เคยมีคำกล่าวว่า “พวกเขาจะมาแย่งงานของเรา พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา ความสามารถของหุ่นยนต์อาจจะไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งน่ากลัวและน่าชื่นชม”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความก้าวหน้าในโลกเทคโนโลยีมักเป็นเหมือน ‘ดาบสองคม’ เสมอ ในด้านหนึ่งให้ประโยชน์มากมาย แต่ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยอันตราย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะคาดการณ์ว่า “ในอีกไม่กี่ข้างหน้าเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นมาจะฉลาดกว่าเรา” หรือถึงขั้นมีการทำนายว่า “เทคโนโลยี AI กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำลายล้างโลกได้ในอนาคต”
จริงๆ แล้ว ความร้ายกาจของสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น ‘ความสะดวกสบาย’ นั้นอันตรายกว่าที่เราคาดคิดเสียอีก หากสูญเสียการควบคุมไปมันก็ย้อนทำร้ายเราได้ หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าเราตายได้ ข่าวลือที่ว่าอาจมี ‘หุ่นยนต์สังหาร’ ในสนามรบจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นเคยมีคนตายเพราะหุ่นยนต์มาแล้ว
มนุษย์คนแรกที่ถูกหุ่นยนต์ ‘ฆ่า’ จนตาย

เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีที่แล้วในปี 1979 ณ โรงงานหล่อโลหะของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ในเมืองแฟลตร็อก รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ เมื่อพนักงานชายคนหนึ่งชื่อ ‘โรเบิร์ต วิลเลียมส์’ วัย 25 ปี ต้องขึ้นไปบนชั้นเก็บสินค้าขนาดใหญ่เพื่อนับจำนวนชิ้นส่วนเอง เนื่องจากเครื่องจักรขนาดใหญ่ 5 ชั้นที่เอาไว้ใช้ในการนับชิ้นส่วนหล่อโลหะนั้นอ่านค่าผิดพลาด
แต่ระหว่างที่วิลเลียมส์กำลังนับชิ้นส่วนอยู่บนนั้น ทว่าแขนหุ่นยนต์ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บชิ้นส่วนก็เริ่มทำงานของมันเช่นกัน และไม่นานนัก หุ่นยนต์ก็ตรงเข้ามาหาวิลเลียมส์อย่างเงียบๆ แล้วโจมตีที่ศีรษะของเขาจนเสียชีวิตทันที ขณะที่หุ่นยนต์ยังคงทำงานต่อไป
การตายของวิลเลียมส์จากน้ำมือหุ่นยนต์นั้นกลายเป็นเคสแรกในประวัติศาสตร์ แม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ในการปกป้องวิลเลียมส์ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณเตือนที่จะทำให้เขารู้ว่าแขนกลกำลังใกล้เข้ามา และไม่มีเทคโนโลยีใดในสมัยนั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีตอบสนองของหุ่นยนต์ในเวลาที่มีมนุษย์อยู่ด้วย เนื่องจากในปี 1979 ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความซับซ้อนเพียงพอที่จะทำอะไรเพื่อป้องกันการเสียชีวิตดังกล่าวได้
ครอบครัวของวิลเลียมส์ทำการฟ้องบริษัท ‘Litton Industries’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ออกแบบหุ่นยนต์ดังกล่าว และคณะลูกขุนเห็นพ้องต้องกันว่า การออกแบบหุ่นยนต์ไม่ได้มีการใส่ใจมากพอที่จะป้องกันการเสียชีวิตเช่นนี้ และสุดท้ายศาลสรุปว่าไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมแบบนี้ขึ้น ทำให้ครอบครัวของวิลเลียมส์ชนะคดีเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 335 ล้านบาท) จากการเสียชีวิตที่ไม่เป็นธรรม
ยังมีคนตายเพราะ ‘หุ่นยนต์’ อยู่เรื่อยมา
เพียง 2 ปีหลังจากการเสียชีวิตของวิลเลียมส์ เหตุการณ์ที่คล้ายกันก็เกิดขึ้นที่โรงงาน ‘Kawasaki Heavy Industries’ เมืองอากาชิ ประเทศญี่ปุ่นในปี 1981 เมื่อ ‘เคนจิ อุราดะ’ คนงานวัย 37 ปีถูกแขนหุ่นยนต์ผลักโดยไม่ได้ตั้งใจจนเสียชีวิตขณะที่เขากำลังตรวจสอบหุ่นยนต์ที่ทำงานผิดปกติ เนื่องจากตัวแขนหุ่นยนต์ไม่สามารถตรวจจับว่ามีมนุษย์อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ในปี 2015 โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่โรงงานรถยนต์ ‘Volkswagen’ ในเมืองบาวนาทาล ประเทศเยอรมนี หลังจากชายคนหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) ซึ่งเป็นพนักงานในทีมที่กำลังติดตั้งหุ่นยนต์ในขณะนั้น ถูกหุ่นยนต์คว้าตัวและตรึงไว้กับแผ่นโลหะ ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
แม้กระทั่งในปี 2023 ที่เทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีเคสการเสียชีวิตจากน้ำมือหุ่นยนต์อยู่อีก สำหรับเคสนี้เกิดขึ้นที่โรงงานคัดแยกพริกไทยในจังหวัดคย็องซังใต้ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อพนักงานชายวัย 40 ปีคนหนึ่งกำลังตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์ซึ่งทำหน้าที่ยกกล่องพริกและย้ายไปยังแท่นวางสินค้า แต่เขากลับถูกหุ่นยนต์คว้าตัวไว้และถูกผลักไปโดนสายพานลำเลียงสินค้า จนใบหน้าและหน้าอกของเขาถูกทับจนเสียชีวิต เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างพนักงานชายคนนี้กับกล่องอาหารที่หุ่นยนต์กำลังถืออยู่ได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายทศวรรษต่อมาพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก การศึกษาวิจัยในปี 2023 เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์อย่างน้อย 41 รายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1992-2017 โดยเกือบครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในแถบมิดเวสต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมการผลิตมาโดยตลอด
เมื่อวันเวลาผ่านไป ‘การเสียชีวิตจากน้ำมือหุ่นยนต์’ กำลังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา (?)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาการหุ่นยนต์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ยังคงต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาว่าหุ่นยนต์จะโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างไร
แต่ทว่าหลายทศวรรษต่อมา รายงานการเสียชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากน้ำมือหุ่นยนต์หรือ AI กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ยกตัวอย่างเคสของ Uber และ Tesla หลังพบว่า รถยนต์ไร้คนขับและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของพวกเขาเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต หรือชนคนเดินถนน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีมาตรการป้องกันมากมายในปัจจุบัน แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข
การเสียชีวิตเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงของหุ่นยนต์ แต่ทั้งหมดเป็น ‘อุบัติเหตุ’ แต่ถึงกระนั้น ภาพยนตร์ไซไฟอย่างเรื่อง ‘Terminator’ (คนเหล็ก) และ ‘Matrix’ (เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลก 2199) ก็สร้างความกังวลว่า ‘AI อาจพัฒนาเจตจำนงของตัวเองได้ และด้วยเหตุนี้ จึงอาจเกิดความปรารถนาที่จะทำร้ายมนุษย์’
ชิมอน ไวท์สัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เรียกความกังวลนี้ว่า ‘ความเข้าใจผิดที่คิดไปเอง’ ไวท์สันให้คำจำกัดความความเข้าใจผิดนี้ว่า “เป็นการสันนิษฐานว่าระบบที่มีสติปัญญาเหมือนมนุษย์จะต้องมีความปรารถนาเหมือนมนุษย์ด้วย เช่น เพื่อความอยู่รอด เป็นอิสระ มีศักดิ์ศรี เป็นต้น ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะระบบดังกล่าวจะมีความปรารถนาอะไรก็ได้ที่เราป้อนข้อมูลให้มัน”
“ช่องว่างระหว่างสิ่งที่โปรแกรมเมอร์สั่งให้เครื่องจักรทำกับสิ่งที่โปรแกรมเมอร์ตั้งใจให้เกิดขึ้นจริงมีอยู่ คุณจะสื่อสารข้อมูลของคุณไปยังระบบอัจฉริยะได้อย่างไรเพื่อให้การกระทำของระบบบรรลุเจตนาที่แท้จริงของคุณ ความแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้จะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์มีความชาญฉลาดและทำงานอัตโนมัติมากขึ้น”
ไวท์สันอธิบาย
ในทางกลับกัน ไวท์สันบอกว่า “ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถฆ่าเป้าหมายที่เป็นมนุษย์ได้โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร”
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมนักวิจัยด้าน AI และหุ่นยนต์ทั่วโลกจึงเผยแพร่จดหมายเรียกร้องให้มี ‘การห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทั่วโลก’ และเป็นเหตุผลว่าทำไมสหประชาชาติจึงประชุมกันอีกครั้งในปี 2018 เพื่อหารือว่าจะควบคุมสิ่งที่เรียกว่า ‘หุ่นยนต์สังหาร’ หรือไม่ และจะควบคุมอย่างไร แม้ว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ถูกพัฒนาเจตจำนงในการฆ่า แต่พวกมันสามารถถูกตั้งโปรแกรมให้ทำเช่นนั้นได้