รู้จัก 3 แคนดิเดตตัวเต็งจาก 3 พรรค ที่ทำให้การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้น่าจับตามอง

9 มกราคม 2567 - 09:45

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แม้จะมีประชากรเพียง 23.5 ล้านคน แต่การเลือกตั้งของไต้หวันก็มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสถานะทางการเมืองที่เป็นข้อโต้แย้ง

  • พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) พรรคการเมืองที่เป็นสายอนุรักษนิยม และเป็นมิตรกับจีน

  • พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและเป็นมิตรกับสหรัฐฯ

  • พรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ที่มีขนาดเล็กกว่าและเรียกตัวเองว่า ‘อยู่ตรงกลาง’ ระหว่าง 2 ฝ่ายในขอบเขตทางการเมือง

ปี 2024 ดูเหมือนจะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ทาง ‘การเมือง’ ทั่วโลกมากมาย ปีนี้เป็นปีที่เราจะได้เห็นโฉมหน้าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และไม่ใกล้ไม่ไกล ในวันเสาร์ (13 ม.ค. 24) ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันชี้ชะตาที่แสนสำคัญของ ‘ไต้หวัน’ กับการเลือกตั้งครั้งใหญ่  

วันนี้เราจะมาเล่าภาพรวมของเกมการเมืองที่จะเกิดขึ้นในไต้หวันให้อ่านกัน เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า ทำไมการเลือกตั้งในครั้งนี้ถึงน่าจับตา!

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Yasuyoshi CHIBA / AFP

แม้จะมีประชากรเพียง 23.5 ล้านคน แต่การเลือกตั้งของไต้หวันก็มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสถานะทางการเมืองที่เป็นข้อโต้แย้ง แม้ว่าไต้หวันจะเป็นอิสระโดยพฤตินัยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 แต่ดินแดนรอบข้างยังคงถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) อ้างสิทธิอยู่เป็นประจำ ขณะที่ชาวไต้หวันต่างปฏิเสธ แต่ถึงอย่างนั้นก็กลัวที่จะ ‘พูด’ ต่อสาธารณะเนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิด ‘สงคราม’ 

ผู้สังเกตการณ์ในสหรัฐฯ และจีน จะจับตาดูผลลัพธ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) พรรคการเมืองที่เป็นสายอนุรักษนิยม และเป็นมิตรกับจีนมากกว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและเป็นมิตรกับสหรัฐฯ มากกว่า นอกจากนี้ยังมีพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ที่มีขนาดเล็กกว่าและเรียกตัวเองว่า ‘อยู่ตรงกลาง’ ระหว่าง 2 ฝ่ายในขอบเขตทางการเมือง  

นับตั้งแต่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1996 สองพรรคการเมืองใหญ่ของไต้หวันสลับกันขึ้นเป็นผู้นำในทุกๆ 8 ปี แต่ปีนี้ วิลเลียม ไล่ชิงเต๋อ จากพรรค DPP กลายเป็นผู้นำในสนามเลือกตั้ง ตามมาด้วยพรรค KMT และ TPP

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: I-Hwa CHENG / AFP

ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างไม่พอใจกับประเด็นสำคัญภายในประเทศ เช่น เศรษฐกิจที่ซบเซาของไต้หวัน ค่าครองชีพสูง และอนาคตของนโยบายพลังงานของไต้หวัน ดังนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีมักถูกบดบังด้วยคำถามที่ใหญ่กว่านั่นคือ สถานะทางการเมืองของไต้หวัน  

ในปี 2020 ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรค DPP อย่างถล่มทลายท่ามกลางการประท้วงใหญ่ใน ‘ฮ่องกง’ ที่ที่อังกฤษเคยล่าอาณานิคม แม้ว่าฮ่องกงจะกลับไปรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่และจีนทำสัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกงปกครองตัวเองเป็นเวลา 50 ปี แต่จีนกลับบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง และควบคุมการเลือกตั้งของฮ่องกง ทำให้ชาวไต้หวันหลายๆ คนมองว่า ‘จีนไม่ได้รักษาสัญญา’ 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนที่พรรค KMT เสนอให้หรือไม่ หรือพวกเขาจะยืนหยัดต่อไปและรับความเสี่ยงกับการรุกรานของจีนต่อไปเหมือนดังที่เกิดขึ้นในสมัยของไช่

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Yasuyoshi CHIBA / AFP

“เนื่องจากสถานะที่มีการโต้แย้งกันของไต้หวันและความไม่แน่นอนที่ไม่เพียงนำมาสู่ภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อโลกด้วย ทุกคนจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่าใครจะเป็นคนเข้ามาคุมบังเหียนคนต่อไป เพราะนั่นจะมีผลตามมามากมาย ไม่เพียงแค่ความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงและศักยภาพทางเศรษฐกิจ เหตุผลที่คนจำนวนมากต้องการแน่ใจว่านี่คือการเลือกตั้งที่ ‘เสรีและยุติธรรม’ ก็เพราะโลกจะสนใจ ‘สถานะของไต้หวัน’ เมื่อประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าผู้คนไม่ได้สนใจแค่ใครจะชนะ แต่พวกเขาสนใจว่าชนะได้อย่างไร”

เลฟ แนชมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไต้หวัน

ไต้หวันเลือกตั้งยังไง?  

ในวันที่ 13 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ประชาชนจะลงคะแนนเสียงทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ 1. สำหรับประธานาธิบดี และรองประธาธิบดี 2. สำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติในท้องถิ่น และ 3. รายชื่อพรรคที่ตัวเองชื่นชอบซึ่งเป็นรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติโดยรวมที่ได้รับที่นั่งตามสัดส่วนของพรรค ซึ่งการเลือกรายชื่อพรรคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองของไต้หวัน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดความนิยมและชื่อเสียงของพรรค

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Sam Yeh / AFP

นักวิจารณ์กล่าวว่า ระบบการลงคะแนนเสียงของไต้หวันทำให้คนหนุ่มสาวไม่มีสิทธิมีเสียง เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 20 ปี และต้องกลับไปเลือกยังสถานที่มีชื่อตาม ‘ทะเบียนบ้าน’ ของตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องกลับบ้านเกิดหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง ผู้คนหลายหมื่นคนจะออกเดินทางทั้งนั่งเครื่องบินไปยังเกาะห่างไกลของไต้หวัน ขับรถไปยังเมืองบนภูเขา หรือนั่งรถไฟความเร็วสูงกลับไปอีกฟากของเกาะ  

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิค่อนข้างสูงในการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ 66.27% ในปี 2016 และ 74.9% ในปี 2020

ตัวเต็ง-3-คน-ในสนามเลือกตั้งไต้หวัน.jpg
Photo: Kanokwan Hirunkawinkul / Spacebar

สนามนี้ใครเป็นตัวเต็ง?

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: Alastair PIKE / AFP

-ไล่ชิงเต๋อ- 

ชายวัย 64 รายนี้เป็นผู้พิทักษ์การปกครองตัวเองของไต้หวันอย่างแข็งขัน ซึ่งครั้งหนึ่งในรายงานของ Global Times ของจีนได้ขอให้เขาถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการแยกตัวของจีนด้วย  

ในการหาเสียงเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ไล่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไต้หวันหวังที่จะ ‘เป็นเพื่อนกับจีน’ โดยบอกกับ Bloomberg เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ‘เราไม่ต้องการเป็นศัตรู เราเป็นเพื่อนได้ และเรา(จะ)ชอบที่เห็นจีนเพลิดเพลินกับ ‘ประชาธิปไตยและเสรีภาพ’ เช่นเดียวกับเรา’ กลับกันกับจีนที่เรียกไล่ว่าเป็น ‘ตัวปัญหา(เสมอมา)’

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: Sam Yeh / AFP

-โหวโหย่วอี๋- 

สมัยเด็กโหวสนับสนุนธุรกิจครอบครัวโดยการช่วยจับหมูและขายในตลาดท้องถิ่น ปัจจุบันชายวัย 66 ปี รายนี้สั่งสมประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวจากการเป็นคนเลี้ยงหมู และตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีดังอย่างคดีลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี เฉินสุ่ยเปียน ในปี 2004 

อดีตผู้บัญชาการตำรวจรายนี้หันมาสนใจการเมืองในปี 2010 และกลายเป็นนายกเทศมนตรีของนิวไทเป (New Taipei) เขากลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของพรรค KMT และพยายามจะทวงคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีหลังผ่านไป 8 ปี  

โหวต่อต้านเอกราชของไต้หวัน แต่ก็หลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนต่อจีนในการหาเสียงครั้งนี้ ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ทำให้เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อเขาเลี่ยงที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบาย ‘จีนเดียว’ และกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันนั้นชัดเจน เราไม่จำเป็นต้องสับสน.. มันมีพื้นฐานอยู่บนรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีนโดยสมบูรณ์”

poll-with-outsize-importance-what-about-taiwans-election-SPACEBAR-Photo07.jpg
Photo: Sam Yeh / AFP

-เคอเหวินเจ๋อ- 

แพทย์ผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองในวัย 64 ผู้ซึ่งเคยปล่อยวิดีโอแร็พสุดแหวกแนวระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีไทเปเพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้าน ‘ทำสิ่งที่ถูกต้อง’ โดยบอกว่าตัวเองเป็น ‘ทางเลือกที่ 3’  สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

เคอหัวหน้าพรรค TPP ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์ และถึงจุดหนึ่งยังเคยนำหน้าไล่ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามในครั้งนี้เขาก็ยังตามหลังในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ดี โดยมีการคาดการณ์ว่าเขาจะได้รับคะแนนเสียง 25% และความนิยมนี้จะลดลงช้าๆ  

เคอมีชื่อเสียงทางการเมืองจากการสนับสนุนขบวนการทานตะวันในปี 2014 เมื่อกลุ่มนักศึกษาลุกขึ้นประท้วงต่อต้านสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นอิทธิพลจากจีนที่มีต่อไต้หวัน ทว่าการเมืองของเขาเปลี่ยนไปในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเขาขยายความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเซี่ยงไฮ้  

เคอกล่าวหาพรรค DPP ว่ากำลังคุกคามไต้หวันด้วยการเป็น ‘ผู้สนับสนุนสงคราม’ ขณะเดียวกันก็วิจารณ์พรรค KMT ว่า ‘ให้เกียรติ(จีน)เกินไป’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์