สถานการณ์ไฟป่าในลอสแอนเจลิสเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้ว แต่ไฟป่าในเขตพาลิเซดส์ และเขตอีตันยังคงดับไม่หมด ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งดับไฟอย่างเต็มกำลัง ต้องสู้ทั้งกับไฟ หมอกควัน ไหนจะลมอีก สำหรับยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 25 ราย อาคารบ้านเรือนกว่า 12,000 หลังถูกเผาทำลาย
ท่ามกลางซากปรักหักพัง และฉากหลังอันเลวร้ายนี้ มีเพียงบ้านไม่กี่หลังเท่านั้นที่ ‘รอดจากไฟป่า’ มาได้ บางหลังยังคงสภาพสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ แต่มันเป็นไปได้อย่างไรที่บ้านบางหลังแทบจะไม่ถูกไฟเผาเลย หนึ่งในนั้นมีบ้านของ ‘เกร็ก เชเซน’ ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2024 ในย่านพักอาศัย ‘แปซิฟิก พาลิเซดส์’ ที่ยังคงตั้งตะหง่านในขณะที่บ้านข้างเคียงกลายเป็นซาก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? นั่นก็เพราะว่า เชเซน เจ้าของบ้านซึ่งเป็นสถาปนิกได้ออกแบบบ้านที่เรียกว่า ‘Passive House’ หรือบ้านประหยัดพลังงานที่มีคุณสมบัติทนไฟนั่นเอง
บ้าน ‘Passive House’ คืออะไร...
‘Passive House’ (พาสซีฟเฮาส์) เป็นบ้านที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีความร้อน หรือความเย็นน้อยที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดสำหรับผู้ซื้อบ้าน
Passive House จะต้องใช้พลังงานในการทำความร้อนน้อยลง 86% และใช้พลังงานในการทำความเย็นน้อยลง 46% เมื่อเทียบกับอาคารอื่นๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานในสภาพอากาศเดียวกัน อาจสร้างในพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดสูงสุดในฤดูหนาว และร่มเงาในฤดูร้อนได้
ตัวบ้าน Passive House จะใช้ฉนวนกันความร้อนภายนอกที่แข็งแรง และใช้หน้าต่างกระจก 3 ชั้น เพื่อลด หรือขจัดความจำเป็นในการใช้ความร้อนในฤดูหนาว และเครื่องปรับอากาศในฤดูร้อน นอกจากนี้ ตัวบ้านยังถูกออกแบบไม่ให้ความร้อนถ่ายเทไปยังภายนอกอาคาร ไม่ให้อากาศภายนอกซึมเข้ามา และไม่มีอากาศภายในระบายออก
บ้าน Passive House เป็นที่นิยมในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนี และถึงแม้ว่าบ้านแนวนี้จะยังไม่ค่อยมีในสหรัฐฯ แต่ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป
“Passive House หลังแรกถูกสร้างขึ้นในอเมริกาเหนือเมื่อทศวรรษที่ 1970 แต่เมื่อราคาพลังงานสูงมาก ผู้คนบางส่วนก็เลิกสนใจ...Passive House เพิ่งจะได้รับความนิยมในอเมริกาเหนือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง” ไมเคิล คเนโซวิช โฆษกของสถาบัน Passive House กล่าว
รัฐต่างๆ เช่น นิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ และเพนซิลเวเนียเป็นรัฐกลุ่มแรกๆ ที่นำเทคนิค Passive House มาใช้ ตามข้อมูลของ Passive House Network ระบุว่า ในปี 2023 มีโครงการสร้างอาคารพักอาศัยแบบ Passive House หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 16,000 ยูนิตทั่วประเทศ
ทำไมบ้านของเชเซนในย่านพักอาศัย ‘แปซิฟิก พาลิเซดส์’ ถึงรอดไฟป่า?
นั่นก็เป็นเพราะว่า...ตัวบ้านของเชเซนถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่าย ไม่มีชายคา หรือส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านทำให้ไม่มีร่องบ้านเล็กๆ ให้ถ่านไฟเกาะได้ ในส่วนของหน้าต่างเป็นกระจกหนา 3 ชั้น และกำแพงเป็นผนังคอนกรีต
สำหรับปัจจัยรอบๆ ตัวบ้านที่ทำให้บ้านหลังนี้ยังคงตั้งอยู่ได้ ได้แก่ :
- การจัดภูมิทัศน์และวัสดุที่ใช้
- ลานกรวดหิน พร้อมพุ่มไม้เล็กน้อย
- ลานดินเปล่าๆ ทางด้านซ้ายมือของตัวบ้าน ซึ่งถูกถางหญ้าไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ เป็นเหตุพื้นที่ทางฝั่งนี้ได้รับการปกป้องจากไฟป่ามากกว่า
สภาพแวดล้อม และโครงสร้างของตัวบ้านที่ปิดสนิทแบบนี้ช่วยปกป้องบ้านจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น เสียง มลพิษ ควัน และในกรณีร้ายแรงคือ ‘ไฟไหม้’ ฉนวนที่ผสานกับความแน่นหนาของอากาศจะช่วยปกป้องโครงสร้างไม่ให้ลุกไหม้ได้อย่างแท้จริง”
เคน เลเวนสัน กรรมการบริหารของ ‘Passive House Network’ กล่าว
เชเซนโพสต์บน X ว่า “ทางเลือกการออกแบบบางส่วนที่เราเลือกช่วยได้ แต่เราก็โชคดีมากเช่นกัน”
หลักการสำคัญ ‘Passive House’ ช่วยบ้านทนทานไฟ

การสร้างบ้านตามหลักการ ‘Passive House’ นั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้อาคาร หรือบ้านทนต่อควันและไฟ มี 5 ประการดังนี้ :
- ฉนวนกันความร้อนแบบพิเศษ
- โครงสร้างแบบกันอากาศเข้า
- กระจกประสิทธิภาพสูง
- การออกแบบที่ปราศจากสะพานความร้อน
- การระบายอากาศแบบกู้คืนความร้อน
“การก่อสร้างแบบกันอากาศช่วยป้องกันไม่ให้ถ่านไฟถูกดูดเข้าไปในโครงสร้างอาคาร รูปแบบที่เรียบง่ายกว่า (ซิกแซกน้อยลง ฯลฯ) เพราะจะได้มีซอกมุมให้ถ่านไฟเกาะน้อยลง รวมทั้งพื้นผิวโดยรวมที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ก็ลดลงด้วย”
ซาคารี เซมเค ผู้อำนวยการสถาบัน ‘Passivee House Accelerator’ กล่าว
อิกนาซิโอ โรดริเกซ ซีอีโอของบริษัท ‘IR Architects’ ออกแบบบ้าน 9 หลังที่ตั้งอยู่ในเส้นทางไฟป่าพาลิเซดส์-มาลิบู ซึ่งพบว่า บ้าน 8 หลังยังคงอยู่
“การติดฉนวนกันความร้อนแบบพิเศษอย่างแน่นหนาเป็นหลักการหลักที่ช่วยเพิ่มความทนทานต่อไฟ...นอกจากนี้ หน้าต่างก็เป็น ‘กุญแจสำคัญในการดับเพลิง’ แม้ว่าโครงสร้างอาจทนต่อเปลวไฟได้ แต่ความร้อนและลมสามารถทำให้หน้าต่างปลิวไปได้ เราพบว่ากรอบหน้าต่างอะลูมิเนียมมีความทนทานมากกว่ากรอบหน้าต่างไวนิล” โรดริเกซ อธิบาย
โรดริเกซบอกอีกว่า บริษัทของเขาแนะนำให้ลูกค้าติดตั้งแผ่นกันไฟ 1 ชั่วโมงไว้ด้านหลังไม้โครงสร้าง และเคลือบสารหน่วงไฟบริเวณขอบไม้ภายนอก
แม้งบประมาณการสร้างสูง แต่คุ้มค่ามาก แถมค่าน้ำ-ไฟไม่แพง!!!

โดยทั่วไปการสร้างบ้านแบบ Passive House จะมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเพิ่มขึ้น 10-15% แต่คุณจะสามารถคืนทุนได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยค่าสาธารณูปโภคที่ลดลง เนื่องจากบ้านประเภทนี้ใช้พลังงานน้อยลงถึง 90%
แอนน์ วอนเดและสามีของเธอตัดสินใจสร้างบ้านแบบ Passive House ที่เมืองบอยซี รัฐไอดาโฮเมื่อปี 2015 เล่าว่า “ฤดูหนาวเมื่อปลายปี 2022 หนาวมาก และป้าของฉันที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ บอกว่าค่าไฟของเธออยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 หมื่นบาท) ในขณะที่ค่าไฟสูงสุดของพวกเราอยู่ที่ 112 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,900 บาท)”
“อากาศในบ้านไม่อบอ้าว และอุณหภูมิข้างในก็ค่อนข้างคงที่ทำให้รู้สึกสบายตัวมาก นอกจากนี้ ข้างในยังเงียบมาก เราไม่ได้ยินเสียงจากข้างนอกเลย” วอนเด เล่า
Photo Credit : X : g chasen @ChasenGreg