‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เจ้าระเบียบและบ้างานสุดๆ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ประชากรอายุมากที่สุดในโลก แต่หารู้ไม่ว่าในอีกแง่มุมหนึ่งของประเทศแห่งนี้ที่หลายคนอาจยังไม่รู้นั้นมีความจริงอันน่าสะเทือนขวัญแฝงอยู่ในเงามืด
ตามข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ผู้สูงอายุประมาณ 68,000 คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เสียชีวิตเพียงลำพังในบ้านและไม่มีใครสังเกตเห็นทุกปี สถิติที่น่าตกใจนี้เผยให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวและน่าหดหู่ใจอย่างมากท่ามกลางดินแดนสังคมไฮเทคแห่งนี้
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีผู้เสียชีวิตเพียงลำพังในบ้านของตัวเองเกือบ 40,000 ราย หรือที่เรียกว่า ‘การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว’ (Lonely Death) ในจำนวนนี้ มีการพบศพเกือบ 4,000 ศพหลังจากเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1 เดือน และยังมีศพอีก 130 ศพที่ไม่มีใครพบเห็นเป็นเวลา 1 ปีก่อนจะถูกพบหลังจากนั้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้เสียชีวิตที่บ้านเพียงลำพังประมาณ 30% หรือ 37,227 ราย โดยผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นมากกว่า 70% ของจำนวนทั้งหมด
- กลุ่มที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป จำนวน 7,498 ราย
- รองลงมาคือ ผู้ที่มีอายุ 75-79 ปี จำนวน 5,920 ราย
- และผู้ที่อายุ 70-74 ปี จำนวน 5,635 ราย
ปรากฏการณ์ ‘โคโดคูชิ’ หรือ การตายอย่างโดดเดี่ยว
‘โคโดคูชิ’ (Kodokushi) แปลว่า ‘การตายอย่างโดดเดี่ยว’ หรือ ‘การตายโดยลำพัง’ ในภาษาญี่ปุ่น เป็นปรากฏการณ์ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียชีวิตเพียงลำพังและไม่มีใครสังเกตเห็นเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากประชากรสูงอายุในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โคโดคูชิ มีดังนี้ :
- ภูมิทัศน์ประชากรของญี่ปุ่น ประเทศนี้มีประชากรที่มีอายุมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีผู้สูงอายุจำนวนมากอาศัยอยู่คนเดียว แถมจำนวนผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปรากฏการณ์โคโดคูชิก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไหนจะการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งอาจทำให้เกิดการแยกตัวจากสังคมได้ แม้จะมีเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ชิดกันก็ตาม
- สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโคโดคูชิ เนื่องจากโครงสร้างครอบครัวขยายแบบดั้งเดิมในญี่ปุ่นกำลังอ่อนแอลง ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ได้อาศัยอยู่กับลูกหรือญาติ การแยกจากกันนี้จึงทำให้เกิดความเหงาและความโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เน้นการพึ่งพาตัวเองและไม่ต้องการเป็นภาระให้ผู้อื่นอาจทำให้ผู้คนเหล่านี้ไม่ต้องการความช่วยเหลือ ส่งผลให้ความโดดเดี่ยวของพวกเขายิ่งเลวร้ายลงไปอีก
- ภาวะตึงเครียดทางการเงิน เช่น เงินบำนาญต่ำ และเงินออมไม่เพียงพอ วิกฤตเศรษฐกิจอาจจำกัดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและบริการทางสังคมที่จำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจ้างงานแบบชั่วคราว (Gig Economy) ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการดูแลสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุลดน้อยลง
ประชากรผู้สูงอายุกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที...

ในเมืองโยโกฮามะ เขตชานเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เพราะมีผู้คนจากทั่วญี่ปุ่นอพยพมาเพื่อหลบหนีชีวิตเก่าๆ และหางานทำในเมืองใหญ่
ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเฟื่องฟูนั้น ที่นี่ก็ยังเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและเต็มไปด้วยผู้คน แต่ปัจจุบันผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่กลับเป็นผู้สูงอายุ และมักประสบปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย รวมทั้งติดสุราและสุขภาพจิตไม่ดี
“มีคนเสียชีวิตอยู่ในห้องของพวกเขา แม้กระทั่งในสภาพที่เป็นกระดูกก็มี” ดร.โอซามุ ยามานากะ แพทย์ผู้ริเริ่มการตรวจสุขภาพที่บ้าน กล่าว
ดร.ยามานากะเล่าว่า บางคนอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต และหลายคนปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ “พวกเขายอมแพ้แล้ว” ส่วน ดร.ยามานากะเองก็เคารพการตัดสินใจของพวกเขา แต่ก็จะยังตรวจสุขภาพพวกเขาต่อไป “ถ้าผมไม่ทำ คงมีคนตายอย่างโดดเดี่ยวมากมาย” ดร.ยามานากะ กล่าว
แคมเปญ ‘Zero Lonely Deaths’
โยชิโกะ ซาโตะ วัย 81 ปี เล่าว่า อพาร์ทเมนต์ขนาดใหญ่ของเธอเคยเต็มไปด้วยครอบครัวต่างๆ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเกือบ 400 คน
เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ซาโตะได้ก่อตั้งแคมเปญชุมชน ‘Zero Lonely Deaths’ ขึ้นมา หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเพื่อนรักของเธอด้วย
“ทุกปีมีผู้คน 4 ใน 5 คนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ผู้คนรอบๆ ตัวฉันเริ่มถามว่าทำไมเพื่อนดีๆ ของเราถึงต้องตายอย่างโดดเดี่ยวและเดียวดายขนาดนี้”
ซาโตะ กล่าว
ในแคมเปญนี้ จะมีกลุ่มอาสาสมัครเริ่มออกตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุในละแวกนั้นเป็นประจำ โดยกลุ่มดังกล่าวจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนถึงเหตุไม่ชอบมาพากล ตัวอย่างเช่น บริษัทไฟฟ้าจะโทรหากลุ่มอาสาสมัครหากพบว่ามีการใช้พลังงานในอพาร์ตเมนต์ที่จดทะเบียนลดลงอย่างกะทันหันและเป็นเวลานาน
แคมเปญนี้ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยชีวิตและฟื้นฟูความเป็นชุมชนอีกด้วย “หลังจากผ่านไป 5 ปี เราพูดได้เลยว่าไม่มีผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป” ซาโตะ กล่าว
ถึงกระนั้น แม้ว่าแคมเปญของซาโตะจะประสบความสำเร็จ แต่เธอยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตว่าแคมเปญริเริ่มของเธอกำลังจะสลายไป “ชุมชนต้องสร้างขึ้นโดยทุกคน แต่ในญี่ปุ่นในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้” ซาโตะ กล่าว
ญี่ปุ่นจะรับมือกับ ‘โคโดคูชิ’ อย่างไร?

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทางการจึงพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาทั้งอาการและสาเหตุพื้นฐานของโคโดคูชิด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เช่น อุปกรณ์สมาร์ทโฮม เครื่องตรวจสุขภาพแบบสวมใส่ได้ (wearable health monitors) และหุ่นยนต์สังคม (social robots) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังได้รับการพัฒนาเพื่อติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมโปรแกรมสวัสดิการสังคม การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น และความคิดริเริ่มเพื่อต่อสู้กับการแยกตัวจากสังคมด้วย
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun เมื่อวันที่ 1 เมษายนระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายที่มุ่งเป้าไปที่การต่อสู้กับความเหงาและความโดดเดี่ยวซึ่งมีมายาวนานหลายทศวรรษ
กฎหมายนี้กำหนดให้ ‘ความเหงา’ และ ‘ความโดดเดี่ยว’ เป็นปัญหาทางสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลกลางมอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดตั้งสภาระดับภูมิภาคที่มีกลุ่มสนับสนุนซึ่งได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อคอยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหงา
เมื่อต้นปีนี้ สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นคาดว่า จำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่คนเดียวจะเพิ่มขึ้นถึง 10.8 ล้านคนภายในปี 2050 ขณะที่ จำนวนครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวจะสูงถึง 23.3 ล้านครัวเรือนในปีเดียวกัน
นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ประเทศของเขาอยู่ใน ‘ภาวะที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะสังคม’ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง