








ปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูนส่องสว่างเหนือท้องฟ้าทั่วโลก โดยพระจันทร์เต็มดวงครั้งนี้นับเป็นซูเปอร์มูนครั้งแรกและเป็นพระจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดของปีนี้
นาซาระบุว่า เราจะเรียกพระจันทร์เต็มดวงว่า “ซูเปอร์มูน” ก็ต่อเมื่อพระจันทร์เต็มดวงนั้นอยู่ใกล้โลกราว 90% และเมื่อพระจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดจะดูดวงใหญ่กว่าปกติ 14% และสว่างกว่า 30% เมื่อเทียบกับตอนที่พระจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุดที่ระยะทางราว 405,500 กิโลมตร
ปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนนี้ส่งผลต่อโลกอย่างชัดเจนคือ น้ำจะขึ้นสูงกว่าปกติ เนื่องจากเมื่อดวงจันทร์เข้าใกล้โลก แรงดึงดูดของดวงจันทร์จะดึงให้น้ำบนโลกเคลื่อนเข้าหาตัวเอง
ซูเปอร์บลูมูนครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมและมีนาคม 2037 ส่วนซูเปอร์มูนของทั้งปีนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งวันที่ 18 กันยายน, 17 ตุลาคม และ 15 พฤศจิกายน โดยในปีนี้ดวงจันทร์จะเต็มดวงมากที่สุดและใหญ่ที่สุด 17 ตุลาคม ซึ่งจะอยู่ห่างจากโลกเพียง 100 กิโลเมตร
ดวงจันทร์เต็มดวงของเดือนสิงหาคมมีชื่อเรียกว่า sturgeon moon ซึ่งชนเผ่าอัลกอนควินที่ในปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เป็นคนตั้งไว้ โดยตั้งตามปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ง่ายในช่วงเวลานี้ของปีในกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ได้แก่ สุพีเรีย มิชิแกน ฮูรอน อิรี และออนแทรีโอ