เตือน 1 ใน 5 ของสายพันธุ์ ‘ปลา’ ในแม่น้ำโขงเสี่ยง ‘สูญพันธุ์’

4 มีนาคม 2567 - 07:24

one-fifth-of-mekong-river-fish-species-face-extinction-report-SPACEBAR-Hero.jpg
  • รายงานระบุว่า “19% ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการสร้างเขื่อน การขุดทราย การประมงที่จัดการไม่ดี...โดยเน้นย้ำว่าจำนวนปลาที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านที่ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาแม่น้ำแห่งนี้”

  • “การลดลงอย่างน่าตกใจของประชากรปลาในแม่น้ำโขง ถือเป็นการปลุกเร้าเร่งด่วนให้เร่งดำเนินการ…”

เมื่อแหล่งอาหารสำคัญอย่าง ‘ปลา’ ในลุ่มแม่น้ำโขงใกล้ ‘สูญพันธุ์’ 

ตามรายงานใหม่จากแนวร่วมของกลุ่มสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศระบุว่า “1 ใน 5 ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับภัยคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก และเป็นที่อยู่อาศัยของปลาราว 1,148 สายพันธุ์ซึ่งผู้คนหลายล้านคนต้องพึ่งพาแหล่งน้ำแห่งนี้เพื่อหารายได้ 

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า “แม่น้ำโขงต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย รวมถึงการสร้างเขื่อน การขุดทราย การประมงที่มีการจัดการไม่ดี การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการแพร่กระจายของพันธุ์สัตว์ที่ไม่ใช่เจ้าถิ่น 

รายงานระบุว่า “19% ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าจำนวนปลาที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านที่ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาแม่น้ำแห่งนี้” 

“การลดลงอย่างน่าตกใจของประชากรปลาในแม่น้ำโขง ถือเป็นการปลุกเร้าเร่งด่วนให้เร่งดำเนินการ…เราต้องดำเนินการทันทีเพื่อพลิกสถานการณ์หายนะนี้ เนื่องจากชุมชนและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงไม่สามารถจะสูญเสียปลาเหล่านี้ไปได้” ลาน เมอร์คาโด ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (WWF) กล่าว 

รายงานจากกลุ่มระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ 25 กลุ่มได้ตรวจสอบผลกระทบในส่วนต่างๆ ของแม่น้ำความยาว 4,900 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา ซึ่งพวกเขากล่าวว่า “จำนวนปลาลดลง 88% ระหว่างปี 2003-2019” 

ผู้เขียนรายงานเผยว่า “ปลา 74 สายพันธุ์ได้รับการประเมินว่า ‘เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์’” โดยมี 18 สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง “หมายความว่าประมาณ 19% ของสายพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่เป็นที่รู้จักนั้นถูกคุกคาม” รายงานระบุ 

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะมีน้อยมาก เนื่องจากหลายสายพันธุ์ในแม่น้ำยังอยู่ระหว่างการวิจัย และอาจกล่าวได้ว่าจำนวนสายพันธุ์ปลาที่ถูกคุกคามทั่วโลกที่แท้จริงในแม่น้ำโขงนั้นสูงกว่า 74 สายพันธุ์ 

รายงานยังกล่าวอีกว่า “สายพันธุ์ปลาที่หายไปอาจทำให้การตัดไม้ทำลายป่าในภูมิภาครุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้คนหลายล้านคนที่เคยอาศัยในแม่น้ำถูกบังคับให้ทำฟาร์ม…แม่น้ำโขงคิดเป็น 15% ของการจับสัตว์น้ำภายในประเทศทั่วโลก” 

“เห็นได้ชัดว่าเรากำลังเสี่ยงต่อวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหม่สำหรับลุ่มน้ำโขง แต่ก็ยังไม่สายเกินไป” เฮอร์มาน วันนิงเกน กรรมการผู้จัดการมูลนิธิ ‘World Fish Migration Foundation’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้เขียนรายงานกล่าว 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ประเทศลุ่มน้ำโขงให้คำมั่นต่อโครงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ ในการการเพิ่มการไหลเวียนตามธรรมชาติของแม่น้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ที่สำคัญ และการขจัดสิ่งกีดขวางทางแม่น้ำที่ล้าสมัย ซึ่งเป็น 1 ใน 6 เสาหลักที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแนะนำสำหรับฟื้นฟูแม่น้ำโขง 

Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์