ส่องระบบเงินเกษียณต่างประเทศ แก่ไปไม่ต้องกลัวรัฐตัดเงินบำนาญ!

16 ส.ค. 2566 - 06:02

  • เปิดระบบบำนาญบางประเทศ ระบบเป็นแบบไหน? จ่ายยังไง? บางประเทศคนแก่ถึงมีกินมีใช้แบบไม่ต้องตัดบำนาญ

old-age-allowance-pension-system-in-the-world-SPACEBAR-Thumbnail
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าหลายๆ ประเทศในโลกนี้กำลังเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง ‘ประเทศไทย’ ด้วย และที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงอยู่ตอนนี้ก็คือ รัฐบาลไทยรักษาการได้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยสูงอายุแบบใหม่ จากเดิมที่จะจ่ายแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ตอนนี้ยกเลิกระบบจ่ายแบบถ้วนหน้าแล้ว โดยจะมีเกณฑ์การเช็คสถานะทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยของเรากลายเป็นประเทศที่มี ‘ระบบบำนาญเกษียณอายุ’ อยู่ในกลุ่มที่ ‘แย่’ ที่สุดในโลก โดยดัชนีบำนาญโลกประจำปี 2022 (Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022) ซึ่งสำรวจจากทั้งหมด 44 ประเทศระบุว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายเกรด D ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย ตุรกี อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา ซึ่งไทยได้ไป 41.7 คะแนน 

ส่วน 3 อันดับแรกเกรด A ไม่พลิกโผซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดและคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้วได้แก่ ไอซ์แลนด์ 84.7 คะแนน ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ 84.6 คะแนน และเดนมาร์ก 82 คะแนน โดยดัชนีดังกล่าววัดจาก ‘ความยั่งยืนของระบบรายได้ และความเพียงพอของรายได้ และการตรวจสอบได้’ 

ต่อไปนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างประเทศที่มีระบบบำนาญในเกณฑ์ดีมากๆ ไปจนถึงปานกลาง แม้บางประเทศเป็นมหาอำนาจแต่ระบบบำนาญก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ขณะที่หลายประเทศในเอเชียก็ถืออยู่ในเกณฑ์ดี 

ไอซ์แลนด์ / อันดับที่ 1 / เกรด A / 84.7 คะแนน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2XE5e5IMTRDL0bTEQeYtlT/58b33bc5dac47644946a7e12649b14e8/old-age-allowance-pension-system-in-the-world-SPACEBAR-Photo02
ไอซ์แลนด์ อีกหนึ่งประเทศคุณภาพที่ติดอันดับคุณภาพชีวิตพลเมืองที่ดีที่สุดและล่าสุดกับนัมเบอร์วันระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยในปี 2022 มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนของประชากรทั้งหมดที่ 15.3% ซึ่งเพิ่มขึ้น 9 % จากปี 1973 

ระบบบำนาญในไอซ์แลนด์แบ่งออกเป็น 3 กองทุนหลักได้แก่ 
  1. เงินบำนาญแบบได้มาจ่ายไปที่เรียกว่า ‘PAYGO’ (Pay as you go) ระบบนี้จะค่อนข้างเอื้อเฟื้อ โดยเน้นไปที่พนักงานรายได้น้อย โดยจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วยอัตราเงินสมทบ 6.35% และภาษีทั่วไป 
  2. เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพส่วนตัวภาคบังคับ (เงินออมส่วนบุคคล) สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยมีอัตราเงินสมทบขั้นต่ำ 12% ของเงินเดือนพนักงาน (พนักงานจ่าย 4% และนายจ้าง 8%) 
  3. การออมส่วนบุคคลโดยสมัครใจ 
เมื่อผู้รับบำนาญชราภาพจะได้รับแบบฟอร์มใบสมัครจากสำนักงานประกันสังคม (TR) ที่ส่งไปให้ก่อนที่พวกเขาจะอายุครบ 67 ปี เมื่อสมัครรับเงินบำนาญชราภาพ พลเมืองสูงอายุจะต้องยื่นประมาณการรายได้ โดยเงินบำเหน็จบำนาญต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับรายได้ค่าจ้างและเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ 

โดยปกติบุคคลทั่วไปจะเริ่มเบิกเงินบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี แต่ปัจจุบันระบบประกันสังคมให้ความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งพลเมืองสามารถยื่นขอเงินบำนาญชราภาพได้ตั้งแต่อายุ 65 ปีภายใต้เงื่อนไขบางประการ นั่นหมายถึงการจ่ายเงินบำนาญที่จะลดลงอย่างถาวรด้วย  

แล้วพลเมืองจะได้รับเงินบำนาญเท่าไร? ระบบประกันสังคมรับประกันเงินบำนาญขั้นต่ำสำหรับทุกคน แม้ว่าจะจ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลยก็ตาม โดยมูลค่าเงินบำนาญพื้นฐานทั้งหมดเท่ากับ 478,344 โครนาไอซ์แลนด์ต่อปี (ราว 128,000 บาท) คิดเป็น 6% ของรายได้เฉลี่ยของพนักงาน 

สิงคโปร์ / อันดับที่ 9 / เกรด B / 74.1 คะแนน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1HxJUU2uew581OLx3Fymgy/9f51bddfef44dbbb42892a48be9d847b/old-age-allowance-pension-system-in-the-world-SPACEBAR-Photo03
เอเชียหนึ่งเดียวที่มีระบบบำนาญอยู่ในเกรด B นั่นก็คือ สิงคโปร์ โดยในปี 2022 พบว่ามีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 16.6% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ทั้งหมด  

สำหรับระบบบำนาญในสิงคโปร์จะเรียกว่า ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง’ (The Central Provident Fund / CPF) ซึ่งถือเป็นเสาหลักของระบบประกันสังคมสิงคโปร์ที่ตอบสนองความต้องการด้านการเกษียณอายุ ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาล โดยระบบจะคล้ายๆ กับการออมเงิน 

พนักงานทุกคนที่เป็นพลเมืองสิงคโปร์หรือผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรต้องเข้าร่วมในโครงการที่ดำเนินการโดยรัฐบาล (อัตราเงินสมทบสำหรับผู้พำนักถาวรที่ต่ำกว่า 3 ปีจะแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราสำหรับผู้พำนักถาวรที่เกิน 3 ปี รวมถึงพลเมืองสิงคโปร์) 

เงินสมทบของพนักงานหักจากค่าจ้างรายเดือน และนายจ้างต้องสมทบเงินเดือนพนักงานเป็นเปอร์ซ็นต์ให้ลูกจ้างในแต่ละเดือนด้วย แต่พนักงานต่างชาติไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและจะไม่ได้รับสวัสดิการเงินบำนาญภายใต้โครงการ CPF 

ทั้งนี้ อัตราเงินสมทบจะแตกต่างกันไปตามอายุซึ่งคำนวณจากเงินเดือนของพนักงาน และขึ้นอยู่กับจำนวนเงินสูงสุดรายเดือนและรายปี (ซึ่งรวมถึงค่าตอบแทนทั้งหมด ค่าล่วงเวลา ค่าคอมมิชชัน เบี้ยเลี้ยง และโบนัส) 

เมื่อพลเมืองอายุครบ 55 ปี เงินออมจากบัญชีประเภทพิเศษและบัญชีเงินออมของพวกเขาจะถูกโอนไปยังบัญชีเกษียณอายุ โดยพลเมืองสูงอายุสามารถถอนเงิน 5,000 ดอลลาร์ (ราว 177,000 บาท) แรกของเงินออมในประเภทพิเศษและบัญชีเงินออมของพวกเขาได้แม้ว่าจะยังไม่ถึงเกณฑ์เงินเกษียณขั้นพื้นฐานตอนอายุ 55 ปีก็ตาม 

สมาชิกที่อายุครบ 65 ปีตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไปจะสามารถถอนเงินได้มากถึง 20% ของเงินออมในบัญชีเกษียณอายุที่มี ณ วันเกิดปีที่ 65 เป็นเงินก้อน (จำนวนเงินจะน้อยกว่า 5,000 ดอลลาร์ที่ถอนได้โดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่อายุ 55 ปี) 

ทว่าการวางแผนเกษียณอายุในสิงคโปร์อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก ดังนั้น ชาวสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเริ่มวางแผนสำหรับการเกษียณอายุก่อนกำหนด 

ในปี 2022 อายุเกษียณอย่างเป็นทางการในสิงคโปร์คือ 63 ปี แต่การจ่ายเงินตามระบบกองทุน CPF จะเริ่มตั้งแต่อายุ 65 ปีเป็นต้นไปเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหากพลเมืองต้องการเกษียณเร็วขึ้น เช่น เมื่ออายุ 55 ปี พวกเขาจะต้องหาแหล่งรายได้อื่นเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพด้วย 

ทั้งนี้ ทางกองทุน CPF จะสามารถให้เงินบำนาญประมาณ 2,370 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 83,000 บาท) ตอนที่พลเมืองอายุ 65 ปี หรือคิดต่อปีอยู่ที่ 28,440 ดอลลาร์ (ราว 996,000 บาท) 

สหรัฐฯ / อันดับที่ 20 / เกรด C+ / 63.9 คะแนน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7xd0gop2EfkBiQEkKBQqTU/9dba2a65d6e0cfefd7c7773e033a9038/old-age-allowance-pension-system-in-the-world-SPACEBAR-Photo04
มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้อันดับที่ 20 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยจากข้อมูลในปี 2021 พบว่ามีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 55.8 ล้านคนซึ่งคิดเป็นประมาณ 16.8% ของประชากรทั้งประเทศ 

ระบบบำนาญในสหรัฐฯ ได้แก่ 
  • เงินบำนาญสาธารณะ (Public Pensions) 
  • เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพ (Occupational Pensions) 
ระบบประกันสังคมของสหรัฐฯ จะเป็นระบบแบบ ‘จ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด’ (pay as you go) ซึ่งหมายความว่าพนักงานทุกคนจะจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเพื่อให้ครอบคลุมผลประโยชน์ของผู้รับ ในขณะเดียวกัน พนักงานก็สามารถสร้างสิทธิในเงินบำนาญของตนเองไว้ใช้ในภายหลังได้ 

การให้สิทธิบำนาญขึ้นอยู่กับการจ่ายและจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ โดยจะกำหนดให้ส่งเงินสมทบเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งพนักงานทุกคน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงฟรีแลนซ์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบและต้องจ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐ 

นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงิน 6.2% ของเงินเดือนขั้นต้นของพนักงานเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐ ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระและฟรีแลนซ์ต้องชำระเงินเต็มจำนวน 12.4% ด้วยตนเอง ทั้งนี้ พลเมืองจะต้องจ่ายเงินสมทบให้ไม่เกินรายได้ปัจจุบันที่ 137,700 ดอลลาร์ (ราว 4.8 ล้านบาท) ณ ปี 2021 โดยจะไม่มีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มเติมสำหรับรายได้ต่อปีที่เกินขีดจำกัดนี้ 

ชาวอเมริกันที่เกิดก่อนปี 1960 จะได้รับสวัสดิการเกษียณอายุตั้งแต่อายุ 65 ปี แต่สำหรับผู้ที่เกิดหลังปี 1960 อายุเกษียณจะอยู่ที่ 67 ปี 

นอกจากนี้ แผนการเกษียณอายุในสหรัฐฯ ยังเสนอทางเลือกในการรับผลประโยชน์ประกันสังคมตั้งแต่อายุ 62 ปี ซึ่งผู้ที่ใช้ประโยชน์จาก ‘การจำกัดอายุแบบยืดหยุ่น’ นี้มีความคาดหวังว่าผลประโยชน์เงินบำนาญจะลดลงประมาณ 5-6% ในแต่ละปีของการเกษียณอายุก่อนกำหนด 

ในทางตรงกันข้าม คนอเมริกันก็เลือกที่จะรอจนอายุ 70 ปีจึงจะเกษียณเพื่อที่จะได้รับเงินเพิ่มอีก 5-6% ต่อปีของเงินสมทบที่เพิ่มขึ้น 

แล้วพลเมืองสูงอายุได้เงินเท่าไร?...
  • หากพลเมืองเกษียณตอนอายุ 62 ปีในปี 2023 ผลประโยชน์สูงสุดจะอยู่ที่ 2,572 ดอลลาร์ (ราว 99,000 บาท)  
  • แต่หากพลเมืองอเมริกันเกษียณเมื่อครบอายุเกษียณในปี 2023 ผลประโยชน์สูงสุดอยุ่ที่ 3,627 ดอลลาร์ (ราว 128,000 บาท)  
  • หากพลเมืองเกษียณตอนอายุ 70 ปีในปี 2023 ผลประโยชน์สูงสุดก็จะอยู่ที่ 4,555 ดอลลาร์ (ราว 161,000 บาท) 
แต่แนวโน้มในปี 2023 ดูเหมือนว่าผลประโยชน์จะลดลง 23% โดยคู่สามีภรรยาที่เพิ่งเกษียณและมีรายได้ 1 คนจะถูกตัดเงินจำนวน 13,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.6 แสนบาท)

ญี่ปุ่น / อันดับที่ 35 / เกรด C / 54.5 คะแนน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7dxTyCtc3ikDrLdmMljK64/208081553bf79e8079cba4b094d664a8/old-age-allowance-pension-system-in-the-world-SPACEBAR-Photo05
ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น โดยในปี 2021 พบว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 29.8% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและการมีอายุยืนยาวสูงขึ้น โดยภายในปี 2060 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็น 38% ของประชากรในญี่ปุ่น 

ระบบบำเหน็จบำนาญในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 
  • โครงการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (The National Pension) 
  • ระบบประกันเงินบำนาญของพนักงาน (EPI) 
สำหรับโครงการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเป็นเบี้ยประกันภัยภาคบังคับที่เรียกเก็บจากทุกคนที่มี ‘jusho’ (ถิ่นที่อยู่) ในญี่ปุ่นโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและมีอายุระหว่าง 20-59 ปี โดยมีเงินสมทบคงที่เดือนละ 16,610 เยน (ราว 4,000 บาท)  

ในฐานะชาวต่างชาตินั้นสามารถยื่นขอการยกเว้นได้โดยจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์เฉพาะ ตัวอย่างเช่น นักเรียนต่างชาติรายได้น้อย และการว่างงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขบางประการที่สามารถยกเว้นให้ชาวต่างชาติไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเงินบำนาญแห่งชาติภาคบังคับได้ 

ประเภทของผู้ประกันตนตามโครงการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ 
  1. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา และผู้ไม่อยู่ในประเภทที่ 2 และ 3 
  2. ข้าราชการ พนักงานบริษัท และผู้ที่อยู่ในระบบประกันบำนาญพนักงาน (EPI) 
  3. คู่สมรสที่อยู่ในอุปการะของบุคคลประเภทที่ 2 
ส่วนระบบประกันบำนาญของพนักงาน (EPI) นี้ นายจ้างและลูกจ้างจะจ่ายเงินสมทบคนละครึ่ง แต่จำนวนเงินสมทบจะไม่คงที่และขึ้นอยู่กับเงินเดือนของพนักงาน ดังนั้น ยิ่งพลเมืองมีรายได้มากเท่าไร บริษัทและพลเมืองก็จะต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น 

และนัยของระบบประกันเงินบำนาญของพนักงานสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น (ภายใต้ข้อบังคับ EPI ที่บังคับใช้) นั้น พวกเขาต้องจ่ายทั้งเบี้ยประกันบำนาญแห่งชาติและบำนาญ EPI 

ต้องจ่ายเท่าไหร่ และจะได้คืนมากน้อยแค่ไหน…

เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติจะเท่ากัน (16,610 เยนต่อเดือน) สำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงรายได้ โดยตามข้อมูลปี 2022 ระบุว่า ผลประโยชน์เงินบำนาญจะอยู่ที่ 781,700 เยนต่อปี (ราว 189,000 บาท)  

ในทางกลับกัน สำหรับประกันบำนาญพนักงาน EPI จำนวนเงินที่พลเมืองและบริษัทจะสมทบนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของพลเมือง ดังนั้นจำนวนเงินที่พลเมืองจะได้รับหลังเกษียณก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วย 

ทั้งนี้ การคำนวณจำนวนเงินที่พลเมืองจะได้รับหลังเกษียณอาจมีความซับซ้อนเมื่อพิจารณาตัวแปรต่างๆ เช่น เกษียณอายุก่อนกำหนด เกษียณอายุล่าช้า การดูแลบุตร การว่างงาน หรืออาชีพอิสระ  

อย่างไรก็ดี พลเมืองจะมีสิทธิรับเงินบำนาญได้จะต้องมีอายุ 65 ปีและจ่ายเงินสมทบกองทุนบำนาญของประเทศญี่ปุ่นมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์