กรุงเทพฯ ระวัง! กรณีศึกษามหาครนิวยอร์กกำลังจมเพราะตึกระฟ้า

23 พฤษภาคม 2566 - 09:13

newyork-city-bangkok-is-sinking-weight-of-skyscrapers-SPACEBAR-Hero
  • มหานครนิวยอร์กเมืองศิวิไลซ์ที่ในภายภาคหน้าอาจจมใต้บาดาลเพราะตึกสูงเสียดฟ้า

  • ขณะที่กรุงเทพฯ อดีตจุดยุทธศาสตร์ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นผลเสียที่กำลังจะสร้างหายนะในอนาคต

เมื่อมหานครนิวยอร์กกำลังจมลงใต้บาดาล

ใครจะไปรู้ว่ามหานครที่ไม่เคยหลับใหลอย่างนิวยอร์กซิตี้กำลังจะจมอยู่ใต้บาดาล เมื่อเร็วๆ นี้งานวิจัยใหม่ค้นพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากน้ำหนักที่มากเกินปกติของตึกอาคารสูงตระหง่าน โดยนิวยอร์กจะจมดิ่งลงเรื่อยๆ ประมาณ 1-2 มิลลิเมตรในแต่ละปีโดยเฉลี่ย ซึ่งบางพื้นที่อาจจมดิ่งลงในอัตรา 2 เท่า และอาจส่งผลให้ภัยคุกคามน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงเกิดขึ้นบ่อยมากอีกด้วย  

การจมครั้งนี้ทำให้ผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลรุนแรงขึ้นซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก เนื่องจากธารน้ำแข็งของโลกละลายหายไปและน้ำทะเลขยายตัวเพราะความร้อนจากทั่วโลก ขณะเดียวกันน้ำทะเลที่ขนาบข้างนครนิวยอร์กก็สูงขึ้นประมาณ 9 นิ้วหรือ 22 ซม. นับตั้งแต่ปี 1950  

และแน่นอนว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จากพายุก็อาจเกิดขึ้นบ่อยกว่าปัจจุบันถึง 4 เท่าภายในสิ้นศตวรรษนี้เนื่องจากการผลของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงพายุเฮอร์ริเคนที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง 

“ประชากรที่กระจุกตัวอยู่มากถึง 8.4 ล้านคนกำลังเผชิญอันตรายจากน้ำท่วมในนครนิวยอร์กในระดับต่างๆ กัน” รายงานฉบับใหม่ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Earth's Future ระบุ 

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่นครนิวยอร์กกำลังเผชิญก็จะเกิดขึ้นกับเมืองชายฝั่งอื่นๆ ทั่วโลกด้วยเหมือนกันเมื่อวิกฤตสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น “การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก การกระทำที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนที่เพิ่มขึ้นนั้นบ่งบอกถึงปัญหาที่เร่งตัวขึ้นตามพื้นที่ชายฝั่งและริมฝั่งแม่น้ำ” ทีมวิจัยกล่าว 

ตึกระฟ้า = ปัญหา?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4SZdIh94VgakONqi61VUU3/bfc98b33bdc0eee30fc70613ce352e7a/newyork-city-bangkok-is-sinking-weight-of-skyscrapers-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP / Angela Weiss
แนวโน้มนี้กำลังถูกขยายโดยโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นจำนวนมากในนครนิวยอร์ก ซึ่งนักวิจัยคำนวณว่าโครงสร้างของเมือง รวมถึงตึกเอ็มไพร์สเตตและตึกไครสเลอร์อันเลื่องชื่อมีน้ำหนักรวมกันถึง 1.68 ตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของช้าง 140 ล้านตัวโดยประมาณ 

กองน้ำหนักมหาศาลนี้กำลังกดทับวัสดุต่างๆ ที่พบในพื้นดินของนิวยอร์กซิตี้ ขณะที่อาคารใหญ่ๆ หลายแห่งต่างตั้งอยู่บนพื้นหินแข็งอย่างหินซีสต์ (schist) แต่ก็มีทรายและดินเหนียวผสมกันด้วย ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือ ผลกระทบจากการจมตามธรรมชาติตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งแผ่นดินตอบสนองต่อการละลายของธารน้ำแข็งขนาดใหญ่หลังจากสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย 

“ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนกในทันที แต่มีกระบวนการต่อเนื่องที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น…ยิ่งดินอ่อนลงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแรงอัดจากอาคารมากเท่านั้น มันไม่ใช่ความผิดพลาดที่จะสร้างอาคารขนาดใหญ่เช่นนี้ในนิวยอร์ก แต่เราต้องระลึกไว้เสมอว่าทุกครั้งที่คุณสร้างบางสิ่งที่นั่น คุณต้องลงแรงลงดินมากขึ้นอีกนิด” ทอม พาร์สัน นักธรณีฟิสิกส์จากกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (US Geological Survey) ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยกล่าว 

ในปี 2012 นิวยอร์กเองก็ถูกพายุเฮอร์ริเคนแซนดีพัดถล่มส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบางส่วนของสถานีรถไฟใต้ดินและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างอย่างมาก จากนั้นในปี 2021 พายุเฮอร์ริเคนไอดาก็ได้พัดถล่มพื้นที่ต่างๆ ของเมืองซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผู้คนจมน้ำตายไปหลายคน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เลวร้ายลงก็เพราะผลกระทบของภาวะโลกร้อน 

“นิวยอร์กและเมืองชายฝั่งอื่นๆ ต้องได้รับการวางแผนสำหรับเรื่องนี้ การสัมผัสกับน้ำทะเลซ้ำๆ ก็สามารถกัดกร่อนเหล็กและทำให้อาคารไม่มั่นคงได้ เห็นได้ชัดว่าน้ำท่วมก็ยังคร่าชีวิตผู้คนอีกด้วย ซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด” พาร์สันกล่าว 

กรุงเทพฯ ก็กำลังจะจมเหมือนกัน!

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2UVZ81ogGFkXYr7oSLxaiy/d785d356d28df084caa2dcd828432041/newyork-city-bangkok-is-sinking-weight-of-skyscrapers-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP / Romeo GACAD

‘กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง…’

เมืองหลวงของไทยแห่งนี้เป็นอีกเมืองที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าก็อาจจะกลายเป็นทะเลบาดาลในที่สุด ด้วยผังเมืองที่ขนาบด้วยแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา และแน่นอนว่าโครงสร้างของตึกที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นมากอีกด้วยจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายปีมานี้ทำให้กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมบ่อย เพราะเหตุนี้ช่วงที่ผ่านมาเราจึงอาจเคยได้ยินกระแสข่าวมาบ้างว่าจะมีการย้ายเมืองหลวง แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดี แม้อิงตามยุทธศาสตร์แต่โบราณกาลจะพบว่าเมืองหลวงแห่งนี้ถือว่าตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีทีเดียว ทว่าหากอิงตามหลักธรณีวิทยาก็กล่าวได้ว่ากรุงเทพฯ นั้นตั้งอยู่บนดินอ่อนนั่นเอง ซึ่งเป็นบริเวณผืนดินแอ่งน้ำสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา  

และนี่แหละที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้ผังเมืองของกรุงเทพฯ ไม่แข็งแรงอีกต่อไปในการรับน้ำหนักของตึกระฟ้าที่กำลังก่อตัวขึ้นมามากมาย ซึ่งการจมของเมืองส่วนใหญ่ก็เกิดจากการขยายตัวของเมืองนั่นเอง ปัจจุบันยังพบว่าแค่ในเขตกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวนั้นมีตึกอาคารสร้างเสร็จที่ความสูงอย่างน้อย 150 เมตร (492 ฟุต) มากกว่า 160 หลังเลยทีเดียว 

จากรายงานของธนาคารโลกเรื่อง ‘ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในเมืองใหญ่ชายฝั่งเอเชีย’  ระบุว่า “กรุงเทพฯ รวมถึงนครโฮจิมินห์ของเวียดนามกำลังประสบปัญหาความเสียหายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2008-2050 เนื่องจากแผ่นดินทรุด โดยมีการคาดการณ์ว่าเกือบร้อยละ 70 ของการเพิ่มขึ้นของน้ำท่วมในปี 2050 สำหรับกรุงเทพฯ นั้นก็จะเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินด้วย” 

ด้านสภาปฏิรูปแห่งชาติไทยคาดการณ์ว่า กรุงเทพฯ ที่อยู่ใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผ่นดินทรุดนั้นอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในเวลาไม่ถึง 15 ปี ซึ่งต้องเผชิญน้ำท่วมเมืองที่รุนแรงมากขึ้นที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากมายจนเกินขอบเขตทางภูมิศาสตร์ 

ขณะเดียวกันการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นก็เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาและปรับปรุงความน่าอยู่ของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินอาจมีความสำคัญมากกว่า  

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เวนิส และนิวออร์ลีนส์ ต่างก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น 3 เมืองที่จะจมเร็วกว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า จากการประมาณการบางส่วนพบว่า บางส่วนของกรุงเทพฯ กำลังจมลง 2 เซนติเมตรต่อปี และสำหรับบางส่วนของเมืองที่ตอนนี้อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงครึ่งเมตรก็น่าเป็นห่วงอย่างมาก 

หากไม่เร่งประเมินสาเหตุการทรุดตัวของดินในกรุงเทพฯ รวมถึงไม่มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่ปรานีเชียวล่ะ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์