ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจาก ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ ของ NASA ถึงโลกแล้ว

25 ก.ย. 2566 - 06:04

  • “การเปิดแคปซูลเวลาสู่ระบบสุริยะโบราณของเราถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐฯ โดยหินและดินที่รวบรวมได้นั้นเป็นตัวอย่างแรกที่ NASA นำชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก…”

  • “ตัวอย่างล้ำค่านี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ไขความลับเกี่ยวกับระบบสุริยะและความเป็นมาของมันได้ รวมถึงการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ด้วย”

nasa-returns-asteroid-samples-to-earth-SPACEBAR-Hero.jpg

ตัวอย่างแรกจากดาวเคราะห์น้อย 

กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของภารกิจ NASA หลัง ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ (OSIRIS-REx spacecraft) ได้ส่งตัวอย่างล้ำค่าจากดาวเคราะห์น้อยซึ่งอยู่ในแคปซูลมายังโลกอย่างปลอดภัยเมื่อวันอาทิตย์ (24 ก.ย.) ที่ผ่านมา โดยลงจอดบริเวณทะเลทรายยูทาห์และถึงเร็วกว่าเวลาลงจอดที่คาดการณ์ไว้ 3 นาที (เดิมคาดการณ์ 8.52 น. เวลาท้องถิ่น) ทั้งนี้ นับเป็นจุดสุดยอดของการเดินทางด้วยระยะทางประมาณ 4 พันล้านไมล์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 

“การเปิดแคปซูลเวลาสู่ระบบสุริยะโบราณของเราถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐฯ โดยหินและดินที่รวบรวมได้นั้นเป็นตัวอย่างแรกที่ NASA นำชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก…ตัวอย่างล้ำค่านี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ไขความลับเกี่ยวกับระบบสุริยะและความเป็นมาของมันได้ รวมถึงการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ด้วย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว 

“เราขอแสดงความยินดีกับทีมงาน NASA กับ ‘ภารกิจที่น่าประทับใจและซับซ้อนมาก’…ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ที่น่าตื่นเต้นในประวัติศาสตร์อวกาศ มันน่าตื่นเต้นเพราะภารกิจนี้เปิดตัวเมื่อปี 2016 มันน่าทึ่งจริงๆ” 

“แต่ในทางวิทยาศาสตร์ มันน่าตื่นเต้นเพราะนี่เป็นโอกาสอันน่าอัศจรรย์ในการศึกษาเรื่องราวที่ซับซ้อนมาก ซึ่งจะย้อนกลับไปถึงรุ่งอรุณของระบบสุริยะ (dawn of the solar system)” บรูซ เบ็ตส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสมาคมดาวเคราะห์ (The Planetary Society) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการวิจัย การสนับสนุน และการขยายงานเพื่อส่งเสริมการสำรวจอวกาศ  

ทั้งนี้ ตัวอย่างดังกล่าวถูกรวบรวมจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหรือที่เราเรียกว่า ‘เบนนู’ (Bennu) หินอวกาศซึ่งมีความสูงประมาณตึกเอ็มไพร์สเตต โดยตั้งอยู่ห่างจากโลกมากกว่า 200 ล้านไมล์ แต่บางครั้งลักษณะการโคจรนั้นแกว่งไปในระยะ 4.6 ล้านไมล์จากโลก 

จุดเด่นของเบนนูอยู่ที่ ‘อายุ’ ของมัน ซึ่งคาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจก่อตัวขึ้นในช่วง 10 ล้านปีแรกของการดำรงอยู่ของระบบสุริยะ ทำให้มันเป็นเศษซากที่เก่าแก่จากช่วงเวลาเมื่อกว่า 4.5 พันล้านปีก่อน ด้วยเหตุนี้ การศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อยจึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจยุคแรกสุดของระบบสุริยะ 

นี่แค่เริ่มต้น…ภารกิจไม่ได้จบแค่นี้

nasa-returns-asteroid-samples-to-earth-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by GEORGE FREY / AFP

นักวิจัยกระตือรือร้นมากที่จะเข้าใจว่า ‘ดาวเคราะห์น้อยมีบทบาทอย่างไรในการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก (ถ้ามี) หรืออาจมีทฤษฎีต่างๆ ที่ว่าดาวเคราะห์น้อยและดาวหางอาจขนส่งน้ำและส่วนประกอบอื่นๆ ของสิ่งชีวิตมายังโลก’ 

แม้ว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างแรกของ NASA ที่รวบรวมและนำกลับมาจากดาวเคราะห์น้อย แต่ก็ไม่ใช่ตัวอย่างแรกในประวัติศาสตร์ โดยตัวอย่างแรกมาจากภารกิจฮายาบูสะ (Hayabusa mission) ของญี่ปุ่นในปี 2010 ที่ส่งสสารไม่กี่ไมโครกรัมจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวา (Itokawa) มายังโลก ส่วนภารกิจที่ 2 เป็นของยานฮายาบูสะ 2 ที่ส่งตัวอย่างเล็กๆ จากดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) มายังโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2020 

อย่างไรก็ดี ยานโอไซริส-เร็กซ์จะยังคงสำรวจดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ ‘อะโฟฟิส’ (Apophis) หินอวกาศซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,200 ฟุตนี้ โดยคาดว่าจะโคจรเข้ามาภายในรัศมี 20,000 ไมล์จากโลกในปี 2029 ทั้งนี้ NASA จะทำการตรวจวัดวงโคจรของหินอวกาศอย่างระมัดระวัง และตั้งใจที่จะเข้าใกล้อะโฟฟิส พร้อมศึกษาวัสดุที่เป็นหินจากดาวเคราะห์น้อยด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์