ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น ความสนใจของชาวโลกตอนนี้จดจ่ออยู่ที่ระดับภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ทั้งสองประเทศกำลังเรียกเก็บจากกันและกัน แต่การเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สหรัฐฯ ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวที่ปักกิ่งมีอยู่ในมือ
การเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานแร่แรร์เอิร์ธของจีนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการทำสงครามการค้าครั้งใหม่กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และจีนเพิ่งประกาศจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธ 7 ชนิด
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนนับว่าตีตรงจุด เพราะเผยให้เห็นว่าสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาแร่เหล่านี้มากเพียงใด และยังทำให้ทรัมป์แทบไม่มีตัวเลือกในการตอบโต้
ทำไมแร่แรร์เอิร์ธถึงสำคัญขนาดนั้น? และมันจะสั่นคลอนสงครามการค้านี้อย่างไร?
แร่แรร์เอิร์ธคืออะไร
แรร์เอิร์ธคือกลุ่มของแร่ธาตุ 17 ชนิดที่มีอยู่มากมายตามธรรมชาติและพบได้ในหลายประเทศรวมทั้งในสหรัฐฯ ด้วย แต่ที่มันถูกเรียกว่า แรร์ (rare) เป็นเพราะเราไม่ค่อยพบแร่ธาตุเหล่านี้แบบบริสุทธิ์ และยังสกัดและถลุงยาก ต้องใช้ต้นทุนสูง และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
เราอาจไม่คุ้นชื่อแร่ธาตุเหล่านี้อย่าง นีโอไดเมียม (Neodymium) อิตเทรียม (Yttrium) หรือยูโรเพียม (Europium) แต่ถ้าเอ่ยว่าแร่ธาตุเหล่านี้อยู่ในสิ่งของใดบ้างรับรองคุ้นหูแน่นอน อาทิ นีโอไดเมียมถูกนำมาผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในลำโพง ฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ มอเตอร์รถยนไฟฟ้า เครื่องยนต์เครื่องบินเจ็ต ที่ทำให้สิ่งของเหล่านี้มีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนอิตเทรียมและยูโรเพียมถูกนำมาใช้ในการผลิตทีวีและหน้าจอคอมพิวเตอร์
โธมัส ครูมเมอร์ ประธาน Ginger International Trade and Investment อธิบายว่า “ทุกอย่างที่สามารถเปิดหรือปิดสวิตช์ล้วนใช้แรร์เอิร์ธทั้งนั้น”
นอกจากนี้แรร์เอิร์ธยังสำคัญกับการผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น เลเซอร์ผ่าตัด เครื่องสแกน MRI รวมทั้งเทคโนโลยีทางการทหารอย่างเครื่องบิน F-35
จีนมีแรร์เอิร์ธเท่าไร
หลายสิบปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต่างก็ต้องพึ่งพาแรร์เอิร์ธแปรรูปจากจีน จีนเกือบจะมีอำนาจผูกขาดในการสกัดและถลุงแร่แรร์เอิร์ธ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าจีนมีสัดส่วนการผลิตแรร์เอิร์ธอยู่ที่ 61% และครอบครองแร่ที่ถลุงแล้ว 92%
นั่นหมายความว่า ขณะนี้จีนมีอำนาจเหนือห่วงโซ่อุปทานแรร์เอิร์ธ และมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าบริษัทไหนจะได้หรือไม่ได้รับแรร์เอิร์ธจากจีน
แต่ความเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานแรร์เอิร์ธของจีนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากนโยบายและการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของรัฐบาลมาหลายทศวรรษ
สื่อทางการจีนระบุว่า จีนเริ่มต้นการสกัดแร่แรร์เอิร์ธตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ระหว่างการเดินทางเยือนมองโกเลียในในปี 1992 เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวไว้ว่า “ตะวันออกกลางมีน้ำมัน และจีนมีแรร์เอิร์ธ” และปี 2019 สีจิ้นผิงกล่าวขณะเยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดแสดงแร่ธาตุต่างๆ ว่า “แรร์เอิร์ธเป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ที่มีความสำคัญ”
และวันนี้จีนได้บรรลุวิสัยทัศน์ของทั้งเติ้งเสี่ยวผิงและสีจิ้นผิงด้วยการครองห่วงโซ่อุปทานแร่แรร์เอิร์ธทั้งหมดไว้ในมือ
แกวิน ฮาร์เปอร์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมเผยว่า “เริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในการทำเหมืองและถลุงแรร์เอิร์ธ โดยมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งทำให้จีนตัดคู่แข่งทั่วโลก และสร้างการผูกขาดตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า จากการทำเหมืองและการถลุงแร่ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอย่างแม่เหล็ก”
ครั้งหนึ่งบริษัทในสหรัฐฯ ก็เคยผลิตแม่เหล็กจากแรร์เอิร์ธ แต่ จอห์น ออร์เมร็อด ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านแม่เหล็กจากแรร์เอิร์ธ JOC เผยกับ CNN ว่า สุดท้ายบริษัทเหล่านี้ต้องออกจากตลาด เนื่องจากมีบริษัทจากจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามา “เราเสียโนว์ฮาว เราเสียศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ และมันเป็นการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนเยอะ”
ออร์เมร็อดบอกอีกว่า ตอนนี้แข่งขันเรื่องราคากับจีนยาก เพราะจีนมีต้นทุนถูกกว่า รวมถึงมีแรงจูงใจจากรัฐบาลที่ทำให้จีนได้เปรียบมากขึ้น
รายงานประจำปีนี้ของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (USGS) ระบุว่า ระหว่างปี 2020-2023 สหรัฐฯ พึ่งพาจีน 70% ในการนำเข้าแรร์เอิร์ธทั้งหมดและโลหะ

จีนจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธอย่างไร?
วันที่ 4 เม.ย. รัฐบาลจีนสั่งจำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ 7 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธาตุหนักที่สำคัญกับเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้าจากจีน 134% ส่งผลให้ทุกบริษัทต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเพื่อส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ 7 ชนิดนี้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แม่เหล็ก
แรร์เอิร์ธกลุ่มธาตุหนักถูกนำมาใช้ทางการทหารหลายด้าน อาทิ ขีปนาวุธ เรดาร์ และแม่เหล็กถาวร ไปจนถึงเครื่องบิน F-35 ขีปนาวุธโทมาฮอว์ก และโดรนพรีเดเตอร์
“ความเคลื่อนไหวของจีนทำให้สหรัฐฯ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีกำลังการผลิตแร่แรร์เอิร์ธชนิดหนักนอกประเทศจีน”
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (CSIS)
จัสติน วูล์ฟเฟอร์ส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยว่า “จีนกำลังแสดงให้เห็นว่าตัวเองสามารถใช้กำลังทางเศรษฐกิจอันน่าเหลือเชื่อได้ด้วยการวางกลยุทธ์…และการตัดสินใจอย่างเฉียบขาด และโจมตีอุตสาหกรรมของอเมริกาได้ตรงจุดที่เจ็บปวดที่สุด”
และดูเหมือนว่าเรื่องนี้สร้างความกังวลให้ทรัมป์อยู่แล้ว เมื่อต้นสัปดาห์ทรัมป์จึงสั่งให้ตรวจสอบความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติจากการท่าหรัฐฯ ต้องพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญ
ในคำสั่งทรัมป์ระบุว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าการพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญจากต่างประเทศและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแร่ธาตุเหล่านี้มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ แร่ธาตุที่สำคัญ รวมถึงแรร์เอิร์ธ เป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ”
สหรัฐฯ ผลิตแรร์เอิร์ธเองไม่ได้?
สหรัฐฯ มีเหมืองแร่แรร์เอิร์ธที่ดำเนินการอยู่หนึ่งแห่ง แต่ไม่มีศักยภาพในการแยกแร่แรร์เอิร์ธชนิดหนัก และจำเป็นต้องส่งแร่ไปที่จีนเพื่อถลุง และอยากที่บอกไปตอนต้นว่าสหรัฐฯ เคยมีบริษัทที่ผลิตแม่เหล็กจากแรร์เอิร์ธแต่ก็ต้องปิดตัวลงเพราะสู้จนไม่ไหว
และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทรัมป์จึงอยากลงนามข้อตกลงแรร์เอิร์ธกับยูเครน อีกที่หนึ่งที่ทรัมป์หมายตาไว้คือ กรีนแลนด์ ซึ่งมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธสำรองมากเป็นอันดับ 8 ของโลก
ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนใช้แรร์เอิร์ธเป็นไม้เด็ด
ปี 2010 จีนหยุดส่งแรร์เอิร์ธไปญี่ปุ่นเกือบ 2 เดือนหลังมีกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน และปลายปี 2023 จีนสั่งแบนการสกัดแร่แรร์เอิร์ธและเทคโนโลยีการแยกแร่ นอกจากนี้ยังควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญและคนวงในในอุตสาหกรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การควบคุมของจีนส่งผลให้ทั้งโลกมีทางเลือกที่จำกัด