‘PM 2.5’ ฝุ่นจิ๋วมหันตภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 4 ล้านคน!

7 ธันวาคม 2566 - 09:54

pm-25-killed-people-around-the-world-more-than-4-million-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อันตรายจากมหันตภัยเงียบ ‘ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5’ ที่ผลกระทบไม่จิ๋วเหมือนชื่อ

  • ในปี 2019 PM 2.5 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 4.14 ล้านคนทั่วโลก

  • ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลายมีสถิติสัมผัสฝุ่นจิ๋วสูงที่สุด

ภัยร้าย ‘ฝุ่นจิ๋ว’ ที่ไม่จิ๋วเหมือนชื่อ

ประเทศไทยของเราเผชิญกับฝุ่นพิษ ‘PM 2.5’ มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุเสียมากกว่า ประกอบกับพฤติกรรมของผู้คนในการใช้รถใช้ถนน การปล่อยควันจากโรงงาน ตลอดจนการเผาป่าก็ยังไม่ถูกควบคุมเข้มงวดอย่างจริงจัง จึงทำให้เจ้าฝุ่นจิ๋วยังวนเวียนในประเทศไทยอยู่ตลอด จนบางคนก็ชินชากับมันราวกับว่ามันไม่อันตราย 

แต่รู้หรือไม่ว่าในความจิ๋วของมันนั้นแฝงไปด้วยอันตรายที่ไม่จิ๋วเหมือนตัวมันเลย เพราะล่าสุดมันคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน! และพบว่ามีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเขตโดโนรา รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ เป็นต้น กรณีล่าสุดของไทยคือ ‘คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล’ เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ 

ทั้งนี้ การวิจัยจำนวนมากที่มีอยู่ในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นโดยสรุปว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศทั้งในระยะสั้น (เช่น ไม่กี่วันถึงสัปดาห์) และระยะยาว (เช่น เดือนถึงปี) สามารถก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพตั้งแต่ชั่วคราว ไปจนถึงเรื้อรัง ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ผลกระทบต่อสุขภาพใน ‘ระยะสั้น’ และ ‘ระยะยาว’ 

การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศแม้จะแค่ 2-3 ชั่วโมงแต่ติดกันนาน 2-3 วัน ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหู จมูก และลำคอได้ แต่อาการมักจะหายไปเมื่อระดับมลพิษทางอากาศลดลง แต่การสัมผัสฝุ่นจิ๋วใน ‘ระยะสั้น’ ยังอาจทำให้สภาวะทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรังและรุนแรงขึ้น เช่น 

  • เกิดภูมิแพ้  
  • หอบหืด  
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • หลอดลมอักเสบ  
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ แม้สัมผัสฝุ่นจิ๋วในระยะสั้นก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ 

ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นใน ‘ระยะยาว’ นั้นอาจมีความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจ การติดเชื้อในปอด มะเร็งปอด เบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ  

นอกจากนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังระบุว่าการที่คุณแม่ตั้งครรภ์สัมผัสกับมลพิษทางอากาศจะส่งผลเสียต่อการคลอดบุตรได้ กล่าวคือ ทารกอาจคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักน้อยเกินไป ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคร้ายแรงและการเสียชีวิตอื่นๆ 

การศึกษาจำนวนมากขึ้นชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศสามารถทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้หลายอย่าง รวมถึงผลลัพธ์ด้านสุขภาพสมอง เช่น  

  • ผลกระทบทางระบบประสาทในวัยเด็กและวัยรุ่น  
  • โรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาทในวัยผู้ใหญ่

การสัมผัส ‘ฝุ่นจิ๋ว’ คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านคนในปี 2019

ในปี 2019 การสัมผัสกับมลภาวะ PM 2.5 ในระยะยาวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4.14 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 62% ของการเสียชีวิตที่เกิดจากมลพิษทางอากาศทั้งหมด ทั้งนี้ พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 23% ทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

ในบรรดาปัจจัยเสี่ยง 69 ประการที่สามารถเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงได้ PM 2.5 อยู่ในอันดับที่ 6 ตามหลังโรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง และอื่นๆ ซึ่งตัวฝุ่นจิ๋วนี้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ในบรรดาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยทั้งหมด 

เอเชีย-แอฟริกา-ตะวันออกกลางสัมผัสฝุ่นจิ๋ว ‘สูงที่สุด’

ผู้คนส่วนใหญ่บนโลกต้องเผชิญกับมลภาวะ PM2.5 ในระดับที่เป็นอันตราย แต่ประเทศที่สัมผัสฝุ่นสูงสุดนั้นส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง 

ตามข้อมูลสำรวจคุณภาพอากาศของ IQAir ปี 2022 ระบุว่า 10 ประเทศที่มีระดับ PM 2.5 สูงสุด ได้แก่  

  1. ชาด  (89.7)  
  2. อิรัก (80.1)  
  3. ปากีสถาน (70.9)  
  4. บาห์เรน (66.6)  
  5. บังกลาเทศ (65.8)  
  6. บูร์กินาฟาโซ (63)  
  7. คูเวต (55.8)  
  8. อินเดีย (53.3)  
  9. อียิปต์ (46.5) 
  10. ทาจิกิสถาน (46)  

ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 57 (18.1) จากที่สำรวจทั้งหมด 131 ประเทศ 

สำหรับแหล่งที่มาของมลภาวะ PM 2.5 ก็แตกต่างกันไปตามปัจจัยในแต่ละประเทศและภูมิภาค แต่แหล่งที่มาต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถานที่บางแห่งจำกัดกิจกรรมหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่บางแห่งกำลังเพิ่มการใช้ถ่านหินและตัวขับเคลื่อนหลักอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5​

แต่เอเชียและแอฟริกาเผชิญภาระโรคจาก PM2.5 สูงสุด

จากการศึกษาพบว่า ประเทศในเอเชียและแอฟริกามีอัตราการเสียชีวิตจาก PM 2.5 สูงสุดเมื่อพิจารณาจากอัตราการเสียชีวิตที่สูงและจำนวนประชากรจำนวนมาก ส่วนจีนและอินเดียรวมกันคิดเป็น 58% ของภาระการเสียชีวิตทั่วโลก (global mortality burden) ทั้งนี้ พบว่า ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิต 1.42 ล้านคนจาก PM 2.5 ในประเทศจีน และ 980,000 คนในอินเดีย  

ภาระดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วที่สุดในเอเชีย โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย มีผู้เสียชีวิตจาก PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นรองลงมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์