หรือหยวนเมิ่งจะแค่ขนสีน้ำตาลไม่ได้สกปรก เพราะวิจัยพบแพนด้าไม่ได้มีแต่สีขาวดำ

15 เมษายน 2567 - 02:00

pandas-are-not-all-black-and-white-genetic-caused-some-brown-SPACEBAR-Hero.jpg
  • จริงๆ แล้วแพนด้าไม่ได้มีแค่ขนสีขาว-ดำเท่านั้น แพนด้าบางตัวมีขนสีขาว-น้ำตาลซึ่งถือเป็นของหายากสุดๆ

  • แพนด้าขนสีขาว-น้ำตาลถูกพบครั้งแรกบนภูเขาฉินหลิ่งในมณฑลส่านซีของจีนเมื่อปี 1985

  • นักวิทยาศาสตร์พบยีน Bace2 ที่ทำให้แพนด้ามีขนสีน้ำตาล

แพนด้า “ฝูเป่า” ที่เกิดในเกาหลีใต้กลายเป็นขวัญใจคนไทยอีกหนึ่งตัวหลังมีข่าวว่าเจ้าตัวอ้วนเพิ่งถูกส่งตัวกลับจีน แต่พอมีข่าวว่าฝูเป่าถูกจับคู่กับ "หยวนเมิ่ง" แพนด้าที่เพิ่งกลับจากฝรั่งเศส ก็เริ่มมีเสียงจากบรรดาแม่ๆ ไทยว่าเจ้าหนุ่มฝรั่งเศสตัวนี้ดูไม่ค่อยเหมาะกับฝูเป่าที่เกาหลีใต้ประคบประหงมมาอย่างดีราวกับเจ้าหญิง เพราะเนื้อตัวดูมอมแมม ไม่หล่อเลย ฝั่งแม่ๆ เกาหลีแซวหนักกว่า บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่าหยวนเหมิงเป็นขอทานเลยทีเดียว 

แต่อย่าเพิ่งบุลลี่หยวนเมิ่ง เพราะบางทีน้องอาจจะแค่ขนสีน้ำตาลเฉยๆ ไม่ได้มอมแมมอย่างที่เราๆ มองกันก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วแพนด้าไม่ได้มีแค่ขนสีขาว-ดำเท่านั้น แพนด้าบางตัวมีขนสีขาว-น้ำตาลซึ่งถือเป็นของหายากสุดๆ 

ถ้าสังเกตดีๆ ตอนหยวนเมิ่งยังเด็กๆ ขนของน้องจะออกสีน้ำตาลนิดๆ ผิดกับลูกแพนด้าตัวอื่นๆ ที่จะออกสีขาว-ดำชัดเจนตั้งแต่แรก

pandas-are-not-all-black-and-white-genetic-caused-some-brown-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ภาพถ่ายของหยวนเมิ่งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2018 ที่สวนสัตว์โบวาล Photo by GUILLAUME SOUVANT / AFP

พบแพนด้าขาว-น้ำตาลครั้งแรก 

แพนด้าขนสีขาว-น้ำตาลตัวแรกที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักเป็นแพนด้าเพศเมียชื่อ ตันตัน (Dan Dan) ที่ถูกชาวบ้านพบนอนป่วยอยู่บนภูเขาฉินหลิ่งในมณฑลส่านซีของจีนเมื่อปี 1985 ตันตันถูกนำตัวกลับมาที่ศูนย์ศึกษาแพนด้าและอยู่ในความดูแลของศูนย์จนตายไปเมื่อปี 2000 

หลังจากพบตันตันก็มีรายงานว่าพบแพนด้าขนน้ำตาลอีก 11 ตัว ซึ่งทีมนักวิจัยบอกว่า นั่นแปลว่าการมีขนสีน้ำตาลส่งต่อทางพันธุกรรมได้  

แพนด้าขนน้ำตาลเรียกอีกอย่างว่า แพนด้าฉินหลิ่ง เพราะพวกมันพบได้เฉพาะบนภูเขาฉินหลิ่งเท่านั้น โดยเป็นสายพันธุ์ย่อยของแพนด้าทั่วไป

pandas-are-not-all-black-and-white-genetic-caused-some-brown-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Photo by Xinhua

ไขปริศนาขนน้ำตาล 

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบเรื่องขนสีน้ำตาลของแพนด้าฉินหลิ่งมาโดยตลอด จนกระทั่งในที่สุดก็ได้คำตอบ ทีมนักวิทยาศาสตร์ศึกษาแพนด้าขนสีน้ำตาลชื่อ ชีไจ่ (Qi Zai) แพนด้าเพศผู้ที่เจ้าหน้าที่นำกลับมาดูแลเมื่อปี 2009 หลังจากพบว่ามันถูกแม่ทิ้ง ปัจจุบันนี้ชีไจ่เป็นแพนด้าสีน้ำตาลเพียงตัวเดียวที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์ 

เมื่อเปรียบเทียบตัวอย่างขนของชีไจ่กับขนของแพนด้าสีขาว-ดำด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่า ขนของชีไจ่มีถุงเม็ดสีที่ส่งผลต่อสีของผิวและเส้นขนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้อยและเล็กกว่า และถุงเม็ดสีที่ว่านี้ยังมีรูปร่างผิดปกติด้วย 

หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ลงมือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยีนของชีไจ่และสร้างสาแหรกครอบครัว การตรวจสอบมูลที่เก็บได้ในศูนย์อนุรักษ์ทางธรรมชาติทำให้ทีมสามารถระบุตัวแม่ของชีไจ่ได้ นั่นคือแพนด้าป่าที่มีขนสีปกติซึ่งมีปลอกคอติดตามตัวติดอยู่ชื่อ นิวนิว (Niu Niu) และยังระบุไปถึงลูกเพศผู้ของชีไจ่ที่มีขนสีขาว-ดำซึ่งเกิดในศูนย์อนุรักษ์ในปี 2020 โดยภายหลังเมื่อศึกษายีนของแพนด้าในวงกว่างขึ้นยังพบว่าพ่อของชีไจ่คือ สี่เยว่ (Xi Yue) ซึ่งเป็นแพนด้าป่าที่ติดปลอกคอติดตามตัวและมีขนสีขาว-ดำ 

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยีนของสมาชิกในครอบครัวของชีไจ่แล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลยีนของแพนด้าขนขาว-ดำ 12 ตัวจากภูเขาฉินหลิ่ง และแพนด้าขาว-ดำจากภูมิภาคอื่นๆ ในจีนโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างมูลและเลือด 

แม้ว่าแสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับชีไจ่จะไม่มีขนสีน้ำตาลเลย แต่ทั้งพ่อแม่และลูกของชีไจ่ทั้งหมดล้วนมียีนด้อยที่เรียกว่า Bace2 ตัวละ 1 คู่ แต่ชีไจ่เองมี 2 คู่ 

ยีนของแต่ละบุคคลสามารถแสดงลักษณะด้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นตาสีฟ้าหรือผมสีแดงในมนุษย์ โดยที่ไม่แสดงออกมาภายนอก ทั้งพ่อและแม่จะต้องมียีนด้อยนี้คนละ 1 คู่จึงจะทำให้ลูกแสดงลักษณะนั้นๆ ออกมา เช่นเดียวกับเคสของชีไจ่ 

พบยีนต้นเหตุขนน้ำตาล 

การวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บไว้ในเอทานอลมากกว่า 2 ทศวรรษทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดลำดับจีโนมของตันตันซึ่งเป็นแพนด้าขนน้ำตาลตัวแรกที่มนุษย์พบเจอ ซึ่งก็พบว่าตันตันมียีนด้อยนี้เช่นกัน 

นักวิทยาศาสตร์ยังขยายวงการวิเคราะห์จีโนมแพนด้าขนขาว-ดำอีก 192 ตัวเพื่อตรวจสอบยีน Bace2 โดบพบยีนที่ทำให้ขนเป็นสีน้ำตาลจากแพนด้าที่มาจากภูเขาฉินหลิ่งเพียง 2 ตัว และไม่พบในแพนด้าที่มาจากเสฉวนซึ่งเป็นพื้นที่ที่แพนด้าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ 

และเพื่อเป็นการยืนยันการค้นพบดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีตัดต่อยีนที่เรียกว่า CRISPR-Cas9 เพื่อตัดยีนที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในยีน Bace2 ในหนูทดลอง 78 ตัว พบว่าการตัดยีนออกนั้นลดจำนวนและขนาดของถุงเม็ดสีในหนู ทำให้หนูมีขนสีน้ำตาล ซึ่งพิสูจน์ว่าการตัดยีนนี้ออกมีแนวโน้มเปลี่ยนสีขนของหนูทดลอง ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากที่การกลายพันธุ์นี้จะส่งผลต่อสีขนของแพนด้าขนน้ำตาล

pandas-are-not-all-black-and-white-genetic-caused-some-brown-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศสร่วมพิธีประกาศชื่อของหยวนเมิ่งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2017 Photo by Thibault Camus / POOL / AFP

สตรีหมายเลขหนึ่งเป็นแม่ทูนหัว 

หากว่ากันที่เรื่องคุณสมบัติ หยวนเมิ่งก็ไม่ใช่แพนด้าไก่กา น้องเป็นถึงลูกทูนหัวของ บริจิตต์ มาครง สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศส ที่เอ็นดูหยวนเมิ่งเป็นพิเศษและแวะไปเยี่ยมตั้งแต่เด็กจนโต ครั้งละหลายชั่วโมง แถมยังช่วยทำพิธีตั้งชื่อให้ด้วยด้วยเองโดยเธอเลือกชื่อ หยวนเมิ่ง ซึ่งแปลว่า ฝันที่เป็นจริง

แม่ทูนหัวส่งถึงสนามบิน 

วันที่ต้องเดินทางกลับจีน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศสเดินทางไปส่งหยวนเมิ่งถึงรันเวย์สนามบิน ส่วนชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ ก็พากันมายืนเรียงแถวโบกไม้โบกมือบ๊ายบาย “เจ้าชายน้อย” (Le Petit Prince) ที่พวกเขาเคยขนานนามให้ ตลอดสองข้างทางที่รถยนต์ที่บรรทุกหยวนเมิ่งขับผ่านไปสู่สนามบิน 

จะว่าไปหยวนเมิ่งมีดีกรีไม่เบาเลยทีเดียว ทั้งลูกชายทูนหัวของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ทั้งเจ้าชายน้อยของคนฝรั่งเศส วอนแม่ๆ เอ็นดูน้องสักนิดดด 

Photo by Guillaume SOUVANT / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์