ไทยเอาบ้างไหม? นิวยอร์กเตรียมเก็บ ‘ค่ารถติด’ แก้ปัญหาจราจรหนาแน่น

29 มีนาคม 2567 - 07:35

new-york-become-1-st-north-american-city-charge-drivers-congestion-tolls-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ผู้สนับสนุนให้มีการเก็บค่าผ่านทางกล่าวว่า จะผลักดันให้ผู้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดมลพิษ ลดความแออัดเพื่อเร่งความเร็วของรถโดยสารสาธารณะและยานพาหนะฉุกเฉิน

  • แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นภาระของคนงาน และจะเพิ่มราคาสินค้าหลัก (สินค้าอุปโภคบริโภค) ที่ต้องอาศัยรถบรรทุกของเข้าเมือง

  • หากต้องการเข้าสู่แมนฮัตตัน ผู้เดินทางจากรัฐและเขตอื่นๆ จะต้องจ่ายค่าผ่านทางสะพานและอุโมงค์ประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ

นิวยอร์กกำลังจะกลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่ต้องเก็บค่าผ่านทางสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ที่มุ่งหน้าสู่ย่านธุรกิจที่พลุกพล่านที่สุดของแมนฮัตตัน หลังจากเจ้าหน้าที่ขนส่งอนุมัติค่าธรรมเนียม 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 550 บาท)  

เมื่อวันพุธ (27 มี.ค.) ที่ผ่านมา สมาชิกของคณะกรรมการการคมนาคมขนส่งนครหลวง (MTA) ลงมติไฟเขียวสำหรับแผนกำหนด ‘ค่าผ่านทางจราจรติดขัด’ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากแผนดังกล่าวล่าช้าไปตั้งแต่ปี 2019 เพราะโควิดระบาดใหญ่

การลงคะแนนเสียงดังกล่าวอนุญาตให้มีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง 15 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถยนต์โดยสารส่วนใหญ่ที่ขับเข้าสู่แมนฮัตตันทางใต้ของถนนสายที่ 60 (60th Street) ซึ่งเป็นโซนทางใต้ของเซ็นทรัลพาร์ค ในช่วงเวลากลางวัน ทั้งนี้ ค่าผ่านทางจะสูงขึ้นสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ และลดลงสำหรับการเข้าเมืองในช่วงดึก เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์

ผู้สนับสนุนให้มีการเก็บค่าผ่านทางกล่าวว่า จะผลักดันให้ผู้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดความแออัดเพื่อเร่งความเร็วของรถโดยสารสาธารณะและยานพาหนะฉุกเฉิน ลดมลพิษ และจะระดมเงินที่จำเป็นไปปรับปรุงระบบรถไฟใต้ดิน 

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นภาระของคนงาน และจะเพิ่มราคาสินค้าหลัก (สินค้าอุปโภคบริโภค) ที่ต้องอาศัยรถบรรทุกของเข้าเมือง 

“โครงการนี้จะช่วยลดการจราจรในย่านศูนย์กลางธุรกิจของแมนฮัตตัน ลดมลพิษ และจัดหาเงินทุนที่สำคัญสำหรับการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน” MTA กล่าว 

หากต้องการเข้าสู่แมนฮัตตัน ผู้เดินทางจากรัฐและเขตอื่นๆ จะต้องจ่ายค่าผ่านทางสะพานและอุโมงค์ประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าธรรมเนียมการจราจรจะนอกเหนือจากนั้น โดยค่าจอดรถรายวันอยู่ที่ 25-50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 915-1,825 บาท) ในเขตการจราจรติดขัด ซึ่งรวมถึงย่านใกล้เคียงหลายสิบแห่งในแมนฮัตตันที่อยู่ทางใต้ของถนนสายที่ 60 

ทั้งนี้ ค่าผ่านทางจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวันและขนาดของยานพาหนะ ตั้งแต่ 1.75 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65 บาท) สำหรับรถจักรยานยนต์ข้ามคืนไปจนถึง 36 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,315 บาท) สำหรับรถบัสเที่ยวชมสถานที่และรถบรรทุกพร้อมรถพ่วงในระหว่างวัน ระยะเวลาค้างคืนจะเริ่มตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 5.00 น. ในวันธรรมดา และตั้งแต่ 21.00 น. ถึง 9.00 น. ในวันหยุดสุดสัปดาห์ 

ผู้เดินทางที่ไม่มี ‘E-ZPasses’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลค่าผ่านทางจากระยะไกล จะต้องจ่ายมากขึ้น โดยเครื่องอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติจะระบุตัวตนผู้ขับขี่เพื่อให้สามารถเรียกเก็บเงินทางไปรษณีย์ได้ 

ส่วนแท็กซี่จะเรียกเก็บเงินผู้โดยสาร 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45 บาท) ต่อเที่ยวที่เข้าถึงโซนดังกล่าว ขณะที่การเดินทางผ่านแอปจะเรียกเก็บเงิน 2.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 91 บาท) 

มีข้อยกเว้นบางประการที่ยังคงอยู่ รวมถึงบัตรผ่านฟรีสำหรับรถฉุกเฉิน ยานพาหนะเฉพาะในเมือง และรถประจำทางที่มีเส้นทางสาธารณะเป็นประจำ ยานพาหนะที่บรรทุกผู้พิการและผู้สัญจรที่มีรายได้น้อยบางรายก็ได้รับบัตรผ่านเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้มีรายได้น้อยก็มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดและเครดิตภาษีด้วย 

อย่างไรก็ดี การลงคะแนนเสียงเมื่อวันพุธเกิดขึ้นภายหลังการแสดงความคิดเห็นของสาธารณชนเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งผู้ขับขี่มากกว่า 100 ประเภทขอให้ได้รับการยกเว้นจากค่าผ่านทาง มีตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ไปจนถึงกลุ่มใหญ่ เช่น ผู้อยู่อาศัยในรัฐใกล้เคียงอย่างนิวเจอร์ซีย์และคอนเนตทิคัต 

แผนของนิวยอร์กซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการหลายปีถูกฟ้องร้องจากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเรียกร้องให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่แผนจะดำเนินต่อไป ในเอกสารของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐโต้แย้งว่า “แผนดังกล่าวจะทำให้ผู้เดินทางไปกลับเป็นประจำต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายล้าน” แต่เงินที่เก็บจะไม่ได้เป็นภาษีไปบำรุงหน่วยงานขนส่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่จะไปเป็นภาษีของนิวยอร์กกับคอนเนตทิคัต 

หากแผนดังกล่าวสามารถรอดพ้นจากความท้าทายทางกฎหมายเหล่านั้น นิวยอร์กจะกลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่ดำเนิน ‘โครงการจ่ายค่าผ่านทางแก้ปัญหาจราจรติดขัด’ ซึ่งแผนการดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้แล้วในลอนดอน สตอกโฮล์ม มิลาน และสิงคโปร์ 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของโตรอนโตและแวนคูเวอร์ได้ศึกษาปัญหาเรื่องการกำหนดค่าผ่านทางจราจรติดขัด แต่ก็ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการดำเนินโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ 

การศึกษาล่าสุดจากบริษัทนำทางด้วยดาวเทียม ‘TomTom’ ซึ่งศึกษาเมืองต่างๆ 387 เมืองทั่วโลกพบว่า “โตรอนโต อยู่ตามหลังลอนดอนและดับลิน (เมืองหลวงไอร์แลนด์) เท่านั้นสำหรับ ‘ระยะเวลาเดินทางเฉลี่ยที่เลวร้ายที่สุดต่อกิโลเมตร’ ” 

Photo by Ed JONES / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์