นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียตัดสินใจแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทยเป็น ‘ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ’ หลังมาเลเซียจะรับหน้าที่เป็น ‘ประธานอาเซียน’ ในปี 2025 ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในมาเลเซีย
ในขณะที่บางคนมองว่าการที่มาเลเซียได้นำประสบการณ์ของอดีตผู้นำไทยวัย 75 ปี และของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองคนอื่นๆ ในประเด็นระดับภูมิภาคโดยเฉพาะวิกฤตในเมียนมา เพื่อมาเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่บางคนก็มองว่าการขอคำแนะนำจากนักการเมืองต่างชาติเป็นเรื่องน่าสงสัย โดยเฉพาะนักการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
“ผมตกลงที่จะแต่งตั้งทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะมีทีมงานจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมด้วย” ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ กล่าวในการประกาศแต่งตั้งดังกล่าวระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่โรงแรมเปอร์ดานา ปูตรา เมืองปุตราจายา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
ทักษิณ ซึ่งเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2023 หลังจากลี้ภัยมานานกว่าทศวรรษ เพื่อหลีกหนีจากข้อกล่าวหาทางอาญา กลายเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งในประเทศไทย จากการที่เขาถูก ตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ชาวมาเลเซียกล่าวว่าอิทธิพลของทักษิณไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และจีน ด้วย ซึ่งอาจช่วยให้อาเซียนรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การจัดการความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้ได้
ตามรายงานของสำนักข่าวท้องถิ่น Malay Mail ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา อันวาร์ได้เสนอให้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบด้วยอดีตผู้นำอาเซียน และจอร์จ เยโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย
“ทักษิณมีอิทธิพลในประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ซึ่งทำให้เขากลายเป็นสะพานเชื่อมอาเซียน (เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น)” โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อาหมัด ฟาดลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam SeMalaysia) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” พร้อมตั้งคำถามว่า “การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่ออาเซียนหรือไม่ หรือว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนายกฯ มาเลเซียในประชาคมโลก...”
“โดยปกติแล้ว ประมุขของรัฐจะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการทูต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา แต่ครั้งนี้ อันวาร์เลือกอดีตนายกฯ ที่ถูกตัดสินจำคุกในประเทศไทยในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบและทุจริต” ส.ส.ปาซีร์มัส โพสต์ข้อความ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ มาเลเซีย บอกกับนักข่าวว่า “ผมไม่ทราบว่าทำไมอันวาร์ถึงเลือกทักษิณ เรามีคนมากมายให้เลือก และทักษิณก็มีประเด็นข้อกฎหมายของตัวเองอยู่...แต่อันวาร์มีสิทธิ์แต่งตั้งใครก็ได้ที่เขาต้องการ”
ทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 23 ของประเทศไทยในปี 2001 แต่รัฐบาลของเขาถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2006 และเขาหนีออกนอกประเทศในปี 2008 แม้ว่าทักษิณจะลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แต่เขาก็ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองของไทยผ่านทางสมาชิกในครอบครัวและพันธมิตรที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล
ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2023 และถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ดร.โอ เอ ซุน นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ เผยว่า “การเลือกของอันวาร์ถือเป็นการแสดงความเป็นมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเพื่อนบ้าน”
ขณะที่ ดร.ออง เคียน มิง รองอธิการบดีฝ่ายการมีส่วนร่วมภายนอกของมหาวิทยาลัยเทย์เลอร์ในมาเลเซีย บอกว่า “ประสบการณ์ของทักษิณอาจช่วยให้อันวาร์บรรลุวัตถุประสงค์บางประการภายใต้อาเซียนได้ เช่น แผนสันติภาพในเมียนมา หรือการติดต่อสมาชิกรัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อจีนและรัสเซีย”
สื่อไทยรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ทักษิณเสนอตัวเป็นคนกลางระหว่างกองกำลังต่อต้านของเมียนมากับรัฐบาลทหาร เนื่องจากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ทักษิณได้สร้างความสัมพันธ์กับนายพลมินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารคนปัจจุบัน
เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2021 รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้ยุติการสู้รบภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘ฉันทามติ 5 ประการ’
สงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 6,000 ราย ขณะที่ประชากร 1 ใน 3 จากทั้งหมด 55 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อเดือนสิงหาคม 2024
กัสธุรี ปราเมศวาเรน คณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์สิงคโปร์ เห็นด้วยว่าทักษิณจะเป็นพันธมิตรที่มีประโยชน์สำหรับอันวาร์ในการผลักดันสันติภาพในเมียนมา และกล่าวว่าทั้งคู่ยังมีความกังวลที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับความคับข้องใจของชาวไทยมุสลิม ความสุดโต่ง และอาชญากรรมข้ามชาติ
แต่จากมุมมองทางการเมือง กัสธุรี เผยว่า “เป็นเรื่องแปลกที่อันวาร์หันไปหาผู้นำต่างประเทศผ่านกลุ่มที่ปรึกษาอาเซียน แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการก็ตาม แทนที่จะหันไปหาคณะทูตหรือผู้เชี่ยวชาญของมาเลเซียเอง...การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอน”
ดร.ออง กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นข้อเสียเปรียบ หากอันวาร์ถูกมองว่าไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในคณะรัฐมนตรี และในข้าราชการเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการในระหว่างที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน...ยังไม่ชัดเจนว่าที่ปรึกษาที่ไม่เป็นทางการดังกล่าวมีบทบาทอย่างไร พวกเขาจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของอาเซียนอย่างไร และพวกเขาคาดหวังอะไรจากอันวาร์”
อย่างไรก็ตาม ดร. ซูเฟียน จูโซห์ ศาสตราจารย์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจากสถาบัน มาเลเซียและการศึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเกบังซาน มาเลเซีย ไม่เห็นด้วยที่การตัดสินใจของอันวาร์ทำให้ความเชื่อมั่นของนายกฯ คณะรัฐมนตรี และรัฐบาลของเขาลดน้อยลง
“ทุกคนต้องร่วมมือกันทำงาน เนื่องจากมาเลเซียต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งมากมายในฐานะประธานอาเซียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้การบริหารรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้งของทรัมป์ ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และวิกฤตเมียนมา”
“บางทีการจัดการอย่างไม่เป็นทางการนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่เราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เพื่อให้คำแนะนำแก่ข้าราชการพลเรือนและรัฐบาล และฝ่ายค้านต้องระมัดระวังในสิ่งที่พูด เนื่องจากสิ่งสำคัญต่างๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา (มาเลเซีย) ในปี 2025” จูโซห์ กล่าว
Photo by ROMEO GACAD / AFP
คำบรรยายภาพปก : อดีตนายกฯ ทักษิณณ ชินวัตร (กลาง) พร้อมด้วย นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านของมาเลเซีย (ซ้าย) และโฆเซ่ ราโมส โอร์ตา อดีตประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1996 (ขวา) เข้าร่วมการประชุม ‘Strategic Review Forum’ ครั้งแรกในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2012