เมื่อ ‘หลอดกระดาษ’ (อาจ) เป็นมลพิษพอๆ กับ ‘หลอดพลาสติก’

28 สิงหาคม 2566 - 06:24

paper-straws-bad-for-environment-as-plastic-versions-SPACEBAR-Hero
  • นักวิจัยได้ทดสอบหลอดทั้งหมด 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สแตนเลส และพลาสติก

  • และพบว่าเจอสาร PFAS ในหลอดส่วนใหญ่ โดยพบบ่อยที่สุดในหลอดที่ทำจากกระดาษและไม้ไผ่

  • ขณะที่นักวิจัยแนะนำให้ผู้คนใช้หลอดสแตนเลส หรือหลีกเลี่ยงการใช้หลอดไปเลย

เมื่อ ‘หลอดกระดาษ’ (อาจ) ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้โลกของเราเริ่มรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การแยกขยะก่อนทิ้ง การใช้หลอดไฟ LED หรือแม้แต่การเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก 

แน่นอนว่าใครหลายๆ คนอาจจะไม่ชอบสัมผัสของหลอดกระดาษสักเท่าใดนัก และการศึกษาใหม่ล่าสุดยังบอกด้วยว่า จริงๆ แล้วหลอดกระดาษที่ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ นั้นมีสารเคมีที่ติดทนนานและอาจเป็นพิษได้ 

ในการวิเคราะห์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรป โดยนักวิจัยชาวเบลเยียมได้ทดสอบหลอดทั้งหมด 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สแตนเลส และพลาสติก จากนั้นก็ทำการทดสอบหาสาร ‘สารโพลีและเพอร์ฟลูออโรอัลคิล’ (PFAS) 2 รอบ ซึ่งพบว่าเจอสาร PFAS ในหลอดส่วนใหญ่ถึง 69% และพบบ่อยที่สุดในหลอดที่ทำจากกระดาษและไม้ไผ่

อย่างไรก็ดี สารเคมีสังเคราะห์ดังกล่าวนั้นถูกนำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงกระทะเคลือบสาร non-stick ที่ทนต่อน้ำ ความร้อน และคราบสกปรก โดยสารเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้คน สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารจะสลายตัวช้ามากเมื่อเวลาผ่านไปและสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายพันปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้สารเหล่านี้ถูกเรียกว่า 'สารเคมีอมตะ' (forever chemicals) 

นอกจากนี้ สาร PFAS ยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายประการ รวมถึงตอบสนองต่อวัคซีนที่ลดลง น้ำหนักแรกเกิดลดลง โรคต่อมไทรอยด์ ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น การเสียหายของตับ มะเร็งไต และมะเร็งอัณฑะ 

ทั้งนี้ นักวิจัยแนะนำให้ผู้คนใช้หลอดสแตนเลส หรือหลีกเลี่ยงการใช้หลอดไปเลย “หลอดที่ทำจากวัสดุจากพืช เช่น กระดาษและไม้ไผ่ มักถูกโฆษณาว่ามีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดที่ทำจากพลาสติก”  

“อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของสาร PFAS ในหลอดเหล่านี้หมายความว่า นั่นไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงเสมอไป…PFAS จำนวนเล็กน้อยถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายในตัวมันเอง แต่ก็สามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีที่มีอยู่ในร่างกายได้” ดร.ทิโม กรอฟเฟน นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปกล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์