จับตาโควิด ‘XBB.1.5’ เคาะประตูส่งสัญญาณเตือนไทย หลังทำสหรัฐฯ - อังกฤษติดเชื้ออ่วม

3 ม.ค. 2566 - 07:12

  • กว่า 41% ของผู้ป่วยรายใหม่ทั่วทั้งสหรัฐฯ ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

  • สหราชอาณาจักรได้เกิดการแพร่ระบาดของ XBB.1.5 หลังจากพบผู้ป่วย 4 ใน 10 รายที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้

  • XBB กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ควรจับตา

new-covid-variant-XBB-1-5-will-hit-the-world-SPACEBAR-Thumbnail
เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย ‘XBB.1.5’ กำลังเป็นที่รู้จับตาในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยนักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่า โควิดสายพันธุ์ดังกล่าวนั้น สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูง และมีประสิทธิภาพในการจับกับเซลล์มากกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ  

ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า กว่า 41% ของผู้ป่วยรายใหม่ทั่วทั้งสหรัฐฯ ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจากเดิม XBB.1.5 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 21.7% 

ขณะที่ในสหราชอาณาจักรได้เกิดการแพร่ระบาดของ XBB.1.5 หลังจากพบผู้ป่วย 4 ใน 10 รายที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้  

ผู้เชี่ยวชาญในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นเหมือน ‘สัญญาณเตือน’ และอาจทำให้ระบบสาธารณสุขกลับมาวิกฤตอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ระบบสาธารณสุขเคยเสียหายจากการเผชิญกับโควิดและไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า 

CNBC ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ กำลังเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ XBB อย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์หลายอย่างที่อาจทำให้วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพลดน้อยลงและทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้น  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/11qC0AvWiau9y6gdyQ8U24/5c5888da094ca7bbfc8bb486a31e7cfd/new-covid-variant-XBB-1-5-will-hit-the-world-SPACEBAR-Photo01
Photo: Noel CELIS / AFP

‘XBB’ สายพันธุ์ใหม่ที่ควรจับตา

XBB ได้รับการระบุครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 มันกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วที่นั่น รวมถึงในสิงคโปร์ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้กลายพันธุ์เป็นตระกูลของตัวแปรย่อย ซึ่งได้แก่ XBB.1 และ XBB.1.5 

แอนดรูว เปคอสซ์ นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอปกินส์กล่าวว่า XBB.1.5 แตกต่างจากสมาชิกสายพันธุ์ย่อยตัวอื่นๆ เนื่องจากการกลายพันธุ์เพิ่มเติมของมันทำให้มันสามารถจับกับเซลล์ได้ดีขึ้น ซึ่งไวรัสจำเป็นต้องเกาะติดกับเซลล์อย่างแน่นหนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเข้าสู่ร่างกาย และนั่นอาจจะช่วยให้ไวรัสมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแพร่ระบาดสู่คน  

ยุนลอง ริชาร์ด เชา นักวิทยาศาสตร์และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ข้อมูลบนทวิตเตอร์ โดยระบุว่า XBB.1.5 สามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีที่คอยป้องกันได้ดีไม่เท่ากับสายพันธุ์ XBB.1 ที่สามารถหลีกเลี่ยงแอนติบอดีได้ดี อย่างไรก็ตาม XBB.1 จับกับเซลล์ได้ไม่ดีเท่า XBB.1.5 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
 

วัคซีนปัจจุบันยังป้องกันได้ไหม

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เตือนว่าการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ย่อย เช่น XBB อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อย XBB ยังสามารถต้านทานต่อ ‘Evusheld’ ซึ่งเป็นแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือภูมิต้านทานสำเร็จรูปที่ผู้คนจำนวนมากที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายการดื้อยาของสายพันธุ์ย่อย XBB ต่อแอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อว่า ‘มันน่าตกใจ’ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบว่า สายพันธุ์ย่อย XBB มีประสิทธิภาพในการหลบเลี่ยงการป้องกันจากวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับสายพันธุ์โอมิครอน มากกว่าสายพันธุ์ย่อยอย่าง BQ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิได้สูงเช่นกัน 

เดวิด โฮ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เห็นด้วยกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ว่า XBB.1.5 อาจมีความได้เปรียบในการแพร่กระจาย เพราะมันจับกับเซลล์ได้ดีกว่า XBB ตัวอื่นๆ อีกทั้ง XBB.1.5 มีภูมิคุ้มกันที่หลีกเลี่ยงได้พอๆ กับ XBB และ XBB.1 ซึ่งเป็น 2 ตัวแปรย่อยที่ต้านทานต่อแอนติบอดีป้องกันจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนมากที่สุดจนถึงตอนนี้ 

แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดของสหรัฐฯ กล่าวว่า สายพันธุ์ย่อย XBB สามารถลดประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้น และทำให้เกิดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า แม้ว่าจะมีการป้องกันแต่ก็ยังไม่ใช่การป้องกันที่ดีที่สุด  

เฟาซี กล่าวว่า อย่างในกรณีของสิงคโปร์ ซึ่งมีการติดเชื้อจากสายพันธุ์ XBB เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน ขณะที่เปคอสซ์กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.5 ในสหรัฐฯ อาจเพิ่มสูงขึ้นหลังจากช่วงวันหยุดนี้ และดูเหมือนว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจะป้องกันการป่วยร้ายแรงได้  

“มันดูเหมือนวัคซีนเข็มกระตุ้นกำลังทำหน้าที่ป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ชะลอการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล” เปคอสซ์กล่าวและเสริมอีกว่า สิ่งเหล่านี้มันเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อ่อนแอ เพื่อการป้องกันอย่างต่อเนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ๆ เหล่านี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหรัฐฯ หลายๆ คนเรียกร้อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น และรับยาแพ็กซ์โลวิด เพื่อต้านไวรัสหากมีการพบว่าติดเชื้อ 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุในการศึกษาผ่านวารสาร Cell ว่า การค้นพบของเราบ่งชี้ว่าสายพันธุ์ย่อย BQ และ XBB ก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ ทำให้แอนติบอดีไม่ทำงาน และอาจได้เปรียบจากการหลีกเลี่ยงแอนติบอดี 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้จะมีแนวโน้มทำให้การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่วัคซีนก็ยังแสดงให้เห็นว่ายังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และอาการเจ็บป่วยร้ายแรงได้  

“ดังนั้น มันน่ากังวลว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่นี้อาจเป็นอันตรายต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีน (breakthrough infection) รวมทั้งการติดเชื้อซ้ำ (re-infection) เพิ่มขึ้น” งานวิจัยในวารสาร Cell ระบุ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/Sb8KnLKq8ruSRKbzwgoqM/475898146633e9e9719cc3abaebea06d/new-covid-variant-XBB-1-5-will-hit-the-world-SPACEBAR-Photo02
Photo: Noel Celis / AFP

XBB ใน ‘ประเทศไทย’ น่ากลัวแค่ไหน?

เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2022 ที่ผ่านมาได้มีการเตือนให้จับตาสายพันธุ์ XBB จาก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจชื่อ ‘หมอมนุญ ลีเชวงวงศ์ FC’ ว่า ประเทศไทยต้องจับตาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อะไรที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย เพราะหลายครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นอีกไม่นานก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นั้นในประเทศไทย 

ดูย้อนหลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาพบครั้งแรกในประเทศอินเดียปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อมาแพร่กระจายเร็ว เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก และประเทศไทยก็มีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่จากสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปี พ.ศ.2564  

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ประเทศอินเดียพบไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ครั้งแรก เชื้อสายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่า เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่ระบาดในประเทศอินเดีย และกระจายไปหลายประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75  

ประเทศอินเดียเริ่มเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย ประเทศไทยเตรียมตัวได้เลยว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 อีกไม่นานก็จะมีสายพันธุ์ XBB แพร่ระบาดเหมือนประเทศอินเดีย เพราะสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม  

ปัจจุบันไวรัสโควิดสายพันธ์ุใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทั่วโลก โชคดีที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักและเสียชีวิตเหมือนสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม คือได้วัคซีนครบ 2 โดสและตามด้วยเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2AVkhY7vAyFoGX6pU5v3M8/84e211c3f92c741c37813365291823f1/new-covid-variant-XBB-1-5-will-hit-the-world-SPACEBAR-Photo03
Photo: เฟซบุ๊กหมอมนุญ ลีเชวงวงศ์ FC
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุด้วยว่า พบ XBB ที่แพร่ระบาดแล้วในอย่างน้อย 70 ประเทศ และทำให้เกิดการติดเชื้อในบางส่วนของเอเชีย รวมถึงอินเดียและสิงคโปร์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์