‘ประธานสภาอังกฤษ’ ตำแหน่งที่ไม่มีผู้แทนคนไหนอยากเป็น

27 พฤษภาคม 2566 - 03:32

new-elected-dragging-the-speaker-of-parliament-SPACEBAR-Thumbnail
  • ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ บทบาทประธานสภาในอดีตคือตำแหน่งที่ไม่มีส.ส.คนใดอยากรับหน้าที่นี้ เนื่องจากเคยเป็นตำแหน่งที่เสี่ยงอันตรายถึงขั้นอาจตายได้

  • ประธานสภาที่ได้รับเลือกใหม่จะถูกลากเข้าสภาโดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/JElSV4xTaJRK9PsOBXHNa/1a168a7452d18ab38a4280452d8b08a5/new-elected-dragging-the-speaker-of-parliament-SPACEBAR-Photo01
หลังการเลือกตั้งไทยที่เราพอจะรู้จักหน้าค่าตา “ว่าที่” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในฐานะประมุขฝ่ายบริหารแล้ว แต่อีกตำแหน่งที่ยังคงไม่มีความชัดเจน และกำลังเป็นข้อถกเถียงวงกว้างจากบรรดาผู้สนับสนุนพรรคแกนนำขั้วรัฐบาลทั้งสองสีคือตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ  

บทบาทของประธานสภาผู้แทนราษฎรนับว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะบทบาทควบคุมกระบวนการตรากฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ตลอดจนเป็นผู้คุมเกมการอภิปรายของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงเป็นผู้คุมการบรรจุญัตติที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านนำเสนอ 

นอกจากบทบาทในรัฐสภาแล้ว ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรยังมีหน้าที่นำชื่อบุคคลขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ  

นอกจากนี้ในต่างประเทศบทบาทของประธานสภาผู้แทนราษฎรยังมีความสำคัญมากกว่าแค่บทบาทในรัฐสภา ที่สหรัฐอเมริกาผู้ดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนราษฎรนับเป็นบุคคลลำดับ 2 ที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป หากในกรณีที่ประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามแนวทางลำดับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ (United States presidential line of succession) 

หากพูดถึงการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนฯ ในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ (Westminster Parliamentary system) เราจะเห็นว่าบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานสภามีความโดดเด่นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายในห้องประชุมที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านเผชิญหน้าดีเบต ประธานสภาจะนั่งอยู่บนบัลลังก์กึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย แล้วตะโกนคำว่า “Order!” อยู่เป็นระยะเพื่อเตือนให้สมาชิกทั้งสองฝั่งอยู่ในระเบียบระหว่างการปะทะดีเบต 

อย่างไรตาม ในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ บทบาทประธานสภาในอดีตคือตำแหน่งที่ไม่มีส.ส.อังกฤษคนใดอยากรับหน้าที่นี้ เนื่องจากเคยเป็นตำแหน่งที่เสี่ยงอันตรายถึงขั้นอาจตายได้เลย จึงเกิดประเพณี “ลากตัวประธานสภา” หรือ (Dragging the Speaker of the House of Commons) ที่รัฐสภาอังกฤษจนถึงรัฐสภาของชาติในเครือจักรภพตั้งออสเตรเลีย แคนาดา จนถึงแอฟริกาใต้ ยังคงยึดถือปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6A9kq4P5KKXKhHJlV22uZW/82e9ebd0d09fb2d4e4270ba6a0820263/new-elected-dragging-the-speaker-of-parliament-SPACEBAR-Photo02
Photo: ผู้นำฝ่ายค้านและรัฐบาล ลากตัว Masizole Mnwasela หลังได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภาแอฟริกาใต้คนใหม่
มีการถกเถียงทางประวัติศาสตร์มากมายว่า ใครคือผู้ทำหน้าที่ประธานสภาคนแรกของประวัติศาสตร์อังกฤษเมื่อปี 1258 ที่อังกฤษมีระบบรัฐสภาขึ้นครั้งแรก แต่ก็ไร้ซึ่งหลักฐานอย่างชัดเจน กระทั่งปี 1377 พบบันทึกหลักฐานปรากฏชื่อ เซอร์ โธมัส ฮังเกอร์ฟอร์ด (Sir Thomas Hungerford) เป็นประธานสภาอย่างเป็นทางการ  

ตำแหน่งดังกล่าวในเวลานั้นเปรียบเสมือน “ตัวแทน” ของสภาสามัญ ในการนำเรื่องหรือความต้องการด้านต่างๆ จากสภาไปอธิบาย เกลี้ยกล่อม หว่านล้อม ให้กษัตริย์ยอมอนุมัติหรือเห็นด้วยกับสภา (เป็นตัวแทนของเจตจำนงของสามัญชน) ดังนั้นงานนี้อาจเป็นอันตรายได้ บางครั้งกษัตริย์หรือราชินีจะโกรธและถูกคุกคามจากความคับข้องใจที่นำเสนอในนามของประชาชน จนผู้แทนสภาถูกลงโทษ หรืออาจถูกสั่งจำคุก  

ประเพณีการลากตัวประธานสภาเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปีค.ศ. 1377 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรอยุธยา) หลังจากเกิดเหตุประหารชีวิตประธานสภาคนก่อน เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวแทนสภาสามัญไปแจ้งข่าวสารต่อกษัตริย์ แต่กษัตริย์กลับไม่พอพระทัยจึงสั่งลงโทษ 

 ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ เซอร์ ปีเตอร์ เดอลาแมร์ ที่ในเดือนเดือนพฤศจิกายนค.ศ. 1376 เดอลาแมร์ถูกจองจำในปราสาทนอตติงแฮม ซึ่งตรงกับช่วงที่เรียกว่า Bad Parliament  ในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ในเวลานั้นเดอลาแมร์พยายามขออภัยโทษ แต่ต่อมาเขาก็ได้รับอิสรภาพในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1377 หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โดยได้รับอภัยโทษจากพระเจ้าริชาร์ดที่ 3  เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานรัฐสภาอีกครั้งในรัฐสภาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1377 

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษพบว่าช่วงระหว่างปี 1394-1535 มีประธานสภาถูกบั่นศีรษะประหารชีวิตถึง 7 คน ด้วยเหตุนี้ทำให้บรรดาผู้แทนในสภาต่างไม่หวาดเกรงกลัวที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว จึงเกิดเหตุการณ์ที่เพื่อนสมาชิกในสภาต้องลากตัวคนที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาขึ้นนั่งบนบัลลังก์เพื่อทำหน้าที่เสี่ยงตายดังกล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/51HmcedwuOmCrZmp6KDZHk/7224519afb3788d8b9e1ce1b38a6cb57/new-elected-dragging-the-speaker-of-parliament-SPACEBAR-Photo03
Photo: ส.ส. ออกซ์ลีย์ มิลตัน ดิค (Oxley Milton Dick) ถูก “ลาก” ไปที่เก้าอี้ประธาน ตามธรรมเนียมหลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาออสเตรเลีย
แม้ว่าต่อมาภายหลังช่วงคริสตวรรษที่ 15 อังกฤษเกิดความวุ่นวายภายในหลายเหตุการณ์ การแทรกแซงทางการเมืองของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ที่มีการประหารกษัตริย์อังกฤษครั้งแรก จนถึงสงครามกลางเมือง รัฐสภาอังกฤษได้ปฏิรูปการเมืองจนทำให้พระราชอำนาจของกษัตริย์ไม่อาจก้าวล่วงกิจการของรัฐสภาได้ ความหวาดกลัวในการทำหน้าที่เสี่ยงตายของประธานสภาจึงหายไป แต่ถึงกระนั้นประเพณีการลากตัวประธานสภาที่ได้รับเลือกมาใหม่ ก็ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะรัฐสภาที่ยังคงใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์  

ปัจจุบันในพิธีเปิดรัฐสภาโดยเฉพาะประเทศเครือจักรภพทั้ง ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ต่างก็ยังคงรักษาประเพณีตามแบบฉบับรัฐสภาอังกฤษเอาไว้ เกือบทั้งหมดตั้งแต่ธรรมที่สภาสามัญปิดประตูใส่ Black Rod หรือผู้แทนกษัตริย์ ไปจนถึงประธานสภาที่ได้รับเลือกใหม่จะต้องแสร้งทำเป็นไม่เต็มใจที่จะรับตำแหน่ง และถูกลากไปโดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นประเพณีแล้ว อีกนัยหนึ่งยังเป็นการสะท้อนว่าประธานรัฐสภาคนใหม่ที่ได้รับเลือกนั้น ได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐสภาในเครือจักรภพอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็มีการถกเถียงเช่นกันว่าประเพณีรูปแบบนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เนื่องจากการลากตัวประธานสภาดูเหมือนเป็นเรื่องสนุกสนานของบรรดาสมาชิกในสภามากกว่า ทั้งยังสะท้อนว่าแนวคิดการปกครองแบบจักรวรรดิอังกฤษยังคงมีอิทธิพลเหนือการปกครองของพวกเขา ซึ่งควรจะเป็นประเพณีในรูปแบบเฉพาะของพวกเขาเอง 

ตำแหน่งประธานสภานับในระบบสภาแบบเวสต์มินสเตอร์นับว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งนี้ยังมาพร้อมกับสวัสดิการแทบไม่ต่างกับนายกรัฐมนตรี ทั้งรถยนต์ประจำตำแหน่ง ทีมอารักขา บ้านพักประจำตำแหน่ง จนถึงเงินสวัสดิการหลังพ้นตำแหน่ง จากเดิมในประวัติศาสตร์เป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ปัจจุบันประธานสภาคือตำแหน่งประมุขนิติบัญัติอันทรงเกียรติที่สำคัญไม่แพ้ประมุขฝ่ายบริหาร 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์