เมื่อกองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์เอาจริง พร้อมถอนการลงทุนทุกบริษัทที่ละเมิดกฎ

23 ธ.ค. 2565 - 10:45

  • กองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

norway-sovereign-wealth-fund-excludes-firms-on-rights-concerns-SPACEBAR-Hero
เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนความมั่งคั่งของนอร์เวย์ (Norway Sovereign Wealth Fund) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศถอนการลงทุนออกจาก บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เพราะกังวลการลงทุนในเมียนมาของ 2 บริษัท มีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิพลเรือนในภาวะสงคราม 

บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. กำลังร่วมมือกับบริษัทน้ำมัน Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐในแหล่งก๊าซนอกชายฝั่งสามแห่งในเมียนมา 

ขณะที่ OR เป็นพันธมิตรในการร่วมทุนกับ Myanmar Economic Corporation (MEC) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททางทหารของกองทัพ เพื่อก่อสร้างและดำเนินการคลังน้ำมันและโรงบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว 

กองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1990 (ได้รับเงินทุนก้อนแรกเมื่อปี 1996) เพื่อนำเงินกำไรส่วนเกินจากกิจการน้ำมันและแก๊สของประเทศไปลงทุนในกิจการต่างๆ ทั่วโลก 9,338 บริษัท รวมทั้งแอปเปิ้ล เนสท์เล่ ไมโครซอฟท์ ซัมซุง ในกว่า 70 ประเทศ โดยมีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นเจ้าของ 

โดยเฉลี่ยแล้วกองทุนฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 1.3% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในโลก มีมูลค่ารวมที่ราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และด้วยจำนวนประชากรราว 5.2 ล้านคน เท่ากับกองทุนฯ นี้มีมูลค่าราว 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (8,695,000บาท) ต่อชาวนอร์เวย์ 1 คน ณ เดือนธันวาคม 2021  

อย่างไรก็ดี มีหลายบริษัทที่ทางกองทุนฯ ไม่ลงทุนหรือถอนทุนออกด้วยเหตุผลทางจริยธรรม  

ในช่วงแรกๆ มีการถกเถียงกันเรื่องนโยบายการลงทุนหลังจากพบว่าทางกองทุนฯ เข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีข้อขัดแย้ง หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจบางประเภท อาทิ การผลิตอาวุธ บุหรี่ และเชื้อเพลิงฟอสซิล จนนำมาสู่การก่อตั้งสภาที่ปรึกษาด้านจริยธรรมของกองทุนในเดือนธันวาคม 2004  

จากแนวปฏิบัติของสภาที่ปรึกษา กองทุนความมั่งคั่งของนอร์เวย์ไม่สามารถนำเงินไปลงทุนในบริษัทที่มีส่วนสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการสังหาร การทรมาน การลิดรอนเสรีภาพ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในสถานการณ์ความขัดแย้งหรือสงคราม 

ทว่ากองทุนฯ สามารถลงทุนในบริษัทผลิตอาวุธบางบริษัทได้ เนื่องจากแนวปฏิบัติของสภาที่ปรึกษาแบนอาวุธบางชนิดเท่านั้น เช่น อาวุธนิวเคลียร์  

การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ธุรกิจ Dagens Næringsliv ของนอร์เวย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 พบว่า นอร์เวย์ลงทุนกวา 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบริษัทเทคโนโลยี 15 แห่งที่ผลิตเทคโนโลยีที่สามารถและถูกนำไปใช้ในการกรอง ดักฟัง สอดแนมการสื่อสารของหลายประเทศ รวมทั้งอิหร่าน ซีเรีย และเมียนมา และแม้ว่าเทคโนโลยีสอดแนมจะไม่ใช่กิจกรรมหลักของบริษัททั้ง 15 แห่ง แต่บริษัทดังกล่าวล้วนมีหรือยังคงมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่บ้าง 

ถึงอย่างนั้น กระทรวงการคลังนอร์เวย์ยืนยันว่าจะไม่ถอนการลงทุนออกจากบริษัทเหล่านั้น หรือหารือถึงการกีดกันบริษัทสอดแนมเหล่านั้นออกจากการลงทุนของกองทุนฯ  

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมากราคม 2010 กระทรวงการคลังนอร์เวย์ประกาศตัดบริษัทยาสูบ 17 แห่งออกจากกองทุน โดยครั้งนี้นับเป็นการถอนการลงทุนเนื่องจากคำแนะนำด้านจริยธรรมครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ (2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

ปี 2014 กองทุนฯ ยังถอนการลงทุนจากบริษัทถ่านหิน 53 แห่งทั่วโลก รวมทั้ง 16 แห่งในสหรัฐฯ 13 แห่งในอินเดีย และ 3 แห่งในจีน และในปีเดียวกันยังเทขายหุ้นในบริษัทน้ำมันและแก๊ส 59 จาก 90 บริษัทซึ่งกงทุนฯ ถือหุ้นมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ข้อมูล ณ ปี 2019 แนวปฏิบัติใหม่กำหนดห้ามกองทุนฯ ลงทุนในบริษัทที่ผลิตถ่านหินเกินปีละ 20 ล้านตัน และมีแผนจะขายหุ้นของบริษัทที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไปมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเดินหน้าเป็นกงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยการลงทุนในบริษัทที่ส่งเสริมพลังงานทดแทน 

สำหรับเหตุผลเรื่องการมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิพลเรือนในภาวะสงคราม นอกจากบมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ของไทยแล้ว ยังมีบริษัทจากต่างชาติถูกถอนการลงทุนหรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์อีกหลายแห่ง อาทิ 

Adani Ports & Special Economic Zone (APSEZ) ของอินเดีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์ เนื่องจากบริษัทสาขาของ APSEZ ลงนามในสัญญา Build-Operate-Transfer/lease (เอกชนได้รับสิทธิตามสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลในการลงทุนก่อสร้างและดำเนินงาน เพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จากนั้นจึงโอนถ่าย/ให้เช่าทรัพย์สินนั้นให้แก่ภาครัฐเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา) กับ Myanmar Economic Corporation (MEC) ซึ่งเป็นธุรกิจของกองทัพเมียนมา เพื่อพัฒนาท่าเรือ Ahlone International Port Terminal ในย่างกุ้ง 

Kirin Holdings บริษัทเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในลิสต์เฝ้าจับตามอง เนื่องจากบริษัทเป็นหุ้นส่วนกับกิจการร่วมค้า 2 แห่งกับ Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) ซึ่งเป็นกิจการของกองทัพเมียนมา แม้ว่าไม่นานหลังจากกองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร Kirin Holdings ประกาศว่าจะถอนการเป็นหุ้นส่วนกับ MEHL แต่สภาที่ปรึกษาด้านจริยธรรมนอร์เวย์ยังคงจัดให้ Kirin Holdings อยู่ในกลุ่มเฝ้าจับตาตามเดินจนกว่าการเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวจะสิ้นสุดลง 

Ashtrom Group บริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ของอิสราเอล ถูกถอนการลงทุน เนื่องจาก Ashtrom Properties อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารที่เชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ 

บริษัท G4S ของอังกฤษถูกถอนการลงทุนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 เนื่องจากละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับบริษัท Li Ning ของจีน ที่ถูกถอนการลงทุนเนื่องจากบริษัทละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขณะที่บริษัทสัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่จะถูกถอนการลงทุนเนื่องจากผลิตบุหรี่และผลิตอาวุธ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์