น้ำบนโลกมาจากไหน-มีปลาในมหาสมุทรกี่ตัว? ปริศนารอวันไขที่ยังหาคำตอบ ‘ไม่ได้’

9 ธันวาคม 2566 - 23:00

ocean-mysteries-scientists-havent-solved-yet-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปริศนา ‘อาณาจักรท้องทะเลมหาสมุทร’ ประเด็นไหนบ้างที่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกของเราส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยน้ำซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ส่วนของโลก แน่นอนว่าพื้นผิวมากกว่า 70% นั้นต่างก็ถูกปกคลุมไปด้วยมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล และน้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวในอาณาจักรเหล่านั้นที่ทั้งลึกลับ น่ากลัว อันตราย แต่ก็แฝงไปด้วยความน่าค้นหา และน่าผจญภัย 

ทว่ามันก็ยังมีบางประเด็นที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนทุกนี้ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ต่อไปนี้เป็นความลึกลับในมหาสมุทรที่เราค้นพบ โดยเริ่มต้นจากผิวน้ำจนลงลึกเข้าไปในความมืดมิดใต้มหาสมุทร 

น้ำบนโลกมาจากไหน?  

มีคำถามมากมายว่า ‘ทำไมโลกถึงมีอาณาจักรน้ำมหาศาลเหล่านี้ตั้งแต่แรก?’ ซึ่งจริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าน้ำมาปกคลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกของเราได้อย่างไร 

คำถามง่ายๆ เลยคือ ตอนที่โลกกำลังก่อตัว มันร้อนมาก น้ำที่อยู่รอบๆ ในตอนแรกคงจะเดือดหมดแล้ว “แล้วคุณจะทำให้ของเหลวจำนวนมากควบแน่นบนพื้นผิวดาวเคราะห์ที่ร้อนมากๆ ได้อย่างไร” ลิเดีย ฮัลลิส นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์บอกกับ โนม ฮาสเซนเฟลด์ จากรายการ ‘Unexplainable podcast’ ของสำนักข่าว Vox 

นักวิทยาศาสตร์จึงคาดเดาสมมุติฐานที่เป็นไปได้บางประการว่า ‘น้ำเหล่านั้นถูกส่งมาโดยดาวหางที่พุ่งชนโลกของเราหรือเปล่า?’ หรือที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น ‘เรามีน้ำเพียงเพราะเหตุการณ์แวดล้อมสุดขั้ว (extremely circumstantial event) ของดาวเคราะห์อย่างดาวพฤหัสที่โคจรไปทางดวงอาทิตย์จากระบบสุริยะชั้นนอกหรือไม่?’ ‘หรือว่ามันฝังลึกอยู่ในโลกยุคแรกเริ่ม?’  

ความเป็นไปได้ดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากมันสามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดจึงมีสิ่งมีชีวิตบนโลก หากไม่มีน้ำมายังโลก สิ่งมีชีวิตอย่างเราๆ ก็คงไม่ดำรงอยู่ 

ปริศนาคลื่นยักษ์? 

เคยสงสัยไหมว่าคลื่นยักษ์ (rogue waves) ในมหาสมุทรที่ดูเหมือนมาจากไหนไม่รู้ต่างจากคลื่นสึนามิยังไง? กำแพงคลื่นเหล่านี้มีขนาดอย่างน้อย 2 เท่าของคลื่นที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่รอบๆ ซึ่งบางครั้งก็สูงตระหง่านมากกว่า 100 ฟุต ทว่ามันต่างจากสึนามิตรงที่คลื่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์อย่างเช่น แผ่นดินไหว 

เป็นเวลานานแล้วที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามีคลื่นยักษ์เกิดขึ้น บางทีสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงตำนานที่ใช้อธิบายการหายไปอย่างลึกลับของเรือหลายลำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1995 เมื่อมีการบันทึกครั้งแรก 

ตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามค้นหาว่าคลื่นยักษ์เหล่านี้ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้คลื่นยักษ์ตั้งสูงตระหง่านได้ขนาดนั้น? “สิ่งใดก็ตามที่ไม่ธรรมดาสมควรได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์” ตัน แวน เดน เบรเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษากลศาสตร์ของไหล (fluid mechanics) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ในเนเธอร์แลนด์กล่าว โดยหวังว่าตัวเขาเองก็จะได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่เป็นพื้นฐานของคลื่นหลายประเภทอีกด้วย 

มีปลาที่อาศัยอยู่ใน ‘เขตสนธยา’ อันลึกลับของมหาสมุทรกี่ตัว?

เมื่อดำดิ่งลึกลงไปในมหาสมุทรจะพบว่าแสงแดดจะส่องผ่านน้อยลงเรื่อยๆ แต่ถ้าลึกลงไปใต้ผิวน้ำประมาณ 200 เมตร เราจะไปถึงบริเวณที่เรียกว่า ‘มีโซพีลาจิค’ (mesopelagic) หรือ ‘เขตสนธยา’ ซึ่งจะพบว่าแสงแดดนั้นจางหายไปจนเกือบหมด และแน่นอนว่าก็มีความเป็นได้น้อยที่เราจะศึกษาความกว้างใหญ่ของมัน เพราะยิ่งลึกก็ยิ่งอันตราย 

“มันง่ายกว่ามากที่จะนิยามมันด้วยสิ่งที่เราไม่รู้มากกว่าสิ่งที่เรารู้…มันอยู่ห่างไกล มันลึกมาก มันมืด มันยากที่จะอธิบาย มันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” แอนโดเน ลาเวรี ผู้ชำนาญด้านโสตศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์วูดสโฮล (WHOI) กล่าว 

ทว่าบริเวณมหาสมุทรนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นไปได้ (แต่ไม่แน่นอน) ว่าเหล่าปลาทั้งหลายจะอาศัยอยู่ในเขตสนธยามากกว่าส่วนที่เหลือในมหาสมุทรรวมกัน และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรมืด หรือทะเลลึก (dark ocean) เหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศอีกด้วย 

มีการทำแผนที่พื้นมหาสมุทรเพียง 20% เท่านั้น 

ปัจจุบัน มีการทำแผนที่พื้นทะเลเพียง 20% เท่านั้น มันจึงทำให้มหาสมุทรกลายเป็นสถานที่ลึกลับยิ่งกว่าพื้นผิวดวงจันทร์หรือดาวอังคารซะอีก นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่นักสำรวจลงไปด้านล่างของมหาสมุทร พวกเขาอาจมองเห็นในสิ่งที่ไม่มีมนุษย์คนใดเคยพบเห็นมาก่อน  

ทั้งนี้ ผู้คนจำนวนมากยังปฏิบัติภารกิจอะพอลโลไปดวงจันทร์มากกว่าที่เคยไป ‘แชลเลนเจอร์ดีป’ (Challenger Deep) ซึ่งเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของร่องลึกที่สุด (deepest trench) ในมหาสมุทรอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงบางส่วนของ ‘ปริศนาอาณาจักรมหาสมุทร’ ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาหาคำตอบอยู่ ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลานาน แต่บางเรื่องก็มีความเป็นไปได้น้อยมากๆ ที่จะศึกษา จึงทำให้บางประเด็นยังคงเป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์