เหตุใด ‘โปรตุเกส’ เป็นแดนสวรรค์ของคนวัยเกษียณ

6 ม.ค. 2566 - 09:32

  • เปิดปัจจัยเหตุใดโปรตุเกส เป็นหนึ่งในชาติที่คนทั่วโลกอยากมาใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่คนรุ่นใหม่แห่ย้ายออกจากประเทศ

portugal-best-place-to-retire-not-for-youth-generations-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อพูดถึงโปรตุเกส สิ่งแรกที่ผู้คนทั่วไปจะนึกถึงคือนักฟุตบอลดังระดับโลกอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ล่าสุดเพิ่งย้ายสโมสรไปค้าแข้งกับสโมสร อัล นาสเซอร์ ของซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับค่าเหนื่อยก้อนโตถึง 175 ล้านปอนด์ต่อปี หรือราว 7,300 ล้านบาท ทำให้โรนัลโด้กลายเป็นเตะที่มีค่าตัวสูงที่สุดในวงการลูกหนังโลก 

ย้อนกลับมาเรื่องโปรตุเกส เมื่อไม่กี่วันก่อนมีรายงานจากเว็บไซต์ฟอร์บส์ซึ่งได้รายงานการอันดับประเทศที่ถูกและน่าใช้ชีวิตหลังเกษียณมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 อ้างอิงการจัดอันดับโดย  International Living โดยการจัดอันดับล่าสุดของปี 2023 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 9 ของโลก ร่วมกับอิตาลี เป็นประเทศที่น่าพำนักอยู่หลังเกษียณ 

เจนนิเฟอร์ สตีเวนส์ (Jennifer Stevens) บรรณาธิการบริหารของเว็บไซต์  International Living กล่าวว่า อันที่จริงไม่ว่าคุณจะพำนักอยู่ที่ใด คุณสามารถบริหารค่าครองชีพได้ส่วนการจัดอันดับประเทศเหล่านี้ เป็นการสะท้อนว่าคุณสามารถลดค่าครองชีพลงได้ครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นในบางสถานที่ มันจะเปิดโอกาสมากมายสำหรับการมีชีวิตที่ดีขึ้น คุณสามารถใช้เวลาทั้งวันในแบบที่คุณต้องการกับคนที่คุณรักได้บาลานซ์ชีวิตการทำงานหรือการเดินทาง  

บอกลาสภาพอากาศที่หนาวเย็น หรือความวุ่นวายทางการเมือง มาเริ่มต้นในสถานที่ซึ่งทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อาศัยอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก หรือหาเงินจำนวนมาก โดยประมวลข้อมูลจากทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต สภาพอากาศ วีซ่า ค่าอาหาร ที่พัก และค่าใช้จ่ายสาธารณสุข ดัชนีการเกษียณอายุของ International Living ออกแบบมาเพื่อเป็นการแนะนำผู้คนไปยังจุดเฉพาะที่ดีที่สุดของพวกเขา โดยกำหนดปัจจัยด้านงบประมาณเป็นสำคัญ  

สิ่งที่น่าสนใจของรายงานนี้คือ ประเทศที่ถูกระบุว่าเหมาะสมน่าอยู่อาศัยมากที่สุดในโลกหลังเกษียณคือ 'โปรตุเกส' และเมื่อย้อนกลับไปดูการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2017 เรื่อยมาจนปัจจุบัน โปรตุเกสมักอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่น่าพำนักอาศัยของคนวัยเกษียณ เช่นเดียวกับดัชนีประเทศน่าพักอาศัยสำหรับคนวัยเกษียณที่จัดโดยหน่วยงานอื่น ก็จะปรากฏชื่อของโปรตุเกสอยู่ใน 10 อันดับแรกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับดัชนีประเทศที่เหมาะสมสำหรับกลุ่ม Digital Nomad โปรตุเกสก็ติดหนึ่งในชาติเหล่านั้นเช่นกัน  

เหตุใดโปรตุเกสจึงกลายเป็นสถานที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าเหมาะสมกับคนวัยเกษียณมากที่สุดในโลก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6hHFw5Uq0IPcuO3WKSBGBy/47abdb02f0770085a91217aab5155fb1/portugal-best-place-to-retire-not-for-youth-generations-SPACEBAR-Photo01
Photo: ชาวโปรตุเกสเฉลิมฉลองวันปีใหม่ด้วยลงน้ำทะเลที่เย็นจัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 (Photo: PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP)

ม้ามืดทางเศรษฐกิจ

ย้อนไปช่วงปี 2009 โปรตุเกสเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบกับวิกฤตหนี้สาธาณะยูโรโซนอันดับต้น รองจากกรีซ กระทั่งโปรตุเกสเพิ่มมาฟื้นตัวได้ในช่วงปี 2014 แต่ก็มีสะดุดอีกครั้งช่วงปี 2020 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด  

แต่ปัจจุบัน โปรตุเกสเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับหลายชาติในสหภาพยุโรป โดยปี 2021 โปรตุเกสมีอัตราจีดีพีโตราว 4.9 ซึ่งถือว่าสูง เมื่อเทียบกับบรรดาชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอียูที่ต่างได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนกันถ้วนหน้า  

โปรตุเกสไม่ได้เป็นชาติที่มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจมากนัก อุตสาหกรรมหลักของประเทศส่วนใหญ่เป็นภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ เซรามิก วัสดุก่อสร้าง และไม้ก๊อก ด้วยความที่เศรษฐกิจไม่ซับซ้อนมากเหมือนเช่นชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงทำให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวได้ง่ายกว่าชาติอื่นในสหภาพยุโรป 

โปรตุเกสยังถือเป็นชาติหนึ่งที่มีระบบการศึกษาดีประเทศหนึ่งของโลก สังเกตได้จากดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษของ EF (EF EPI) ที่วัดระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษของกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่า โปรตุเกสติดหนึ่งใน 10 ชาติที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษในระดับสูงมาก (Very High Proficiency) ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเยอรมนี  

นับว่าคนโปรตุเกสมีระดับภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยมและโดดเด่นกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนอย่าง อิตาลี สเปน หรือ กรีซ เนื่องจากมีการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน คนในท้องถิ่นจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จึงเข้าใจภาษาเป็นอย่างดี 

ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โปรตุเกสเป็นหนึ่งในชาติที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับต่ำกว่าหลายชาติในแถบยุโรปใต้ แม้ว่าจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ไม่ต่างกับสเปนหรืออิตาลี ส่วนหนึ่งก็เพราะระบบโครงสร้างสาธารณะสุขที่แข็งแกร่งมายาวนาน อีกทั้งโปรตุเกสยังอยู่ในอันดับที่ 12 ของประเทศซึ่งระบบสาธารณสุขดีและมีราคาถูกตามการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก 

เช่นเดียวกับบรรดาประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน โปรตุเกสเป็นหนึ่งในชาติที่คนแถบยุโรปเหนือนิยมเดินทางมาตากอากาศพักร้อน ด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่นและวัฒนธรรมอาหาร จึงไม่แปลกที่โปรตุเกสจะดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและบรรดาคนต่างชาติให้ย้ายมาลงหลักปักฐานเกษียณอายุ 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอานิสงส์ผลพลอยได้ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ โปรตุเกสมีความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะบราซิล ที่เคยเป็นอดีตอาณานิคม โมซัมบิก และจีน (มาเก๊า) นั่นทำให้ประเทศสามารถเป็นสะพานเชื่อมประเทศตลาดเกิดใหม่ได้จากทั้งสามทวีป  

แม้เป็นประเทศขนาดกลางไม่เล็กไม่ใหญ่ด้วยขนาดราว 91,000 ตารางกิโลเมตร แต่โปรตุเกสก็มีหลายสิ่งสำหรับทุกคน ตั้งแต่เมืองที่มีชีวิตชีวาอย่างลิสบอนและปอร์โตที่มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่ครึกครื้น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอาหารรสเลิศ สู่สวรรค์ริมชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก คุณสามารถชีวิตได้อย่างสบายด้วยเงินประมาณ 2,500 ถึง 3,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ 

โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 6 จากดัชนี Global Peace Index ดังนั้นชาวต่างชาติจึงไม่ต้องกังวลเรื่องอาชญากรรม ผู้อยู่อาศัยในโปรตุเกสสามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการรับรองจาก Joint Commission International พร้อมเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ 

ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานก็สามารถเทียบได้กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดาด้วยน้ำสะอาดที่สามารถดื่มได้จากก๊อก ระบบไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ความเร็วสูงทำให้การทำงานจากที่บ้านหรือเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของโลกเป็นเรื่องง่าย ระบบทางหลวงของโปรตุเกสเป็นระบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป นั่นทำให้ปัจจุบันมีชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 500,000 คนจากทั่วโลกพำนักอาศัยในโปรตุเกส 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3uFYkU5A2fvrjyOHXLoVhz/86e831ecc5c58f6ef44ba4cb8c0216cb/portugal-best-place-to-retire-not-for-youth-generations-SPACEBAR-Photo02
Photo: บรรยากาศทั่วไปในกรุงลิสบอน เมื่อ 28 ตุลาคม 2022 (Photo: PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP)

คนแก่แห่อาศัย คนรุ่นใหม่แห่ย้ายออก

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแม้จะฟังดูดีในหลายๆ ประการ แต่โปรตุเกสก็มีข้อจำกัดและข้อพิจารณาเช่นกัน

ประการแรกด้วยความที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มีความซับซ้อนหรือมีขนาดใหญ่เหมือนกับชาติเพื่อนบ้าน อย่าง สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเยอรมนี นั่นทำให้สัดส่วนอัตราว่างงานในแรงงานรุ่นใหม่ หรือ youth unemployment (อายุระหว่าง 15-24 ปี) สูงถึงราว 23.4% จากการสำรวจเมื่อปี 2021 นั่นทำให้บรรดาคนรุ่นใหม่ในโปรตุเกส หางานทำในประเทศค่อนข้างยาก ประกอบกับด้วยความที่เป็นส่วนหนึงของยูโรโซน ทำให้แรงงานรุ่นใหม่เดินทางไปแสวงหาโอกาสยังประเทศอื่นแทน

นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยจากภาคอุตสาหกรรม และการขาดแรงงานรุ่นใหม่ ประกอบกับขั้นตอนอันยุ่งยากซับซ้อนของระบบราชการ ทำให้อัตราการเปิดธุรกิจใหม่ในประเทศมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับชาติเพื่อนบ้านอย่างสเปน ทำให้โอกาสการเปิดและเติบโตทางธุรกิจในโปรตุเกสไม่ค่อยราบรื่นเหมือนกับการเปิดธุรกิจในประเทศอื่น

อีกประการสำคัญคือย้อนไปเมื่อทศวรรษก่อน รัฐบาลโปรตุเกสเปิดโครงการ “โกลเด้นวีซ่า” ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้สิทธิ์ผู้พำนักผ่านการลงทุน เพื่อให้ได้พาสปอร์ตโปรตุเกสซึ่งอยู่ในกลุ่มเชงเก้น และสามารถเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ได้ถึง 187 ประเทศ เป็นหนึ่งในพาสปอร์ที่ทรงอิทธิพลอันดับ 6 ของโลก ทำให้บรรดาทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ราคาอสังหาฯค่าบ้านโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่อย่างกรุงลิสบอน หรือเมืองปอร์โต แพงขึ้นหลายเท่าตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

นับตั้งแต่โปรตุเกสเปิดโครงการโกลเด้นวีซ่า ประเทศได้ดึงดูดการลงทุนแล้วกว่า 6.6 พันล้านยูโร ที่ส่วนใหญ่มาจากจีน บราซิล และตุรกี เม็ดเงินจำนวนมากลงไปที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์พำนักและวีซ่าเชงเก้น

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายทั้งสหภาพยุโรป และหน่วยงานต่อต้านการทุจริตว่า โครงการนี้อาจถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน ตลอดจนความเสี่ยงด้านความมั่นคง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์