รัฐบาลทหารเมียนมาขยายภาวะฉุกเฉินก่อนครบรอบรัฐประหารอ้างฟื้นฟูสันติภาพ (?)

1 กุมภาพันธ์ 2567 - 04:51

myanmars-embattled-junta-extends-emergency-rule-on-eve-of-coup-anniversary-SPACEBAR-Hero.jpg
  • รัฐบาลทหารกำลังเผชิญหน้ากับบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ โดยอ้างความจำเป็นในการฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพ

  • รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มชาติพันธุ์พร้อมเจรจากับกองทัพ หากว่ากองทัพสละอำนาจ และนำกองทัพมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน

ผู้ปกครองรัฐบาลทหารของเมียนมาขยายเวลาภาวะฉุกเฉินออกไปนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2021 เนื่องจากรัฐบาลทหารกำลังต่อสู้เพื่อควบคุมกลุ่มกบฏที่นองเลือดเพื่อประชาธิปไตยอยู่  

สื่อของรัฐเผยว่า “ผู้นำรัฐบาลทหาร มินอ่องหล่าย เห็นว่าจำเป็นต้องขยายเวลากฎฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนเพื่อดำเนินงานที่จำเป็น ‘เพื่อนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติของเสถียรภาพและสันติภาพ’” 

ในโอกาสครบรอบรัฐประหาร สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเน้นย้ำถึง ‘ความเร่งด่วนของการสร้างเส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยด้วยการกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือน’”  

“การแก้ปัญหาวิกฤตินี้อย่างครอบคลุมจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่อนุญาตให้ประชาชนเมียนมาใช้สิทธิมนุษยชนของตัวเองได้อย่างอิสระและสงบ การรณรงค์ใช้ความรุนแรงของทหารที่มีเป้าหมายไปที่พลเรือนและการปราบปรามทางการเมืองจะต้องยุติ และผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบ” ดูจาร์ริกกล่าว 

องค์การสหประชาชาติระบุว่า “มีผู้พลัดถิ่นแล้วราว 2.3 ล้านคน ในขณะที่ความพยายามเจรจาของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมายังไม่คืบหน้า โดยรัฐบาลเผด็จการทหารปฏิเสธที่จะเจรจากับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘ก่อการร้าย’” 

การขยายเวลาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นก่อนวันครบรอบปีที่ 3 ของกองทัพในการทำรัฐประหาร โดยอ้างถึงความผิดปกติของการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการจัดการ ซึ่งเป็นจุดจบอย่างกะทันหันและไม่เป็นที่นิยมของทศวรรษแห่งการปฏิรูปประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ 

เมื่อวันพุธ (31 ม.ค.) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มชาติพันธุ์ โดยระบุว่า พวกเขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับกองทัพ โดยขึ้นอยู่กับกองทัพว่าจะสละอำนาจ และนำกองทัพมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนหรือไม่ 

ริชาร์ด ฮอร์ซี ที่ปรึกษาอาวุโสของเมียนมาจากองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (Crisis Group) กล่าวว่า “จุดอ่อนของกองทัพถูกเปิดเผยในช่วงหลายเดือนมานี้ จากการสูญเสียทหารและดินแดน โดยได้รับแรงกดดันจากภายในต่อ มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐประหาร” 

“การยึดอำนาจของกองทัพมีความไม่แน่นอนมากกว่าครั้งใดๆ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่ากองทัพมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ต่อไป และรักษาขีดความสามารถมหาศาลสำหรับความรุนแรง โจมตีประชากรพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่สูญเสียไป โดยใช้กำลังทางอากาศและปืนใหญ่พิสัยไกล” ฮอร์ซีกล่าว 

Photo by AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์