เจ้าหน้าที่ในญี่ปุ่นขอร้องประชาชนอย่าซื้อของกักตุน อันเนื่องจากความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์บรรเทาทุกข์และสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้นเมื่อวันเสาร์ (10 ส.ค.) ที่ผ่านมา
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาได้ออกคำเตือนดังกล่าวเป็นครั้งแรกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ทางตอนใต้เมื่อวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในโตเกียวได้ติดป้ายขอโทษลูกค้าสำหรับการขาดแคลนสินค้าบางรายการ โดยระบุว่าเกิดจากที่ ‘สื่อรายงานว่าอาจเกิดแผ่นดินไหว’ ป้ายดังกล่าวระบุว่า “อาจมีการจำกัดการขาย” พร้อมทั้งระบุว่า น้ำขวดถูกจำกัดปริมาณอยู่แล้วเนื่องจากการจัดซื้อที่ ‘ไม่แน่นอน’
เว็บไซต์ของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ‘Rakuten’ เผยว่า ห้องน้ำเคลื่อนที่ อาหารแปรรูปแบบแห้ง และน้ำขวด เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกบางรายตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกยังมีความต้องการสิ่งของอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การประกาศเตือนแผ่นดินไหวดังกล่าวนั้นมีความเชื่มโยงกับ ‘การมุดตัว’ ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณร่องลึกนันไก (Nankai Trough) ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วในอดีต และเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8 หรือ 9์ ทุก ๆ 100-200 ปี โดยรัฐบาลกลางเคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ราว 70%
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูงแต่ก็ยังอยู่ในระดับ ‘ต่ำ' ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและประมงก็ขอร้องให้ประชาชนอย่ากักตุนสินค้ามากเกินไป
เมื่อวันศุกร์ (9 ส.ค.) ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 บริเวณจังหวัดคานางาวะ ใกล้กรุงโตเกียว ส่งผลให้มีการส่งสัญญาณฉุกเฉินทางโทรศัพท์มือถือ และรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดให้บริการชั่วคราว
แต่ทว่านักวิทยาแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เชื่อว่าแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ร่องลึกนันไก โดยอ้างถึงระยะทาง
ขณะที่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ก็มีโพสต์สแปมที่ใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็ว “โพสต์สแปมที่แอบอ้างมาในรูปแบบคำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมักถูกโพสต์ทุกๆ ไม่กี่วินาทีบน X พร้อมด้วยลิงก์ที่พาผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์ลามกหรืออีคอมเมิร์ซแแทน โพสต์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวได้ยากขึ้นเรื่อยๆ” สถานีโทรทัศน์ NHK ระบุ
ญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกหลัก 4 แผ่น มีประชากร 125 ล้านคน ประสบภัยแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 ครั้งทุกปี โดยส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 และอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงขึ้นที่คาบสมุทรโนโตะ (Noto earthquake) บนชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 318 ราย อาคารบ้านเรือนพังทลายและถนนได้รับความเสียหาย
ประชาชนเตรียมความพร้อม

โยตะ ซูไก นักศึกษาวัย 22 ปี เผยว่า “การเห็นคำเตือนทางโทรทัศน์ทำให้ผมรู้สึกภาวะฉุกเฉิน และหวาดกลัว...” หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันพฤหัสบดี เขาจัดหาเสบียงฉุกเฉิน เช่น อาหารและน้ำ ตรวจสอบแผนที่ออนไลน์สำหรับพื้นที่อันตราย และเตรียมไปหาญาติๆ ของเขาในพื้นที่ชายฝั่งเพื่อช่วยวางแผนเส้นทางอพยพ
“แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานนี้ในวันปีใหม่เตือนใจผมว่าไม่มีใครรู้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันทำให้ผมตระหนักถึงพลังที่น่ากลัวของธรรมชาติ” ซูไกกล่าว โดยอ้างถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่คาบสมุทรโนโตะเมื่อวันที่ 1 มกราคมปีนี้
ขณะที่ มาชิโระ โอกาวะ นักศึกษาวัย 21 ปี ก็ได้เตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ที่บ้าน และบอกให้พ่อแม่ของเธอทำเช่นเดียวกัน เธอบอกว่าตอนนี้เธอจะเลี่ยงการไปชายหาด และเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น ย้ายชั้นวางของออกจากเตียงและลดความสูงของชั้นวางของลง
เหตุผลส่วนหนึ่งที่คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากก็เพราะแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น และมันทำให้ผู้คนตื่นตัว ประกอบกับภัยพิบัติในปี 2011 ได้ทิ้งรอยแผลใหญ่ไว้ในจิตใจของคนทั้งประเทศ แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ทุกๆ 2-3 ปี
โยชิโอกะ จากมหาวิทยาลัยโกเบ เล่าว่า_“ทุกครั้งที่เราเผชิญกับการสูญเสียชีวิตอันน่าสลดใจ อาคารบ้านเรือนพังถล่ม และคลื่นสึนามิที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ความกลัวเหล่านี้คงฝังรากลึกอยู่ในใจประชาชนจำนวนมาก ผมคิดว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมตัวรับมือได้อย่างดี...นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเน้นย้ำถึงการเตรียมพร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกเหมือนอย่างแผ่นดินไหวในปี 2011”_
ญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำระดับโลกด้านการเตรียมพร้อมและการรับมือกับแผ่นดินไหว ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายก่อสร้างอาคาร ไปจนถึงระบบบรรเทาทุกข์และกู้ภัย
“การเตรียมพร้อมเริ่มต้นตั้งแต่ในโรงเรียน แม้แต่โรงเรียนอนุบาลก็ยังจัดให้มีการฝึกซ้อมอพยพ ไม่เพียงแต่แผ่นดินไหวและสึนามิเท่านั้น แต่ภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะในฤดูร้อน ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น ฝนตกหนัก และน้ำท่วม การตระหนักรู้และการป้องกันสาธารณะ เช่น การเตรียมเสบียงฉุกเฉินไว้ สามารถช่วยปกป้องผู้คนจากภัยพิบัติทุกประเภทได้”
เมงูมิ ซูกิโมโตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโอซากา และผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยพิบัติ กล่าว
แต่ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก ซูกิโมโตะ และเกลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ต่างชี้ว่าแผ่นดินไหวโนโตะทำให้ระบบรับมือของญี่ปุ่นขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากถนนถล่มทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดต้องติดอยู่ท่ามกลางน้ำท่วม และประชาชนจำนวนมากต้องอพยพไร้บ้านอยู่หลายเดือนหลังจากนั้น พวกเขากล่าวอีกว่า อุปสรรคจากแผ่นดินไหวโนโตะชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการมุ่งความสนใจไปที่ร่องลึกนันไกมากเกินไป ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศก็เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ซูกิโมโตะเคยทำงานในเมืองฟุกุโอกะ บนเกาะคิวชูทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่เคยประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้ว แต่ว่าไม่ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงเหมือนกับบริเวณที่ใกล้กับร่องลึกนันไก
“เพราะเหตุนี้ ผู้คนจึงไม่ได้เตรียมตัวมาอย่างดี และในขณะที่พื้นที่ร่องลึกนันไกได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการเตรียมรับมือแผ่นดินไหว แต่พื้นที่ฟุกุโอกะที่ฉันอาศัยอยู่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง” ซูกิโมโตะ กล่าว
เกลเลอร์กล่าวเสริมว่า “แม้ว่าการเน้นย้ำถึงภัยคุกคามบริเวณร่องลึกนันไกจะทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ดีสำหรับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพราะผู้คนคิดว่า์บริเวณร่องลึกนันไกนั้นอันตรายมาก แต่ที่คุมาโมโตะ หรือคาบสมุทรโนโตะนั้นปลอดภัยดี ดังนั้น การประกาศเตือนล่าสุดนี้จึงมีผลทำให้ทุกคนมีความรู้สึกปลอดภัยแบบหลอกๆ ยกเว้นในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้”
Photo by JIJI PRESS / JIJI PRESS / AFP