กรุงเทพฯ เสี่ยงจมบาดาลอาจต้องย้ายเมืองหลวงเพราะโลกร้อน

17 พ.ค. 2567 - 06:18

  • การคาดการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า ‘กรุงเทพฯ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบต่ำนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมจมบาดาลก่อนสิ้นศตวรรษ

  • ปวิช เกศววงศ์ กล่าวว่า “โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อให้เราสามารถแยกเมืองหลวง พื้นที่ราชการ และพื้นที่ธุรกิจได้…”

  • ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรที่ต้องเผชิญกับความร้อนและความแห้งแล้ง ไปจนถึงธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวและมลภาวะ

official-warns-climate-change-could-force-bangkok-to-move-SPACEBAR-Hero.jpg

“ประเทศไทยอาจต้องพิจารณาย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น…” 

การคาดการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า ‘กรุงเทพฯ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบต่ำนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมจมบาดาลก่อนสิ้นศตวรรษ และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมืองหลวงที่พลุกพล่านแห่งนี้มักเจอปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยในช่วงฤดูฝน 

ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทยเตือนว่า “กรุงเทพฯ อาจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันได้…ผมคิดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเราเกิน 1.5 องศาฯ ไปแล้ว ตอนนี้เราต้องกลับมาคิดถึงการปรับตัว…” ปวิชบอกกับสำนักข่าว AFP โดยอ้างถึงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ปวิชบอกอีกว่า “กรุงเทพฯ กำลังสำรวจมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างเขื่อน เช่นเดียวกับที่ใช้ในเนเธอร์แลนด์ แต่เรากำลังคิดที่จะย้าย โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อให้เราสามารถแยกเมืองหลวง พื้นที่ราชการ และพื้นที่ธุรกิจได้…กรุงเทพฯ จะ (ยังคง) เป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่จะย้ายภาคส่วนธุรกิจ”

ปวิชกล่าว โดยระบุว่าการอภิปรายยังคงเป็นเรื่องสมมุติ และปัญหานี้ ‘ซับซ้อนมาก’

เป็นเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…

official-warns-climate-change-could-force-bangkok-to-move-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Jack TAYLOR / AFP

แม้ว่าการย้ายเมืองหลวงดังกล่าวยังห่างไกลจากการนำมาใช้เป็นนโยบาย แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคนี้ 

ขณะที่อินโดนีเซียจะเปิดตัว ‘นครหลวงนูซันตารา’ เมืองหลวงใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางการเมืองของประเทศในปีนี้ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่กรุงจาการ์ตาที่กำลังจมและมีมลพิษ การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งและใช้งบประมาณค่อนข้างสูงประมาณ 32,000-35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.16-1.26 แสนล้านบาท) 

ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรที่ต้องเผชิญกับความร้อนและความแห้งแล้ง ไปจนถึงธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวและมลภาวะ จนต้องปิดอุทยานแห่งชาติหลายแห่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อฟื้นฟูปะการัง ซึ่งคาดว่าอาจมีการปิดเพิ่มเติมอีก 

“เราต้องรักษาธรรมชาติของเรา ดังนั้นเราจึงคิดว่าเราจะใช้มาตรการใดๆ เพื่อปกป้องทรัพยากรของเรา” ปวิชกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ปวิชยอมรับว่าความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทยยังไม่เกิดผล คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมายที่เน้นเรื่องอากาศสะอาดในปีนี้ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติก็ได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันและดับไฟในพื้นที่คุ้มครอง 

“ภาคเกษตรกรรมถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเรา” ปวิชกล่าว โดยอ้างถึงการเผาอย่างต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหมอกควัน  

นอกจากนี้ หน่วยงานของปวิช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็กำลังผลักดันกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งวางแผนมาตั้งแต่ปี 2019 เป็นอย่างน้อย แต่ถูกระงับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ปวิชกล่าวว่ากฎหมายซึ่งรวมถึงบทบัญญัติทุกอย่างตั้งแต่การกำหนดราคาคาร์บอนไปจนถึงมาตรการบรรเทาและการปรับตัว มีแนวโน้มที่จะผ่านเข้าสู่กฎหมายในปีนี้ 

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

Photo by Jack TAYLOR / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์