‘โอโคโนมิยากิ’ ซอฟต์พาวเวอร์ประชุม G7 ที่ฮิโรชิมา

18 พ.ค. 2566 - 04:53

  • ผู้นำญี่ปุ่นต้องการใช้การประชุมสุดยอด G7 ครั้งนี้ที่ฮิโรชิมาโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกร่วมต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์

  • นักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นหวังว่าเหล่าผู้นำจะซึมซับประวัติศาสตร์ของฮิโรชิมามากกว่าจะใช้มันเป็นแค่ฉากหลังในการถ่ายรูปหมู่ 

  • ฮิโรชิมายังเป็นเมืองที่ผู้ไปเยือนต้องไปทำความรู้จัก ‘โอโคโนมิยากิ’ หรืออาหารแนวสตรีตฟู้ดที่กำลังจะถูกเสิร์ฟให้เหล่าผู้นำ G7 รับประทาน 

okomiyaki-soft-power-japan-hiroshima-G7-summit-SPACEBAR-Thumbnail
หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ครั้งนี้จึงจัดที่ฮิโรชิมา คำตอบคือ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตในฮิโรชิมา ต้องการใช้การประชุมสุดยอด G7 ครั้งนี้โน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกร่วมต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่า 3 ใน 7 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง จึงมีการคาดเดากันว่า ผู้นำประเทศมหาอำนาจจะมีโปรแกรมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพก่อนเริ่มการประชุม ในมุมมองของภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกขณะนี้ และผู้นำทั้งหลายจะได้เห็นหลักฐานความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธนิวเคลียร์ 

บรรดานักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นมีความหวังว่า เหล่าผู้นำทั้งหลายที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้น่าจะซึมซับประวัติศาสตร์ของฮิโรชิมามากกว่าจะใช้มันเป็นแค่ฉากหลังในการถ่ายรูปหมู่ 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ปี 1945 สหรัฐฯ ทำให้เมืองฮิโรชิมากลายสภาพเป็นขุมนรกที่ลุกโชนด้วยระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในสงคราม ซึ่งบริเวณศูนย์กลางของการทำลายล้างในปีนั้น ปัจจุบันกลายเป็นสวนอนุสรณ์สันติภาพและช่วงวันที่ 19-21 พ.ค.นี้จะเป็นฉากหลังของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้ง 7  หรือ G7 

ในวันดังกล่าว เครื่องบินทิ้งระเบิดอีโนลา เกย์ ของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อลิตเติลบอย เหนือใจกลางเมืองฮิโรชิมา ก่อนที่ระเบิดลูกที่สองจะถล่มเมืองนางาซากิ ในอีกสามวันถัดมา ถือเป็นการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำสงคราม 

ช่วงเวลาที่ทิ้งระเบิดมีผู้คนอยู่ในเมืองฮิโรชิมาประมาณ 350,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน แรงงานที่ถูกบังคับใช้แรงงาน และเชลยศึกที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นกวาดต้อนมา 

ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที คลื่นความร้อนและแรงดัน 6,000 องศาเซลเซียสก็เปลี่ยนเมืองนี้ให้กลายเป็นขุมนรกที่ลุกโชนด้วยเปลวเพลิง เมืองทั้งเมืองถูกทำลายล้างไปมากถึง 80% คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 70,000 คน และจนถึงสิ้นปี 1945 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 คน 

ความเลวร้ายของการทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมา ทำให้หลายคนที่เสียชีวิตจากผลระยะยาวของรังสี หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีอาการต่างๆ ไปตลอดชีวิต ทั้งมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ความผิดปกติของเลือดและผิวหนัง ความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง และความวิตกกังวลต่อเนื่อง ไม่นับการเลือกปฏิบัติ ที่ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ต้องเจอในสังคมที่พวกเขาอยูู่ในภายหลัง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/0GOWyqyHxW5YD394DxgUq/f1dad2349773bf04e74252aab3050301/okomiyaki-soft-power-japan-hiroshima-G7-summit-SPACEBAR-Photo01
Photo: อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา (Richard A. Brooks / AFP)
อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงมีคำถามในใจว่าเพราะเหตุใดสหรัฐฯ ต้องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมืองฮิโรชิมา และจนถึงทุกวันนี้ ยังมีชาวอเมริกันที่เชื่อในแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ว่า ระเบิดปรมาณูทำให้การบุกรุกเป็นเรื่องไม่จำเป็น และช่วยชีวิตทหารอเมริกันไว้ได้หลายแสนคน 

แต่ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์มองว่า ระเบิดปรมาณูไม่ใช่สิ่งจำเป็นทางการทหาร เพราะในเวลานั้นญี่ปุ่นแทบหมดหนทางสู้และไม่ใช่ฮิโรชิมา แต่เป็นการประกาศสงครามของสหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะของญี่ปุ่นและกองทัพญี่ปุ่นต้องยอมจำนนในวันที่ 15 ส.ค. ปี 1945 

บรรดานักประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญกับเหตุผลทางการเมืองในการทิ้งระเบิดในครั้งนั้น ซึ่งก็คือ สหภาพโซเวียตถูกมองว่าเป็นศัตรูใหม่ของสหรัฐฯ และในฐานะที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์แต่เพียงผู้เดียว สหรัฐฯ ต้องการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่ออวดความแข็งแกร่งของตัวเองต่อสหภาพโซเวียต 

นอกจากนั้น รัฐบาลวอชิงตันยังมองหาเหตผลที่เหมาะสมในการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของญี่ปุ่นในปี 1941 ด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็น่าจะทำแบบเดียวกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบา ที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเยือนฮิโรชิมาเมื่อปี 2016 และไม่ได้กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ 

ในญี่ปุ่น ประเด็นคาใจเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูเป็นเหมือนบาดแผลลึกในใจของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และชาวญี่ปุ่นน้อยคนนักที่จะยอมรับว่าฮิโรชิมาเป็นเพียงการถูกลงโทษสำหรับสงครามรุกรานของญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะกระทำผิดก็จริง แต่การทิ้งระเบิดปรมาณูถือเป็นอาชญากรรมต่อพลเรือนที่บริสุทธิ์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3sJLv5ZPpTCx9WH78bPgfL/8937f566bad230581bad519ad7c632aa/okomiyaki-soft-power-japan-hiroshima-G7-summit-SPACEBAR-Photo02
Photo: โอโคโนมิยากิในสไตล์ของฮิโรชิมา (wikipedia)
แต่ฮิโรชิมาไม่ได้แสดงบทบาทเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ผู้นำโลกทุกคนต้องตระหนักถึงอันตรายของอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น เพราะที่เมืองนี้ ผู้คนที่ไปเยือนต้องไปทำความรู้จัก ‘โอโคโนมิยากิ’ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าไปไม่ถึงฮิโรชิมา 

โอโคโนมิยากิ เป็นอาหารหน้าตาเหมือนแพนเค้ก แต่มีส่วนผสมของเส้นบะหมี่ กะหล่ำปลี ไข่ เนื้อสัตว์ ทอดบนแผ่นโลหะร้อน และนี่คือหนึ่งในเมนูอาหารที่จะถูกนำขึ้นโต๊ะเพื่อเสิร์ฟให้แก่บรรดาผู้นำ G7 

ในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงขาลงแบบนี้ บรรดาเจ้าของธุรกิจพากันตั้งความหวังว่าในโอกาสที่ญี่ปุ่นเลือกเมืองฮิโรชิมาเป็นที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำ G7 จะช่วยดึงดูดเหล่าผู้มาเยือน ด้วยอาหารที่เป็น “ซิกเนเจอร์” ของเมืองและได้รับการปรุงให้ถูกปากของสมาชิกแต่ละประเทศ 

โอโคโนมิยากิ ฟิวชั่น (fusion okonomiyaki) เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญที่จัดโดย “สถาบันโอโกโนมิยากิ” (Oconomiyaki Academy) ซึ่งเป็นสมาคมร้านอาหารในฮิโรชิมา ที่ส่งเสริมอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม 

ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอดวันที่ 19 พ.ค. สถาบันได้เปิดตัว “โอโคโนมิยากิฟิวชั่น”  6 จาน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารประจำชาติของบรรดาผู้นำที่เข้าประชุมทั้ง7 ประเทศ ได้แก่ เบอร์เกอร์ของอเมริกัน (American burgers), เครป (crepes) ของฝรั่งเศส, ฟิชแอนด์ชิปส์ (fish and chips) ของอังกฤษ, สปาเกตตี คาร์โบนารา (spaghetti carbonara) ของอิตาลี, เซาเออร์เคราท์ (sauerkraut) ของเยอรมนี และแพนเค้กกับน้ำเชื่อมเมเปิล (pancakes with maple syrup) ของแคนาดา 

อาสึชิ คิตะอุระ ผู้จัดการร้านอาหารชินจิคุริน (Chinchikurin) ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันและเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำโอโคโนมิยากิ กล่าวว่า “เราคิดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีลูกค้าจำนวนมากเดินทางมาจากหลากหลายประเทศ เราจึงต้องการนำเสนอโอโคโนมิยากิรสชาติต่างๆ ที่ถูกปากพวกเขา”
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์