เมื่อการเผาไร่เผาป่าจากประเทศเพื่อนบ้านซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทย

27 มี.ค. 2566 - 09:13

  • ณ วันที่ 25 มี.ค. GISTDA พบว่า เกิดจุดความร้อนในเมียนมา 12,581 จุด ลาว 8,535 จุด กัมพูชา 744 จุด เวียดนาม 720 จุด และมาเลเซีย 31 จุด

  • สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา

pm25-smog-hotspot-myanmar-laos-slash-and-burn-SPACEBAR-Thumbnail
หลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยกำลังเผชิญวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างหนักในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดทั้งวัน จนแฮชแท็ก #saveแม่สาย และ #saveเชียงราย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ โดยสาเหตุหลักๆ ขณะนี้คือจุดความร้อนจากการเผา ณ วันที่ 25 มี.ค. GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ว่า พบจุดความร้อนในไทยถึง 4,376 จุด 
 
Rocket Media Lab ตั้งข้อสังเกตว่า หมอกควันและมลพิษทางอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระหว่างประเทศด้วย โดยการเผาไร่นาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาและลาวก็มีส่วนทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย  
 
ณ วันที่ 25 มี.ค. GISTDA พบว่า เกิดจุดความร้อนในเมียนมา 12,581 จุด ลาว 8,535 จุด กัมพูชา 744 จุด เวียดนาม 720 จุด และมาเลเซีย 31 จุด 
 
GISTDA ระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา”
 
เกษตรกรทั้งในลาวและเมียนมามักจะทำการเกษตรกันแบบแผ้วถางและเผา (slash and burn) ทั้งการเผาป่าและเผาไร่หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ วิธีที่ว่านี้หากทำในสเกลเล็กๆ อาจไม่สร้างปัญหาเท่าไร แต่ในยุคปัจจุบัน ระดับความเสียหายที่เกิดจากการแผ้วถางและการเผา ทั้งต่อผืนป่าและคุณภาพอากาศได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปี 
 
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่แถบชนบทของเมียนมาและลาวกลายเป็นไร่กล้วยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีนายทุนจีนเป็นเจ้าของ รายงานเมื่อปี 2017 ของ Plan International ระบุว่า ไร่กล้วยที่มีคนจีนเป็นเจ้าของเฉพาะในแขวงบ่อแก้วทางตอนเหนือของลาวซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยและเมียนมาเพียงที่เดียวมีพื้นที่ถึง 68,750 ไร่ ส่วน Mekong Region Land Governance รายงานว่า ในปี 2019 รัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของเมียนมามีพื้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นไร่กล้วยมากถึง 1,062,500 ไร่ 
  
แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลลาวเคยแบนการทำไร่กล้วยแห่งใหม่รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินในปี 2017 แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไปในปี 2018 เพราะคำสั่งนี้กระทบกับการส่งออกของลาวเอง แม้จะรู้ดีว่าไร่กล้วยของนายทุนจีนทำให้สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านได้รับผลกระทบก็ตาม 
 
เมื่อเดือนเมษายน 2021 กรีนพีซประเทศไทยได้เปิดผลรายงานการวิจัยหัวข้อ “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563” ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยมีมากที่สุดในเขตตอนบนของลาว จำนวน 5,148,398 ไร่ รองลงมา คือ รัฐฉานของเมียนมา จำนวน 2,939,312 ไร่ 
 
ข้อมูลจากดาวเทียมระหว่างปี 2558-2562 พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉลี่ยราว 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด 
 
ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนกับทางการเมียนมาและลาวมาแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย 
 
บัณรส บัวคลี่ ผู้ร่วมก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ เผยกับ Coconuts Bangkok ว่า “หากคุณมองว่าปัญหา PM2.5 เป็นหายนะ คุณก็จะใส่ใจกับมันแค่ชั่วคราว แต่จริงๆ แล้ว ปัญหานี้เหมือนยักษ์หลับ มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างพื้นฐานของภาคการผลิตและพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งไม่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เราต้องการการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปี นี่เป็นปัญหาที่คุณไม่สามารถบรรลุผลในการแก้ปัญหาระยะสั้นภายในเวลาไม่กี่เดือน” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์