ไล่ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาจนถึงฟิลิปปินส์ จนถึงไทย สายสัมพันธ์ทางครอบครัวผูกมัดการเมืองที่ทรงอิทธิพลไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นอันตรายกับประชาธิปไตย
บทความทัศนะของ Bloomberg ระบุว่า การเมืองกำลังกลายเป็นธุรกิจครอบครัวมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีประชาธิปไตยที่ใหญ่และสดใสก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะมีความเสี่ยงที่อำนาจจะถูกรวบไว้ในมือคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากกับคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นพลวัตรที่ผิดหวังกับการเล่นพรรคเล่นพวกมากขึ้นๆ
แม้ว่าอาเซียนจะไม่ใช่ภูมิภาคเดียวที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ตระกูลการเมืองพบได้บ่อยในตะวันตกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตระกูลบุชของสหรัฐฯ หรือตระกูลทรูโดของแคนาดา จะต่างกันก็ตรงที่ตระกูลไหนได้กลับมาบ้าง หลังจากความวุ่นวายและวิกฤตทางการเงินในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงอำนาจเก่าในหลายๆ ประเทศ
กรณีของฟิลิปปินส์ ตระกูลการเมืองควบคุมเงินและเพาะสร้างอิทธิพลมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม อภิสิทธิ์ต่างๆ ทำให้พวกเขาซื้อที่ดินในยุคหลังได้รับเอกราชจากสหรัฐฯ ในปี 1946 ทำให้คนกลุ่มนี้ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยและขึ้นไปอยู่ชั้นบนของพีระมิด ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าความมั่งคั่งนี้มีประโยชน์ต่อการประสบความสำเร็จทางการเมือง
ประธานาธิบดี 6 จาก 9 คนล่าสุดมาจากตระกูลมากาปากัล มาร์กอส และอากิโน โดย เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส โดยที่ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนก็หลงลืมการคอร์รัปชันในสมัยมาร์กอสคนพ่อที่ถูกโค่นอำนาจขณะเกิดการประท้วงทั่วประเทศในปี 1986 หลังครองอำนาจมาถึง 2 ทศวรรษไปแล้ว คนกลุ่มนี้เลือกจะเชื่อโซเชียลมีเดียว่ามาร์กอสคนลูกจะนำพายุคทองแห่งความมั่งคั่งและมั่นคงกลับมาสู่ฟิลิปปินส์อีกครั้ง
การนำเรื่องราวเก่าๆ ของตระกูลมาเล่าใหม่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ของตระกูลการเมืองดึงดูดใจผู้มีสิทธ์ลงคะแนน ลูกของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ในเมืองไทยก็เข้าสู่วงการการเมืองเช่นกัน แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้นั่งตำแหน่งเดียวกับผู้เป็นพ่อที่จะถูกรัฐประหารในปี 2006 ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาของเธอที่เคยนั่งเก้าอี้เดียวกันนี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดจากตำแหน่งเมื่อปี 2014
ตระกูลการเมืองนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่แข้มงวดอย่างฟิลิปปินส์เท่านั้น ในกัมพูชา ฮุน เซน เพิ่งถ่ายโอนอำนาจให้ ฮุน มาเน็ต ลูกชายเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังครองอำนาจมานานเกือบ 4 ทศวรรษ (แต่ก็ยังจัดการอยู่หลังฉากในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชาและประธานสภา)
นอกจากนี้ยังมีอินโดนีเซีย ที่ประชาชนเพิ่งลุกฮือประท้วงคัดค้านมติศาลรัฐธรรมนูญที่จะปูทางให้ลูกชายของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด มีโอกาสลงเลือกตั้ง อินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยในภูมิภาคที่การคอร์รัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกซึ่งไม่เคยหายไปกำลังกลับมาอย่างโจ่งแจ้ง
ตอนที่ โจโก วิโดโด ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2014 เขาถูกมองว่าเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ด้วยการวางตัวแบบถ่อมตัว และรากเหง้ามาจากคนผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทั้งยังมาจากคนนอกวงทหารและอีลิตที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน
แต่ในสมัยที่ 2 โจโกวีกลับพยายามปูทางให้มรดกทางการเมืองของเขายังคงอยู่แม้ว่าตัวเองจะลงจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม ด้วยการจับมือกับหลายๆ พรรคการเมืองในสภาจนกระทั่งสภาไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะฐานอำนาจแน่น ซึ่งทำให้เจ้าตัวรวมถึงครอบครัวรักษาอภิสิทธิ์ไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีบุคคลเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่จะลงเลือกตั้งและคว้าชัย
คนอินโดนีเซียเคยชินกับผู้นำที่แข็งกร้าวและทะเยอทะยาน ตัวอย่างคือ ซูฮาร์โต ที่อำนาจเผด็จการ 32 ปีของเขาจบลงท่ามกลางการประท้วงครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตทางการเงินของเอเชียในปี 1998 หนึ่งในความคับข้องใจของคนอินโดนีเซียคือ ซูฮาร์โตทำเป็นมองไม่เห็นความละโมบของบรรดาลูกๆ ของตัวเอง และยังปล่อยให้ลูกใช้ความเป็นลูกของประธานาธิบดีตักตวงผลประโยชน์จากประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
แต่ก็มีชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่มองไม่เห็นความเลวร้ายนี้ นิตยสารข่าวชื่อดังเจ้าหนึ่งได้จัดทำปกจากยุคซูฮาร์โตขึ้นมาใหม่ โดยคราวนี้มีภาพของโจโกวีขึ้นปก แล้วเรียกโจโกวีว่า “ราชา ชวา” หรือกษัตริย์แห่งชวา ความหมายเป็นนัยๆ ก็คือ โจโกวีและครอบครัวอยู่เหนือคนอินโดทั่วไปและใช้ชีวิตหรูหรา นับว่าห่างไกลจากภาพของความเป็นคนของประชาชนที่เจ้าตัวพยายามสร้างขึ้นมาหลังชนะเลือกตั้งครั้งแรก
สำหรับตอนนี้อย่างน้อยคนอินโดนีเซียก็ยังรักษาประชาธิปไตยของพวกเขาไว้ได้ ประธานาธิบดีที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งและผู้นำคนอื่นๆ ในอาเซียนที่ต้องการส่งไม้ต่อให้คนในครอบครัวควรดูตัวอย่างจากอดีตนายกรัฐมนตรี ชีค ฮาซีนา ลูกสาวของบิดาผู้ก่อตั้งบังกลาเทศถูกบีบให้ลี้ภัยไปเมื่อเร็วๆ นี้ หลังสลับขึ้นๆ ลงๆ จากเก้าอี้ผู้นำบังกลาเทศมา 20 ปี
Photo by FRANCIS R. MALASIG / POOL / AFP, Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP, Photo by Chanakarn LAOSARAKHAM / AFP