สัตว์ทะเลกำลังแย่! นักวิทย์ชี้พลาสติกเกลื่อนมหาสมุทรมากกว่า 171 ล้านล้านชิ้น

9 มีนาคม 2566 - 04:22

Oceans-littered-with-171-trillion-plastic-pieces-SPACEBAR-Hero
  • จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าปริมาณของพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านล้านชิ้นในปี 2005 เป็น 171 ล้านล้านชิ้นในปี 2019

  • นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี 2040 หากยังไม่ดำเนินการใดๆ

สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าขณะนี้มีพลาสติกมากกว่า 171 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก โดยขยะพลาสติกเหล่านี้ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลายกลายเป็นวัสดุที่เป็นอันตรายน้อยกว่า อีกทั้งยังคร่าชีวิตปลาและสัตว์ทะเลมานับไม่ถ้วน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าปริมาณของพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านล้านชิ้นในปี 2005 เป็น 171 ล้านล้านชิ้นในปี 2019 และนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี 2040 หากยังไม่ดำเนินการใดๆ

ในการประมาณการใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้วิเคราะห์การบันทึกที่เริ่มตั้งแต่ปี 1979 และเพิ่มข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมได้จากการสำรวจที่ลากอวนในทะเลด้วยตาข่ายเพื่อเก็บพลาสติก โดยพลาสติกที่อยู่ในอวนจะถูกเพิ่มเข้าไปในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อสร้างค่าประมาณทั่วโลก

ดร.มาร์คัส อิริกเซน ผู้เขียนนำจากสถาบัน 5 Gyres กล่าวกับ BBC News ว่า “ชิ้นส่วน 171 ล้านล้านชิ้นประกอบด้วยพลาสติกที่เพิ่งถูกทิ้งและชิ้นส่วนเก่าที่พังแล้ว” 

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ขวด บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ตกปลา หรือสิ่งของอื่นๆ จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากแสงแดดหรือการย่อยสลายทางกล (mechanical degradation) ซึ่งทำให้สัตว์ทะเลอย่าง วาฬ นกทะเล เต่า รวมถึงปลาเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นเหยื่อของพวกมัน และอาจตายเพราะความอดอยากเมื่อพลาสติกอยู่ในท้องของพวกมัน

นอกจากนี้ พลาสติกยังสามารถเข้าไปปนเปื้อนในน้ำดื่มของเราได้ด้วย เพราะมีการตรวจพบไมโครพลาสติกในปอด เส้นเลือด และรกของมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเรายังไม่ทราบเพียงพอว่าไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่

ก่อนปี 2005 ปริมาณพลาสติกมีความผันผวน ซึ่ง ดร.อิริกเซน กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่สามารถอธิบายได้ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นซึ่งถูกแทนที่ด้วยข้อตกลงโดยสมัครใจ การสลายตัวของพลาสติก หรือความจริงที่ว่ามีการรวบรวมข้อมูลน้อยลง”

ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ทอมป์สัน แห่งมหาวิทยาลัยพลีมัธ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า “การประมาณการนี้เป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบเกี่ยวกับมลพิษทางทะเล”

“เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามีพลาสติกมากเกินไปในมหาสมุทร เราจำเป็นต้องย้ายไปที่การวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน” เขากล่าวกับ BBC News 

ทั้งนี้ พบว่า พลาสติกในมหาสมุทรมีความเข้มข้นสูงสุดในปัจจุบันซึ่งอยู่ในทะเลแอตแลนติกเหนือ โดยพบมวลขนาดใหญ่ลอยอยู่ที่อื่น รวมถึงแพขยะใหญ่แปซิฟิก

นักวิจัยยังเสนอว่าระดับมลพิษที่เปลี่ยนแปลงก่อนปี 2000 อาจเนื่องมาจากประสิทธิภาพของสนธิสัญญาหรือนโยบายที่ควบคุมมลพิษ โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 ข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายหลายฉบับได้กำหนดให้ประเทศต่างๆ หยุดทิ้งขยะพลาสติกและพลาสติกที่ใช้กับเรือในมหาสมุทร รวมทั้งให้ทำความสะอาดจำนวนหนึ่งด้วย

สิ่งเหล่านี้ตามมาด้วยข้อตกลงโดยสมัครใจซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าอาจได้ผลน้อยกว่า และอาจอธิบายการเพิ่มขึ้นของพลาสติกตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

นักวิจัยให้เหตุผลว่าวิธีแก้ปัญหาต้องมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณการผลิตและใช้พลาสติกมากกว่าการทำความสะอาดมหาสมุทรและการรีไซเคิลพลาสติก เพราะสิ่งนี้มีโอกาสน้อยที่จะหยุดการไหลของมลพิษ

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศต่างๆ ได้ลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงแห่งสหประชาชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องมหาสมุทรให้ได้ 30%

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์