‘การแคะจมูก’ อาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าดู และเป็นอันตรายหากว่าแคะบ่อยๆ แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็เรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการแคะจมูกกับโรคอัลไซเมอร์ซึ่งระบุอยู่ในจดหมายที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘American Journal of the Medical Sciences’
เมื่อเดือนที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับว่าการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ ‘มีน้อยมาก’ แต่พวกเขาเสริมว่า ‘การแคะจมูกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ’
ทฤษฎีนี้อธิบายได้ว่า
เมื่อเราแคะจมูก เชื้อโรคจะถูกถ่ายโอนจากนิ้วมือไปที่จมูก จากนั้นเชื้อโรคจะเข้าสู่สมองและทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อเวลาผ่านไป การอักเสบนี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม
นอกจากนี้ การแคะจมูกอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกเสียหาย เป็นเหตุให้จุลินทรีย์เข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบได้
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์อ้างถึงงานวิจัย 10 ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH ) ในปีที่แล้วซึ่งเตือนถึงความเชื่อมโยงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์บริการในปากีสถาน และบริษัทการแพทย์ฮาหมัดในกาตาร์ ได้เขียนเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มในจดหมายว่า “เชื้อโรคหลายชนิด รวมถึงเชื้อโรคที่เข้าสู่สมองผ่านทางเยื่อบุโพรงจมูก...มีความเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ และมีการแยกเชื้อเหล่านี้ออกมาได้ระหว่างการวิเคราะห์หลังการชันสูตรพลิกศพ”
“สรุปได้ว่า การศึกษาวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการแคะจมูกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์...เราเสนอให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการแคะจมูกกับโรคอัลไซเมอร์ในรูปแบบของการศึกษาแบบควบคุมกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่”
ทั้งนี้ เชื้อโรคที่เชื่อว่าทำให้เกิดคราบอะไมลอยด์ (Amyloid plaques / การสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์) ได้แก่ ไวรัสเริม ไวรัสโคโรนา แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
เชื้อโรคเหล่านี้สามารถวิ่งผ่านไปตามเส้นประสาทรับกลิ่น เชื่อมระหว่างจมูกและสมอง ไปจนถึงป่องรับกลิ่นซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ บริเวณด้านล่างของสมองที่เชื่อมโยงกับการดมกลิ่น และทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นไปตามการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่น ๆ รวมถึงทีมวิจัยในออสเตรเลีย ที่เตือนถึงความเชื่อมโยงระหว่างการแคะจมูกกับโรคอัลไซเมอร์ด้วย
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเรียกร้องให้มีมาตรการป้องกันง่ายๆ เช่น การล้างมือเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการแคะจมูก ซึ่งถือว่าเป็น ‘ขั้นตอนป้องกันที่ง่ายสำหรับโรคนี้’
“บทเรียนประการหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากโควิดคือคุณค่าของการรักษาสุขอนามัยมือด้วยการล้างมือบ่อยๆ และใช้เจลล้างมือ เราขอแนะนำว่าขั้นตอนสุขอนามัยประจำวันเหล่านี้ควรเป็นข้อบังคับคับสำหรับผู้ที่ชอบแคะจมูก” นักวิทยาศาสตร์ เขียน
สำหรับแหล่งที่มาที่แน่ชัดของโรคนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงการสะสมของคราบโปรตีนอะไมลอยด์และปมเส้นใยโปรตีนในสมองที่เรียกว่า ‘เทาว์โปรตีน’ (tau)
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ได้แก่ โรคนี้อาจเชื่อมโยงกับความเสียหายและการเกิดแผลเป็นบนหลอดเลือดในสมอง ซึ่งอาจลดการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแบบไม่รู้ตัวซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก และมีผู้ป่วยชาวอเมริกันวัย 65 ปีขึ้นไปประมาณ 6.7 ล้านคน ขณะเดียวกันผลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันเกือบทุกคนแคะจมูกเป็นประจำทุกวัน โดยเฉลี่ยแล้วจะแคะเอาขี้มูกแห้งออกจากโพรงจมูกวันละ 4 ครั้ง