นักวิทย์คาด ครึ่งปีแรก 2024 ‘โลกร้อนระอุทุบสถิติ’ จากเอลนีโญ

1 มีนาคม 2567 - 11:04

New-analysis-find-elnino-is-likely-to-break-temperature-record-in-the-first-half-of-2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การวิเคราะห์สภาพอากาศล่าสุด พบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญยิ่งเพิ่มความร้อนของโลก มีโอกาสสูงถึง 90 % ที่จะทำลายสถิติในช่วงครึ่งแรกของปี 2024

  • นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าพื้นที่ชายฝั่งประสบกับวิกฤตสภาพอากาศร้ายแรงและรวดเร็ว จากปรากฏการณ์นี้และจากฝีมือมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

เวลานี้ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศที่กำลังส่งผลต่อโลกก็คือ ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญ’ การวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะอัดความร้อนเพิ่มมากขึ้นไปอีก และส่งผลให้อุณหภูมิทำลายสถิติในแถบแอมะซอนไปจนถึงอลาสกาในปี 2024 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งของอินเดียบริเวณอ่าวเบงกอลและบริเวณทะเลจีนใต้อย่างฟิลิปปินส์ และทะเลแคริบเบียนก็มีแนวโน้มที่จะพบกับความร้อนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไปจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเอลนีโญอาจอ่อนกำลังลง

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ปลดปล่อยความร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเพิ่มอุณหภูมิพื้นผิวของโลก และทำให้ปี 2023 ทำลายสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุดด้วยความต่างจากสถิติเดิมสูงมาก ซึ่งความร้อนสุดขั้วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 เป็นช่วงที่เอลนีโญส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่อาศัยในอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน อเมริกาใต้และมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่วิกฤตสภาพอากาศรุนแรงขึ้นอย่างมาก

การวิเคราะห์ใหม่นี้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อระบุแนวโน้มของจุดความร้อนของภูมิภาคในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 โดยยังพบว่ามีโอกาสมากถึง 90% ที่อุณหภูมิโลกในช่วงเวลานี้จะบันทึกสถิติใหม่

ดร.นิง เจียง ผู้ร่วมทำงานวิจัย จากสถาบันวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาจีน ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “คลื่นความร้อนรุนแรงและพายุหมุนเขตร้อนที่รวมกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น(จากฝีมือมนุษย์) ทำให้บริเวณชายฝั่งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกำลังประสบกับวิกฤตสภาพอากาศที่เลวร้ายและรวดเร็ว ซึ่งท้าทายศักยภาพปัจจุบันในการปรับตัว การบรรเทา และการบริหารความเสี่ยง”

“ความร้อนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าเพิ่มความเสี่ยงคลื่นความร้อนในมหาสมุทรในรอบปีให้สูงขึ้น และยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดไฟป่าและผลร้ายอื่นๆในแถบอลาสกาและแอมะซอน”

ทะเลและพื้นที่ชายฝั่งต่างๆเปราะบางอย่างยิ่งเพราะมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าแผ่นดินซึ่งหมายความว่าความร้อนสามารถคงอยู่ได้เป็นเวลานานกว่า

วัฏจักรสภาพอากาศของโลกตามธรรมชาติจะอยู่ระหว่างเอลนีโญและปรากฏการณ์คู่กันที่ทำให้อากาศเย็นลงซึ่งก็คือลานีญา ปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งเสริมหรือบรรเทาแนวโน้มที่ซ่อนอยู่เกี่ยวกับความร้อนของโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในชั้นบรรยากาศ

ปรากฏการณ์เอลนีโญปกติแล้วจะรุนแรงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมและ_งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports จำลองผลกระทบจากปรากฏการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศผิวพื้นของภูมิภาค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ถึงมิถุนายน 2024_

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะทำลายสถิติในแถบแอมะซอนในปี 2024 ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดไฟป่า ซึ่งไฟป่ารุนแรงและความแห้งแล้งที่โจมตีแอมะซอนในช่วงปลายปี 2023 และการปล่อยมลพิษจากไฟป่าในเดือนกุมภาพันธ์ได้ทำลายสถิติในเดือนนั้น นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สถิติความร้อนในอลาสกาเป็นผลให้ธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งกำลังละลายและเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

“งานวิจัยนี้ใช้สถิติอุณหภูมิที่ผ่านการสังเกตและสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเอลนีโญและผลกระทบอื่นๆต่อส่วนที่เหลือของโลกในการลงความเห็นต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2024 นี่ไม่ใช่การคาดการณ์ในเชิงศิลปะแต่เป็นการเสนอสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ในปีนี้”

ศ.อดัม สเคฟ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์แห่งสหราชอาณาจักร

ศาสตราจารย์อดัม กล่าวอีกว่า “บางภูมิภาค อย่างเช่นแอฟริกาและกรีนแลนด์ มีข้อมูลเดิมที่แย่และยากที่จะประเมินด้วยวิธีการเหล่านี้ แต่พื้นที่เหล่านี้ก็ได้รับการเน้นว่าเป็นภูมิภาคที่ระดับความร้อนจะเกินพิกัดอย่างชัดเจนในปีนี้จากแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์