ปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้นเมือง’ สร้างเม็ดเงินแต่ทำลายท้องถิ่น! ประเทศอื่นๆ รับมือยังไง

22 เมษายน 2567 - 09:52

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เมืองไหน ประเทศใดที่เคยประสบปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น’ บ้าง? แล้วรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร? ประเทศ ‘ไทย’ ของเราเป็นหนึ่งในนั้นที่ประสบกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

  • อัมสเตอร์ดัมสุดแหวกแนวไม่ให้สร้างโรงแรมจนกว่าจะมีแห่งใดปิดตัวลงถึงสร้างที่ใหม่ได้

  • บาหลี ญี่ปุ่น ภูฏาน ออกมาตรการคล้ายๆ กัน แก้ปัญหาด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยว

ตั้งแต่หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างพากันเปิดพรมแดนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วหลังผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยจากโรคระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกภูมิภาพที่โหยหาอิสระภาพก็ออกเดินทางไปต่างแดนสร้างเม็ดเงินให้ประเทศเจ้าบ้านได้อย่างมหาศาล 

แต่ก็ใช่ว่าการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว เพราะผลที่ตามมาจากความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวกลับทำให้เมือง รัฐ หรือประเทศนั้นๆ ประสบกับปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น’ (overtourism) ซึ่งในบางที่เจอปัญหาเสียงรบกวนที่เพิ่มขึ้น มลพิษ การจราจร คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นลดลง และขยะล้นเมืองตามมาด้วย 

ว่าแต่ว่ามีเมืองไหน ประเทศใดที่เคยประสบปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น’ บ้าง? แล้วรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร? แน่นอนว่าประเทศ ‘ไทย’ ของเราเป็นหนึ่งในนั้นที่ประสบกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน 

-บาหลี-

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Photo01.jpg

จังหวัด ‘บาหลี’ ของอินโดนีเซีย เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากหลังภาพยนต์เรื่อง ‘Eat Pray Love’ สร้างชื่อให้เกาะสวรรค์แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต้องมาเยือนตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเริ่มล้นเกาะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางการรับมือไม่ไหวจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ 

ในตอนนี้ก็มีทั้งคนเร่ร่อนดิจิทัล (Digital nomad / กลุ่มคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ หรือทำงานกับนายจ้างผ่านทางระบบโทรคมนาคม พร้อมกับเดินทางท่องเที่ยวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บางคนอาจอาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นถิ่นพำนัก) ไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่ประพฤติตัวไม่ดีและใครก็ตามที่มีหนังสือเดินทางอยู่ระหว่างนั้น 

บาหลีแก้ปัญหายังไง : 

ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2023 ‘วายัน คอสเตอร์’ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้กำหนดรายการสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำไว้ในหนังสือเดินทางนักท่องเที่ยว รวมถึงกฏห้ามสบถคำหยาบ ห้ามสัมผัสต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือห้ามปีนสิ่งก่อสร้าง 

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปบาหลีตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 จะต้องจ่ายภาษีใหม่จำนวน 150,000 รูเปียห์อินโดนีเซีย (ราว 341 บาท) และนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้วจะ ‘ไม่ได้’ รับการยกเว้น ‘ไม่ต้องชำระเงิน’ อีกครั้งหากพวกเขากลับมาที่บาหลีหลังจากไปเที่ยวจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในอินโดนีเซีย 

-ญี่ปุ่น-

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Photo02.jpg

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศ ‘ญี่ปุ่น’ กลายเป็นดินแดนที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี หรือช่วงฤดูไหนโดยเฉพาะฤดูหนาวก็จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ทะลักเต็มภูเขาไฟฟูจิ รวมไปถึงจุดชมซากุระในฤดูใบไม้ผลิที่มีผู้คนแวะเวียนไปถ่ายรูปอย่างไม่ขาดสาย 

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ผลักดันอย่างมากในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น และภาคส่วนนี้ได้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนมันไปถึงระดับที่ว่า ‘นักท่องเที่ยวล้นประเทศ’ ซึ่งเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตของพลเมืองในท้องถิ่นที่ลำบากมากขึ้น สร้างความแออัด ปัญหาการทิ้งขยะ การจราจร-คมนาคมบนยานพาหนะสาธารณะล่าช้า และความเสียหายต่อทรัพย์สิน  

ญี่ปุ่นแก้ปัญหายังไง : 

  • ทางการเพิ่มบริการรถบัสและแท็กซี่ 
  • อนุญาตให้บริษัทต่างๆ กำหนดค่าโดยสารที่แตกต่างกันในช่วงเวลาเร่งด่วน 
  • รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับชุมชนท้องถิ่น 
  • โครงการริเริ่มดึงนักท่องเที่ยวออกจากเมืองใหญ่ 3 เมืองยอดนิยมอย่างโตเกียว เกียวโต และโอซาก้า เพื่อกระจายรายได้ไปยังพื้นที่เมืองอื่นๆ 
  • ช่วงกรกฎาคมปีนี้ ทางการเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมปีนภูเขาไฟฟูจิ 13 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 465 บาท)  

-ภูฏาน-

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Photo03.jpg

แม้ว่าภูมิประเทศจะถูกรายล้อมไปด้วยเทือกเขาหิมาลัยอย่าง ‘ภูฏาน’ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการมาเยือนของนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด ด้วยวัฒนธรรมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามกลับกลายเป็นจุดดึงดูดให้ประเทศนี้เป็นอีกหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เก่าแก่และพิเศษที่สุดในโลก 

ภูฏานแก้ปัญหายังไง : 

ภูฏานมีนโยบายเก็บภาษีท่องเที่ยว หรือค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) 200 ดอลลาร์สหรัฐ/คน (ราว 7,400 บาท) มานานหลายทศวรรษเพื่อหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวมากเกินไป ป้องกันขยะล้นเมือง และรักษาสถานะเป็นประเทศเดียวในเอเชียใต้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นลบ  

แต่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วภูฏานได้ลดค่าธรรมเนียมรายวันลงครึ่งหนึ่งเหลือ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,700 บาท) เนื่องจากทางการมุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น การจ้างงาน การปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

-อัมสเตอร์ดัม-

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Photo04.jpg

‘อัมสเตอร์ดัม’ เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ กำลังกลายเป็นเป้าสายตาของชาวโลกและสร้างเม็ดเงินอย่างมากโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนามบินสคิปโฮลของอัมสเตอร์ดัมยังเป็นสนามบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 60 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว 

การหลั่งใหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวทำให้พลเรือนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกบุกรุกความเป็นส่วนตัว เพราะมีร้านค้า ร้านอาหารผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเพื่อรับรองนักท่องเที่ยว บางย่านยังกลายเป็นแหล่งมั่วสุมอีกด้วยโดยเฉพาะย่านโคมแดง (Red Light District)) นอกจากนี้ พฤติกรรมก้าวร้าวโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวก็สร้างความลำบากใจให้คนท้องถิ่นอย่างมาก ได้แก่ การปัสสาวะและอาเจียนในที่สาธารณะ การทิ้งขยะ การเมาสุรา และการส่งเสียงดัง  

อัมสเตอร์ดัมแก้ปัญหายังไง : 

  • ห้ามเสพยา กัญชา และบริการทางเพศย่านโคมแดง 
  • สำหรับจักรยานนั่งดื่มเบียร์ (Beer Bikes) ห้ามส่งเสียงดัง 
  • ไม่อนุญาตให้สร้างอาคารโรงแรมใหม่อีกต่อไปเพื่อควบคุมการท่องเที่ยวของมวลชน โรงแรมใหม่ในอัมสเตอร์ดัมจะถูกสร้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโรงแรมอื่นปิดตัวลง แต่กฎดังกล่าวใช้ไม่ได้กับโรงแรมใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 
  • ห้ามให้บริการเรือสำราญ ในแต่ละปีมีเรือเข้าเทียบท่ามากถึง 100 ลำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดนักท่องเที่ยวล้นเมืองและเกิดมลพิษ อีกอย่างการท่องเที่ยวทางเรือไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากนัก 

-ภูเก็ต-

overtourism-how-government-manage-this-problem-SPACEBAR-Photo05.jpg

หากพูดถึงเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทยที่นอกจากกรุงเทพฯ พัทยาแล้ว ก็ยังมี ‘ภูเก็ต’ ดินแดนไข่มุกอันดามันที่ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ ‘MoneyTransfers.com’ ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่มีผู้คนหนาแน่นที่สุดในโลกในปี 2023 โดยมีนักท่องเที่ยวมากถึง 118 คนต่อผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นทุกคน โดยพัทยาตามมาเป็นอันดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวคิดเป็น 98.7 คนต่อผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น ส่วนกระบี่ตามมาเป็นอันดับที่ 3 มีนักท่องเที่ยวคิดเป็น 72.2 คนต่อผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น 

เดิมทีก็เป็นสถานที่ยอดนิยมอยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีผู้อพยพลี้ภัยมาอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก และมีหลายรายที่แย่งงานคนท้องถิ่น แอบไปเปิดบริษัททำงานกับคนสัญชาติเดียวกันก็มี สร้างความไม่พอใจให้กับคนภูเก็ตมากนักจนมีเหตุประท้วงขึ้น หรือแม้กระทั่งเคสชาวต่างชาติบางคนที่ประพฤติตัวไม่ดีทำร้ายคนท้องถิ่นจนเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว 

นอกจากนี้ระบบนิเวศของชายหาดบางแห่งก็ไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่เพราะมีผู้มาเยือนมากเกินไป 

ปัจจุบันแม้มีมาตรการเข้มงวดจับชาวต่างชาติที่แอบตั้งบริษัทแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ใช่ว่าจะถอนรากถอนโคนไปหมดซะทีเดียว ปัญหาชาวบ้านส่วนใหญ่โดนแย่งงานยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่คนภูเก็ตอยากให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไข ขณะที่ชายหาดบางส่วนต้องปิดชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศให้มีความสมดุลไม่เสื่อมโทรม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์