วิจัยชี้ผู้สูงอายุที่ใช้โทรศัพท์บ่อยๆ มีโอกาส ‘สมองเสื่อม’ น้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยใช้

12 พ.ค. 2568 - 07:33

  • เมื่อใครต่อใครต่างก็คิดว่า ‘การไถหน้าจอมือถือ’ อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะในกลุ่มคนสูงอายุ แต่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้สูงอายุที่ใช้โทรศัพท์เป็นประจำจะมีโอกาส ‘สมองเสื่อม’ น้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ใช้โทรศัพท์เสียอีก

  • นักวิทยาศาสตร์ไม่พบหลักฐานสนับสนุนสมมติฐาน ‘ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล’ ที่เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตลอดชีวิตจะกระตุ้นให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่กลับพบว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กลับ ‘มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมน้อยลง’ ต่างหาก

ใครต่อใครต่างก็มีข้อกังวลว่าการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ อาจจะทำให้เกิด ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในหมู่คนชรา    

แนวคิดที่ว่าการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลจะก่อให้เกิดอันตรายต่อการรับรู้ทุกครั้งนั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และความเชื่อที่ว่าผู้ใหญ่ที่เล่นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนในช่วงไม่กี่ทศวรรษแรกของการปฏิวัติทางดิจิทัล จะมีความเสี่ยงต่อการบกพร่องทางการรับรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ทว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวกลับกำลังถูกหักล้างด้วยงานวิจัยที่ค้นพบว่า ‘ผู้สูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มีอัตราการเสื่อมถอยทางสติปัญญาต่ำกว่าคนที่ไม่ใช้เทคโนโลยีเลย’ 

 

จากการวิเคราะห์งานวิจัยที่ตีพิมพ์ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การใช้เทคโนโลยีกับทักษะทางสมองในผู้สูงอายุกว่า 400,000 คน’ พบว่า “ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นประจำนั้น มีอัตราการเสื่อมถอยทางสติปัญญาน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยีเลย” 

 

ยังไม่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้หรือไม่ และยังไม่สามารถพูดได้ว่าการใช้เทคโนโลยีนั้นทำให้การทำงานของสมองดีขึ้นจริงหรือ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่ออธิบายผลการค้นพบดังกล่าว 

 

“สำหรับคนรุ่นแรกที่ใช้เครื่องมือดิจิทัล การใช้เครื่องมือเหล่านี้สัมพันธ์กับการทำงานของสมองที่ดีขึ้น นี่เป็นข่าวที่ให้ความหวังมากกว่าที่หลายคนคาดไว้เมื่อเทียบกับความกังวลเรื่องสมองเสื่อม สมองฝ่อ หรือภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล” ดร.จาเร็ด เบงจ์ นักประสาทจิตวิทยาคลินิกจากศูนย์ ‘UT Health Austin’s Comprehensive Memory Center’ กล่าว 


สมมติฐาน ‘ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล’ อาจไม่เป็นจริง!!! 

older-people-who-use-smartphones-have-lower-rates-of-cognitive-decline-SPACEBAR-Photo01.jpg
Shutterstock / Just Life

 

ดร.เบงจ์ และ ดร.ไมเคิล สคัลลิน นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ รัฐเท็กซัส ได้วิเคราะห์งานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วกว่า 50 ฉบับ ซึ่งศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้ใหญ่ 411,430 คนทั่วโลก โดยมีอายุเฉลี่ย 69 ปี ซึ่งทุกคนได้รับการทดสอบ หรือวินิจฉัยด้านสติปัญญา 

 

และผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างน่าประหลาดใจเลยทีเดียว เพราะงานวิจัยพบว่า ‘การใช้เทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใด’ แต่กลับเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ทางปัญญาที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ จากการศึกษางานวิจัย 57 ชิ้นพบว่า “การใช้เทคโนโลยีมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางปัญญาที่ ‘ลดลง’ และไม่มีชิ้นใดรายงานว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น” 

 

นักวิทยาศาสตร์ไม่พบหลักฐานสนับสนุนสมมติฐาน ‘ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล’ ที่เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตลอดชีวิตจะกระตุ้นให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่กลับพบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต หรือการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกันนั้น ‘มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมน้อยลง’  

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เทคโนโลยี’ และ ‘สมอง’ 

older-people-who-use-smartphones-have-lower-rates-of-cognitive-decline-SPACEBAR-Photo02.jpg
Shutterstock / SOLDATOOFF

 

แม้จะต้องมีการศึกษาต่อไปเพื่ออธิบายผลการค้นพบนี้ แต่ทีมนักวิจัยคาดว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจตั้งสมมุติฐานได้เป็น 2 แนวทาง กล่าวคือ คนที่มีทักษะทางสมองดีกว่ามักจะใช้เทคโนโลยีมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีก็อาจให้ประโยชน์ต่อสมองด้วย 

 

ผลการค้นพบดังกล่าวอาจหาความเชื่อมโยงด้วย 3C ได้แก่ : 

  • การกระตุ้นที่ซับซ้อนทางปัญญา (Cognitively complex stimulation) : การค้นพบสิ่งใหม่และน่าสนใจ 
  • การเชื่อมต่อทางสังคม (Social connection) : การใช้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อกับบุคคลที่คุณรู้จัก หรือติดตามในกลุ่ม 
  • พฤติกรรมการชดเชย (compensatory behaviours) : การเรียนรู้วิธีใหม่ในการแก้ปัญหาที่คุณเผชิญในแต่ละวัน 

“ความสามารถเชื่อมต่อแบบดิจิทัลกับบุคคลอื่น (Social connection) อาจเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ เพราะเรารู้ดีว่าความเหงานั้นเป็นแรงผลักดันของความบกพร่องทางสติปัญญา” ดร.เบงจ์ กล่าว แม้ว่าเขาจะตั้งข้อสังเกตว่ายังคงมีการถกเถียงกันว่าการเชื่อมต่อแบบดิจิทัลมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการโต้ตอบแบบพบหน้ากันหรือไม่  

 

เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้ผู้คนสามารถชดเชยการเสื่อมถอยในการรับรู้และทำงานได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น GPS ที่ใช้ในการค้นหาเส้นทาง และปฏิทินดิจิทัลที่แจ้งเตือนให้ผู้สูงอายุจ่ายบิล หรือทานยา สิ่งเหล่านี้อธิบายได้ว่าเป็นพฤติกรรมการชดเชย (compensatory behaviours) 

 

ดร.เบงจ์ กล่าวเสริมว่า “การใช้พฤติกรรมการชดเชยเหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติ อาจช่วยให้แต่ละคนสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้นานขึ้น และชะลอความเสื่อมถอยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน” 

 

“เนื่องจากทุกวันนี้ แทบทุกคนใช้เทคโนโลยีกันหมดแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสภาวะทางปัญญาในเชิงสถิติ และอาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีสมาธิสั้นมักจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น” ดร.พอล เจ.แซก นักประสาทวิทยา กล่าว   

 

ขณะที่ ดร.เบงจ์ บอกอีกว่า “จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทดสอบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่ลืมรหัสผ่าน หรือมีปัญหาในการปัดหน้าจอ ทำให้พวกเขาคิดว่าเทคโนโลยีใช้งานยากขึ้น จึงใช้งานน้อยลง นั่นเป็นทิศทางหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจและเทคโนโลยี แต่ทิศทางที่สองก็อาจเป็นจริงได้เช่นกันว่าการใช้เทคโนโลยีอาจให้ประโยชน์บางอย่างแก่สมองของผู้สูงอายุได้ด้วย”  

“งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึง ‘ความเชื่อมโยงที่ชัดเจน’ ระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความสามารถทางปัญญาที่มีอยู่ในวัยชรา...คำอธิบายสำหรับความเชื่อมโยงนี้ยังไม่ชัดเจน เราไม่แน่ใจว่าการใช้งานเทคโนโลยีช่วยรักษาความสามารถทางปัญญาหรือไม่ ความสามารถทางปัญญาที่มีอยู่ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีบ่อยขึ้นหรือไม่ หรืออาจเป็นทั้งสองอย่าง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ท้าทายแนวคิดที่น่าตกใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล’ และชี้ให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นผลดีต่อสุขภาพสมอง”

ศาสตราจารย์แซม กิลเบิร์ต นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์