ปารีสไม่ใช่เมืองโรแมนติกอีกต่อไป เมื่อกองทัพหนูนับล้านบุกเมือง

15 มิ.ย. 2566 - 09:53

  • จะเป็นอย่างไรถ้าชาวปารีสต้องอยู่ร่วมกับประชากร ‘หนู’ 6 ล้านตัวที่มีมากกว่าพลเมืองในเมืองนี้ซะอีก

  • เมื่อประชากรหนูเยอะเกินกว่าจะกำจัดทิ้ง นโยบายที่ออกใหม่ก็คือ ‘ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน’

paris-france-heaven-of-rats-SPACEBAR-Thumbnail

เมื่อ ‘ปารีส’ กลายเป็นเมืองสวรรค์สำหรับ ‘หนู’ 

ชาวเมืองปารีสกำลังเจอปัญหาใหญ่ซะแล้ว เมื่อเหล่าครอบครัว ‘หนู’ ที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เกลื่อนเต็มเมืองไปหมด แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสะสมของขยะ ทว่าตอนนี้ประชากรหนูอาจเยอะเกินไปจนยากที่จะกำจัดทิ้งเสียด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่ว่าต้องมีประกาศออกมาว่า ‘ปารีสต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับหนู!’ 
 
‘ปารีส’ ที่ใครๆ กล่าวขานว่าเป็นเมืองแห่งความโรแมนติกกำลังถูกหนูรบกวนอย่างหนัก และติดอันดับ 1 ใน 5 เมืองที่มีหนูมากที่สุดในโลกอีกด้วย รองจากเมืองเดสช์โนก (Deshnoke) ในอินเดีย ลอนดอน และนิวยอร์ก โดยมีหนูประมาณ 6 ล้านตัวอาศัยอยู่ในกรุงปารีสซึ่งมากกว่าชาวปารีส (2.1 ล้านคน) ที่อาศัยอยู่ที่นั่นซะอีก หรือคิดเป็นสัดส่วนหนูร้อยละ 1.75 ต่อประชากร 1 คนจากประชากรปารีส 2,175 ล้านคน 
 
แม้ว่าพวกมันจะเคยมีประวัติอันเลวร้ายในการแพร่กระจายแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกาฬโรค ซึ่งคร่าชีวิตประชากรยุโรปไปมากถึง 60% ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1300 
 
แต่จากการศึกษาในปี 2020 ของสถาบันสำรวจความคิดเห็นแห่งฝรั่งเศส (French Institute of Public Opinion) พบว่า ชาวปารีสจำนวน 61% ชอบวิธีการที่จะไม่ทำให้หนูเหล่านั้นเสียชีวิต เช่น การคุมกำเนิดเพื่อควบคุมประชากรหนูในเมืองหลวงของฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะเป็นอิทธิพลของการ์ตูนดิสนีย์เรื่องดังอย่าง ‘Ratatouille’ ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนกับหนูโดยมีภูมิหลังเป็นเมืองปารีส 

‘หนู’ กับภาพจำแย่ๆ ในอดีต

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7Gw6Rr1SIGg5VTBjgpSjjv/5eff325699a4a396a64a6d89308cecd5/paris-france-heaven-of-rats-SPACEBAR-Photo01
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 14 ที่กาฬโรคระบาดหนักๆ จนคร่าชีวิตประชากรไปเกือบครึ่ง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากหนูเหล่านี้ 
 
พวกมันจึงถูกฆ่าด้วยสารหนูและเกิดอาชีพกำจัดหนูขึ้นมา “เมืองนี้จ้าง ‘คนกำจัดหนู’ มืออาชีพเพื่อที่จะนำหางของมันไปที่ศาลากลางเพื่อรับโบนัส และพบว่าพวกเขาสามารถฆ่าหนูได้มากกว่า 2,500 ตัวในคืนเดียว...ขณะที่หนังของมันถูกรวบรวมไปขายให้กับช่างฟอกหนังในราคาตัวละ 10 ซองตีม (centime / คล้ายๆ เหรียญสลึง) เพื่อผลิตถุงมือสุดเก๋” 
 
นอกจากนี้ ในการปิดล้อมกรุงปารีสในปี 1870 ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย หนูยังกลายเป็นอาหารหลักสำหรับชาวเมืองที่อดอยากอีกด้วย “โดยมีปรุงอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงพิษใดๆ ว่ากันว่าเนื้อของมันใกล้เคียงกับเนื้อของนก ซึ่งในช่วงเวลานั้นฤดูหนาวปี 1870 พวกหนูทั้งหลายก็ไม่เคยเข้าใกล้ชาวปารีสเลย” สำนักข่าว Le Point ระบุ 

แล้ว ‘คน’ กับ ‘หนู’ อยู่ร่วมกันได้ไหม?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1L1N9UOfUnpO5SoXSERFBi/fc10776bc30082a5237be9c57ec5ee05/paris-france-heaven-of-rats-SPACEBAR-Photo02
‘คน’ กับ ‘หนู’ อยู่ร่วมกันได้ไหม? นั่นคือสิ่งที่ผู้นำเมืองในปารีสพยายามหาคำตอบเช่นเดียวกับมหานครอื่นๆ ที่ประสบปัญหาหนูครองเมือง 
 
นายกเทศมนตรีกรุงปารีส แอนน์ อีดัลโก กำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา ‘การอยู่ร่วมกัน’ ว่ามนุษย์และเจ้าหนูตัวปัญหาสามารถอยู่ร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด  
 
ขณะที่ เจฟฟรอย บูลาร์ด หัวหน้าเขตปกครองที่ 17 ของปารีสซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายขวาได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำแผนที่มีความทะเยอทะยานเพื่อต่อต้านการเพิ่มจำนวนของหนูในที่สาธารณะ โดยก่อนหน้านี้เขาเคยวิจารณ์อีดัลโก สมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายว่าการจัดการยังไม่เพียงพอที่จะกำจัดหนูในปารีส เนื่องจากช่วงต้นปี 2023 เกิดเหตุประท้วงทำให้มีการนัดหยุดงานและพนักงานเก็บขยะไม่ทำงานส่งผลให้มีขยะกองโตทั่วเมือง 
 
“การปรากฏตัวของหนูบนพื้นผิวเป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของชาวปารีส” บูลาร์ดกล่าว และกำลังตั้งคำถามหลังจากได้ศึกษา ‘Project Armageddon’ ที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งภารกิจของโครงการคือ ‘การช่วยเหลือเมืองในการจัดการประชากรหนู’ แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการคือ ‘การต่อสู้กับอคติที่มีต่อหนู เพื่อช่วยให้ชาวปารีสใช้ชีวิตร่วมกับพวกมันได้ดีขึ้น’ 
 
ทั้งนี้ แอนน์ ซูคีส์ รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีสที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขได้อธิบายว่า “สิ่งที่กำลังศึกษาคือมนุษย์และหนูสามารถอยู่ร่วมกันได้มากน้อยเพียงใดในแบบที่ ‘มีประสิทธิภาพมากที่สุด’ และในขณะเดียวกันก็รับประกันได้ว่าชาวปารีสอาจจะทนอยู่กับพวกมันได้” 
 
แม้ว่าหนูจะสามารถแพร่เชื้อโรคได้? ซูคีส์ กล่าวว่า “หนูที่กำลังพูดถึงไม่ใช่หนูดำชนิดเดียวกันที่สามารถแพร่เชื้อโรคได้ แต่เป็นหนูชนิดอื่นที่เป็นพาหะนำโรค เช่น โรคฉี่หนู (leptospirosis) ซึ่งเป็นโรคจากแบคทีเรีย” โดยซูคีส์ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินการบางอย่างของเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนต่อต้านหนูในปี 2017 รวมถึงการลงทุนถังขยะใหม่หลายพันใบเพื่อ ‘ทำให้หนูกลับลงไปอยู่ใต้ดิน’ 
 
นอกจากนี้ ซูคีส์ยังกล่าวในภายหลังบน Twitter ว่า “หนูของปารีสไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน” 
 
ด้านกลุ่มสิทธิสัตว์ ‘Paris Animaux Zoopolis’ (PAZ) กล่าวว่า “มีหนูอยู่ในปารีส เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ทุกแห่งในฝรั่งเศส ดังนั้นคำถามเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันจึงเกิดขึ้น”  
 
“เรากำลังพูดถึง ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ’ กับหนู เราไม่ได้หมายถึงการอยู่ร่วมกับพวกมันในบ้านและอพาร์ตเมนต์ของเรา แต่ก็ต้องแน่ใจว่าสัตว์เหล่านี้จะไม่ทรมานและไม่ถูกรบกวน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง!” 
 
นอกจากปารีสแล้ว เมื่องอื่นๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน! 
 
เมืองอื่นๆ ได้แสวงหาวิธีการเชิงรุกแต่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหา อย่างในปี 2021 เมืองตูลูสของฝรั่งเศสก็เริ่มใช้เจ้าเฟอร์เร็ต (ferrets) ลักษณะคล้ายพังพอนเพื่อกำจัดฝูงหนูในพื้นที่สาธารณะ 
 
ฟรองซวส อองปูว์ลองก์ ที่ปรึกษาเทศบาลที่รับผิดชอบด้านสวัสดิภาพสัตว์ในเมืองตูลูสกล่าวว่า “มีการวางกับดักไว้ที่ทางออกของโพรง และปล่อยเฟอร์เร็ต 3 ตัวเพื่อไล่หนูออกไป โดยทั่วไปแล้วกับดักแบบดั้งเดิมจะจับได้เฉพาะหนูอายุน้อย แต่ระบบนี้ประสบความสำเร็จในการจับจ่าฝูงที่สร้างลูกครอกใหญ่ได้” 
 
“กลยุทธ์นี้เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์นอกเหนือจากระบบทั่วไป เนื่องจากมีกฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ยาพิษ” อองปูว์ลองก์กล่าว ซึ่งหนูที่เฟอร์เร็ตจับได้จะถูกการุณยฆาตด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 
 
‘ปารีส’ อาจจะไม่ใช่เมืองเดียวที่ยอมจำนนต่อสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือโลกของ ‘หนู’ และบางทีเราอาจต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์