นับแต่วันที่ 17 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เมืองไทยจะไม่มี “ตำรวจรถไฟ” อีกต่อไป เพราะกองบังคับการตำรวจรถไฟถูกยุบทิ้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ สร้างความเสียดายให้กับหลายๆ คน และหนึ่งในนั้นเป็นคนในวงการตำรวจอย่าง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ที่ตั้งคำถามว่า
หลายประเทศให้ความสำคัญกับตำรวจรถไฟมาก แล้วประเทศไทยจะยุบทำไม
วันนี้เรามาดูตัวอย่างของตำรวจรถไฟในต่างประเทศว่าเป็นมาอย่างไรบ้าง

สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรก่อตั้งสำนักงานตำรวจขนส่งแห่งชาติ (British Transport Police) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1949 เป็นหน่วยงานตำรวจพิเศษระดับชาติ ณ เดือนตุลาคม 2021 มีกำลังพลทั้งหมด 3,113 นาย ทำหน้าที่ดูแลรักษากฎหมายภายในระบบขนส่งด้วยรางทั้งในอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนในเมืองอย่าง รถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน รถไฟใต้ดินกลาสโกว์ เป็นต้น
งบประมาณของตำรวจขนส่งแห่งชาติ 95% มาจากบริษัทผู้ประกอบกิจการรถไฟ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเหล่านี้จะชี้นิ้วสั่งตำรวจได้ และไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากกระทรวงมหาดไทย แต่อาจได้รับเป็นเงินสนับสนุนเป็นครั้งคราว เช่น ในอีเว้นต์พิเศษอย่างโอลิมปิกเกมส์เมื่อปี 2012 ที่กรุงลอนดอน
ตำรวจรถไฟของสหราชอาณาจักรมีเครื่องแบบ ยศ และอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจอื่น นอกเหนือจากอำนาจตำรวจในเขตรับผิดชอบ ซึ่งได้แก่ในเขตทางและสถานีรถไฟแล้ว ตำรวจขนส่งอังกฤษยังมีอำนาจที่จับกุมนอกพื้นที่หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อระงับเหตุร้ายด้วย และหากได้รับการร้องขอจากตำรวจท้องที่หรือตำรวจหน่วยอื่นให้ช่วยเหลือ ก็มีอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจของหน่วยที่ร้องขอให้ช่วย
สหรัฐฯ
กิจการรถไฟของสหรัฐฯ ดำเนินการโดยทั้งบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ “ตำรวจรถไฟ” ในสหรัฐฯ จะหมายถึงตำรวจประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นตำรวจที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทรถไฟทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ตำรวจแต่ละคนต้องได้รับใบอนุญาต (certified state law enforcement officers) มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งการจับกุมผู้กระทำผิดเช่นเดียวกับตำรวจอื่น โดยมีเขตรับผิดชอบ ได้แก่ ในขบวนรถ เขตทางรถไฟและสถานี และอาจมีอำนาจนอกเขตนั้นได้ตามแต่กฎหมายในแต่ละมลรัฐจะกำหนด

จีน
จีนตั้งกระทรวงรถไฟในช่วงปลายปี 1949 เพื่อดูแลการเดินรถไฟในประเทศเกือบทั้งหมด รวมทั้งดูแลตำรวจรถไฟที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยภายในศูนย์กลางรถไฟสายหลัก ในตัวสถานี และบริเวณโดยรอบ ก่อนจะยุบกระทรวงรถไฟไปเมื่อเดือนมีนาคม 2013
ตำรวจรถไฟของจีนถือเป็นกองกำลังตำรวจพลเรือนเพียงแห่งเดียวที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐบาลกลาง หน้าที่สำคัญของตำรวจรถไฟจีนคือ การดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารในช่วงตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวที่ชาวจีนเดินทางครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีหน่วย “ตำรวจรถไฟหญิง” ประจำตามสถานีต่างๆ อาทิ สถานีรถไฟฉงชิ่ง โดยเป็นหญิงสาวอายุเฉลี่ย 29 ปี คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสูงอายุ

สวิตเซอร์แลนด์
เดิมทีสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีตำรวจรถไฟแยกต่างหาก เพราะพนักงานของการรถไฟจะมีอำนาจของตำรวจอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่หลังจากสวิตเซอร์แลนด์นำรถไฟที่ไม่ต้องมีนายสถานีมาใช้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 อาชญากรรมบนรถไฟก็เพิ่มขึ้น บริษัทรถไฟ Swiss Federal Railways ได้ฝึกฝนเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ (Bahnpolizei) สำหรับรถไฟโดยสารแบบมีคนขับเท่านั้น
ปี 2002 การรถไฟแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SBB-CFF-FFS) ได้ควบรวมตำรวจรถไฟเข้ากับบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนอย่าง Securitas AG แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Securitrans ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยแยกต่างหากเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟ
นับตั้งแต่ปี 2011 ตำรวจรถไฟก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีสถานะเป็นพนักงานของรัฐ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมจากโรงเรียนตำรวจเป็นเวลา 2 ปี ตำรวจรถไฟสวิตเซอร์แลนด์มีอำนาจในการจับกุม ตรวจค้น เช่นเดียวกับตำรวจในแต่ละรัฐ และมีสิทธิ์พกปืนซิกซาวเออร์ P225 และสเปรย์พริกไทยเพื่อใช้เป็นอาวุธ รวมทั้งพกกุญแจมือได้ด้วย
การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับตำรวจรถไฟโดยเฉพาะบ่งบอกว่าประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับทั้งตำรวจรถไฟและความปลอดภัยอุ่นใจของประชาชนผู้ใช้รถไฟ ในขณะที่ตำรวจรถไฟไทยแม้จะมีผลงานจับผู้ร้ายได้หลายครั้ง แต่ในวันนี้เรากลับไม่มีเจ้าหน้าที่เหล่านี้แล้ว
Photo by ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์