเขาพบกันได้อย่างไร อาหารจานโปรดของกันและกัน และหมายเลขทะเบียนรถของทั้งคู่ เป็นต้น
ตามข้อมูลของสำนักงานหัวหน้าคณะรัฐบาลทหาร มินอ่องหล่าย ระบุว่า ระหว่างปี 1995-2022 มีการปลูกถ่ายไตสำเร็จเพียง 308 รายในเมียนมา
นอกจากนี้ แพทย์คนหนึ่งไม่เปิดเผยชื่อได้เผยว่า “นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 และการรัฐประหาร การปลูกถ่ายไตจะสามารถทำได้เฉพาะที่โรงพยาบาลทหารเท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นเพียงไม่กี่กรณี”
แต่อีกด้านหนึ่งมันคือ ‘การช่วยชีวิต’

“ทั้งสถานทูตเมียนมาในอินเดียและคณะกรรมการอนุมัติต่างตระหนักดีว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นของปลอม…มันเป็นการช่วยชีวิตคน ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย”
— เจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งเคยได้รับการปลูกถ่ายไตในลักษณะเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว กล่าว
ขณะที่ ดร.สุนิล ชรอฟฟ์ ศัลยแพทย์ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ก่อตั้ง ‘Multi Organ Harvesting Aid Network’ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมการบริจาคอวัยวะในอินเดีย กล่าวว่า “ปัญหาการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องซับซ้อน มันไม่ใช่งานง่ายสำหรับคณะกรรมการอนุมัติเช่นกัน...พวกเขาพิจารณาแต่ละกรณีเป็นรายบุคคลด้วยความเห็นอกเห็นใจ...”
มันค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากเอกสารจากประเทศอื่นนั้นรับรองได้ยากมาก “เมื่อสถานทูตลงนามแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ คณะกรรมการในพื้นที่จะคิดว่านั่นเป็นความรับผิดชอบของสถานทูต พวกเขาอาจมาพร้อมกับผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติซึ่งเราไม่ทราบ” ดร.ชรอฟฟ์ กล่าว